ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รอยร้าว อินเดีย-ปากีสถาน แคชเมียร์จุดวาบไฟเอเชียใต้


รอบโลก

10 พ.ค. 68

InfoFriend

Logo Thai PBS
แชร์

รอยร้าว อินเดีย-ปากีสถาน แคชเมียร์จุดวาบไฟเอเชียใต้

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2657

รอยร้าว อินเดีย-ปากีสถาน แคชเมียร์จุดวาบไฟเอเชียใต้
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

อินเดีย และปากีสถาน 2 ประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดในเอเชียใต้ที่มีแนวรั้วชายแดนเดียวกัน แต่กลับมีรอยร้าวแห่งความสัมพันธ์ทวิภาคีตั้งแต่ก่อนที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรพร้อมกันเมื่อปี 2490 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ทำลายล้างสูงไว้ในครอบครองในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน คือราว 170 vs 170

ภูมิภาคแคชเมียร์ ดินแดนแถบเทือกเขาหิมาลัยที่ธรรมชาติรังสรรค์ความงดงามของทะเลสาบ ทุ่งดอกไม้ และเทือกเขาสูงตระหง่านที่มีหิมะปกคลุมชวนมอง ชวนเล่นสกีน้ำแข็งในฤดูหนาวเป็นของขวัญ อีกทั้งเป็นถิ่นที่อยู่ของ 2 กลุ่มชาติพันธุ์หลักต่างศาสนา ได้แก่ ชนชาวฮินดู และชนชาวมุสลิม คือ ต้นเหตุแห่งรอยร้าวทวิภาคีมาเนิ่นนาน

แม่น้ำนีลัมไหลผ่านเมืองมูซัฟฟาราบาด เมืองหลวงของแคชเมียร์ฝั่งภายใต้การปกครองของปากีสถาน เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2568
ภูเขาปกคลุมไปด้วยหิมะ ที่ทะเลสาบดาลในเมืองศรีนคร เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2564

อันที่จริง ภายใต้กฎหมายมอบเอกราชแก่อินเดียของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีแผนการแบ่งสรรอธิปไตยแห่งดินแดนเป็น 2 ประเทศเอกราชใหม่ระหว่างอินเดียกับปากีสถานรวมอยู่ด้วย กำหนดให้ชนชาวมุสลิมที่ตั้งรกรากในแคชเมียร์มากกว่าชนชาวฮินดูในสัดส่วนราว 60:40 เลือกที่จะอยู่ภายใต้อินเดีย หรือปากีสถานได้อย่างอิสระ

ผู้คนเดินไปตามถนน ในเมืองศรีนครเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2022

แต่พระมหาราชาฮารี ซิงห์  (Hari Singh) เจ้าผู้ครองแคว้นแคชเมียร์ในยุคนั้น ทรงตัดสินพระทัยให้แคว้นแคชเมียร์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียเมื่อเดือน ต.ค. 2490 ราว 2 เดือนหลังจากอินเดีย และปากีสถานได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรเพื่อแลกกับการคุ้มครองจากอินเดียจากการถูกกลุ่มนักรบชนเผ่าจากปากีสถานรุกราน

พระมหาราชาฮารี ซิงห์ Credit: wikipedia

ข้อมุลที่เผยแพร่โดยบรรษัทกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งสหราชอาณาจักร หรือ BBC วันที่ 7 พ.ค. ระบุว่า แต่เดิม พระมหาราชาฮารี ซิงห์ มีพระประสงค์จะให้แคชเมียร์มีอธิปไตยแห่งดินแดนในฐานะแคว้นเอกราช การตัดสินพระทัยให้แคชเมียร์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย จึงจุดชนวนการแย่งชิงจากฝ่ายปากีสถานอย่างชัดเจนขึ้น

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2490 พระมหาราชาฮารี ซิงห์ เจ้าผู้ครองแคว้นแคชเมียร์ ได้ลงพระนาม ซึ่งรัฐได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียอย่างเป็นทางการ

เหตุผลหนึ่งเนื่องจาก ผู้ตั้งรกรากในแคชเมียร์ส่วนใหญ่เป็นชนชาวมุสลิมเช่นเดียวกับประชากรส่วนใหญ่ในปากีสถาน ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ในอินเดียเป็นชนชาวฮินดู และมีผู้คนในแคชเมียร์เป็นจำนวนมากประสงค์จะเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถานมากกว่า

วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2490 ผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมเบียดเสียดกันขึ้นรถไฟที่มุ่งหน้าสู่ปากีสถาน ขณะออกจากพื้นที่นิวเดลี ประเทศอินเดีย

ศึกครั้งแรกระหว่างอินเดียกับปากีสถานจึงเริ่มขึ้นในช่วงนั้น และแผนจัดการลงประชามติในเวลาต่อจากนั้นไม่นานเพื่อชี้ว่า ชาวแคชเมียร์ประสงค์จะอยู่ภายใต้การปกครองของอินเดีย หรือปากีสถานตามข้อเสนอขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN (United Nations) ล้มเหลว  เนื่องจากอินเดีย และปากีสถานไม่อาจบรรลุข้อตกลงว่าด้วยเขตปลอดทหารก่อนการลงประชามติ

