ผู้คนรู้จัก “หญ้า” และผูกพันกับพืชชนิดนี้มายาวนาน จนคำว่า “หญ้า” กลายเป็นคำที่อยู่ในหลาย ๆ บริบทในวิถีชีวิตของคน ชวนรู้จัก “หญ้า” ในมุมอันเป็นประโยชน์ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจ ที่แท้แล้ว…มนุษย์กินหญ้าได้หรือไม่ ?
รู้จัก “หญ้า” ให้มากขึ้น
หญ้า เป็นพืชคลุมดิน เป็นวงศ์ของพืชดอกใบเลี้ยงเดี่ยว โดยมีจำนวนกว่า 780 สกุล และ 12,000 สปิชีส์ หญ้าเป็นวงศ์พืชที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 รองจาก วงศ์ทานตะวัน, วงศ์กล้วยไม้, วงศ์ถั่ว และวงศ์เข็ม
หญ้าเป็นวัชพืชแบบยืนต้น หรือวัชพืชข้ามปี เป็นวัชพืชที่มีอายุที่อยู่ได้หลายปี ขยายพันธุ์ได้หลากหลายส่วน อาทิ เมล็ด หัว ลำต้นใต้ดิน ราก เหง้า และไหล
นอกจากหญ้าจะเป็นพืชที่อยู่คู่โลกมนุษย์มายาวนาน หญ้ายังมีบทบาทต่อมนุษย์ที่หลากหลาย บางส่วนเป็นธัญพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ อาทิ ข้าวโพด, ข้าวสาลี, ข้าว, ข้าวบาร์เลย์ และข้าวฟ่าง ขณะเดียวกัน หญ้าบางชนิดก็ถูกจัดให้เป็นวัชพืช เช่น หญ้าที่เกิดตามธรรมชาติ ตามท้องไร่ท้องนา รวมไปถึงหญ้าบางส่วนยังใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง อาทิ ไม้ไผ่ หรือฟาง และหญ้าบางส่วน ยังเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น การแปลงข้าวโพดเป็นเอทานอล เป็นต้น
“หญ้า” แบบไหนที่นิยมใช้ ?
หญ้ามีหลากหลายสายพันธุ์ ในมุมที่ใช้ในลักษณะเป็นสนามหญ้า หรือลานกิจกรรม สำปรับประเทศไทย มีหญ้าที่นิยมใช้คือ
1.หญ้ามาเลเซีย (Tropical Carpet Grass) เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่มีผู้นิยมนำมาปูบนสนาม หรือปูบนทางเดิน ลักษณะมีใบใหญ่กว่าใบชนิดอื่น ๆ เป็นพืชที่ดูแลรักษาง่าย และมีราคาถูก
2.หญ้าญี่ปุ่น (Japanese Lawn grass) หรือบางแห่งเรียกว่า “หญ้าแมนจูเรีย” มีถิ่นกำเนิดจากตอนเหนือประเทศจีน และคาบสมุทรเกาหลี ลักษณะเป็นใบเล็กละเอียด ปลายใบแข็ง เติบโตได้ดีในเขตร้อน ทนทานต่อสภาพอากาศ และการเหยียบย่ำ จึงเป็นหญ้าอีกชนิดที่