อย่างไรก็ดี อินเดีย และปากีสถานต่างตกลงร่วมลงนามในข้อตกลงกำหนดเขตหยุดยิงตามการไกล่เกลี่ยของ UN ได้ในที่สุดเมื่อเดือน ก.ค. 2492 ส่งผลให้ภูมิภาคแคชเมียร์ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนหนึ่งอยู่ในการปกครองของอินเดีย และอีกส่วนหนึ่งอยู่ในการปกครองของปากีสถาน
 

UNCIP ประชุมกับเจ้าหน้าที่อินเดียในนิวเดลีเกี่ยวกับข้อเสนอหยุดยิงเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2491

แต่กระนั้น ศึกอินเดีย-ปากีสถานครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ก็ปะทุขึ้นเมื่อปี 2508 และ 2542 โดยครั้งที่ 3 เป็นการสู้รบช่วงสั้น ๆ ระหว่างอินเดียกับกองกำลังติดอาวุธที่มีทางการปากีสถานหนุนหลัง นอกจากนี้ ทั้ง 2 ประเทศยังต่างพัฒนา และต่างประกาศมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองในช่วงเวลาใกล้เคียงกับศึกครั้งที่ 3 ด้วย

ปืนใหญ่ของกองทัพอินเดียยิงถล่มตำแหน่งของกองกำลังอิสลามในเขตดราสของแคชเมียร์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2542

นอกจากศึก 3 ครั้งดังกล่าวแล้ว ข้อมูลเพิ่มเติมจาก BBC และเว็บไซต์ Vox ของสหรัฐฯ ลงวันที่ 1 พ.ค. 2568 ระบุว่า อินเดียยังเผชิญกับการโจมตีเนือง ๆ จากกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธที่ต่อต้านอินเดีย และสนับสนุนปากีสถานในดินแดนแคชเมียร์ส่วนที่อยู่ในการปกครองของอินเดียด้วยตั้งแต่แต่ปี 2532 แต่ทางการปากีสถานปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่มีส่วนรู้เห็น

อินเดียประกาศยกเลิกสถานะกึ่งปกครองตนเองของดินแดนแคชเมียร์ส่วนของอินเดีย และให้เข้าอยู่ในการปกครองของรัฐบาลอินเดียอย่างเต็มรูปแบบเมื่อปี 2562 ภายหลังทหารอินเดียถูกสังหาร 19 คนเมื่อปี 2559 และตำรวจอินเดียสังเวยชีวิตจากระเบิดฆ่าตัวตายอีกกว่า 40 คนเมื่อปี 2562 จากฝีมือลุ่มต่อต้านอินเดียติดอาวุธ
 

เจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงของอินเดีย ในเขตปุลวามา แคชเมียร์ใต้ ห่าง จากจุดเกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตาย ราว 10 กม. เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ล่าสุด ความขัดแย้ง และความตึงเครียดขมึงเกลียวรุนแรงระหว่างอินเดียกับปากีสถานเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2568 หลังจากเกิดเหตุกลุ่มมือปืนโจมตีเมืองปาฮาลกัม (Pahalgam) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการขนานนามว่า “สวิตเซอร์แลนด์แห่งอินเดีย” ในดินแดนแคชเมียร์ของอินเดีย คร่าชีวิตชาวอินเดีย 26 คน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวฮินดู

เจ้าหน้าที่ของอินเดียกำลังลาดตระเวนในปาฮาลกัม ทางใต้ของศรีนครเมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2568 หลังจากเกิดการโจมตี เมื่อวันที่ 22 เมษายน

แนวร่วมต่อต้าน หรือ TRF (The Resistance Front) ซึ่งมีรายงานคาดการณ์ว่า เป็นสาขาหนึ่งของกลุ่มติดอาวุธลัชกาเรตัยบา (Lashkar-e-Taiba) ในปากีสถานได้ออกแถลงการณ์อ้างความรับผิดชอบต่อเหตุโจมตีดังกล่าว แต่ทางการปากีสถานปฏิเสธข้อกล่าวหาของอินเดียว่า อยู่เบื้องหลัง

อินเดียประกาศจะไล่ล่าจนกว่าจะควบคุมตัวกลุ่มมือปืนได้ในที่สุด พร้อมทั้งระงับความร่วมมือด้านชลประทาน และการแบ่งปันน้ำระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ภายใต้สนธิสัญญา Indus Waters Treaty อีกทั้งปิดพรมแดนหลักที่เชื่อมการติดต่อภาคพื้นดินกับปากีสถาน
 

ผู้คนล่องเรือในแม่น้ำสินธุ ในจังหวัดสินธ์ ทางตอนใต้ของอินเดียเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.  2568

ฝ่ายปากีสถานตอบโต้ด้วยการระงับโครงการความร่วมมือด้านชลประทานกับอินเดียเช่นกัน ประกาศปิดพรมแดนวากาห์ (Wagah) ด้านที่ติดกับอินเดียภายใน 30 เม.ย. 2568 สั่งขับพลเรือนอินเดียทั้งหมดออกนอกประเทศภายใน 48 ชั่วโมง และระงับวีซ่าของชาวอินเดียภายใต้โครงการความร่วมมือของสมาคมกลุ่มชาติเอเชียใต้ หรือ SAARC

พรมแดนวากาห์ ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนร่วมบนชายแดนปากีสถานและอินเดีย ใกล้เมืองลาฮอร์ ปากีสถาน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

เมื่อรอยร้าวเริ่มแรกกลายสภาพเป็นความแตกหัก อินเดียเปิดฉากโจมตีทางอากาศด้วยขีปนาวุธต่อเป้าหมายในปากีสถาน ลึกเข้าไปในดินแดนปากีสถานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของทั้ง 2 ประเทศ ภายใต้ชื่อ “ปฏิบัติการซินดอร์” (Operation Sindoor) เมื่อคืนวันอังคาร (6 พ.ค.) คร่าชีวิตผู้คนแล้วอย่างน้อย 8 คน

เมื่อวันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 วิกรม มิศรี รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย (ขวาล่าง) แถลงข่าวหลังจากที่อินเดียเปิดปฏิบัติการซินดอร์

ทางการปากีสถานประกาศปิดน่านฟ้าเป็นการชั่วคราวเหนือเมืองลาฮอร์ในแคว้นปัญจาบ และเมืองการาจีในแคว้นสินธ์ทางตอนเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ และประกาศจะตอบโต้การโจมตีของอินเดียอย่างสาสม ก่อนหน้านี้ทหารฝ่ายอินเดีย และปากีสถานได้ปะทะกันตามแนวชายแดนเป็นระยะ ๆ

นักวิเคราะห์เตือนว่า ความร้าวฉานของอินเดีย-ปากีสถานล่าสุดนี้สุ่มเสี่ยงมากที่จะลุกลามบานปลายกลายเป็นไฟสงครามเต็มรูปแบบในเอเชียใต้จากการตอบโต้ไปมา ซึ่งต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ นักวิเคราะห์เตือนด้วยว่า ถ้าศึกอินเดีย-ปากีสถาน บานปลายจะสร้างความทุกข์ยากลำบากแก่ผู้คนทั้ง 2 ประเทศอย่างมหันต์
 

อาคารเสียหายจากการโจมตี ใกล้กับเมืองมูซัฟฟาราบาด เมืองหลวงของแคว้นแคชเมียร์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของปากีสถาน เมื่อวันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

อีกทั้งผู้คนในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย และประชาคมโลกด้วย ถึงแม้ทั้ง 2 ประเทศจะไม่ได้นำอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอยู่ในครอบครองออกใช้ก็ตาม แต่ถ้ามีการห้ำหั่นกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์ถึงแม้จะอยู่ในวงจำกัด นักวิเคราะห์ชี้ว่า จะคร่าชีวิตผู้คนหลายหมื่นคน

อินเดียเคยประกาศจุดยืนไม่เป็นฝ่ายใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน ส่วนปากีสถานไม่เคยให้คำมั่นใด ๆ แต่ประกาศล่าสุดในสัปดาห์นี้ว่า ปากีสถานจะพิจารณานำอาวุธนิวเคลียร์ออกใช้ ถ้ามีภัยคุกคามโดยตรงต่อการธำรงอยู่ของปากีสถานทางด้าน รมว.การต่างประเทศสหรัฐฯ มาร์โค รูบิโอแถลงว่า เขามีแผนการจะพูดคุยกับผู้นำฝ่ายอินเดีย และปากีสถาน

ประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย และประชาคมโลกต่างรอลุ้นว่า สหรัฐฯ จะจริงจังในการไกล่เกลี่ยให้ไฟสงครามครั้งล่าสุดในเอเชียใต้สงบลงได้หรือไม่ ท่ามกลางการเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบเพิ่ม นอกเหนือจากศึกรัสเซีย-ยูเครน ศึกอิสราเอล-กลุ่มฮามาส อีกทั้งศึกการค้าสหรัฐฯ-จีน และพันธมิตรของแต่ละฝ่ายที่ส่อเค้ากรุ่น ๆ ในขณะนี้

ติดตามชมรายการทันโลก กับ Thai PBS วันจันทร์ - พฤหัสบดี เวลา 21.00 – 21.30 น. ทางช่อง Thai PBS หมายเลข 3 หรือรับชมออนไลน์ผ่านทาง www.thaipbs.or.th/Live และชมย้อนหลังได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/program/Tanloke
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

อินเดียปากีสถานแคชเมียร์สงครามอาวุธนิวเคลียร์
ผู้เขียน: InfoFriend

ยินดีนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลทึ่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด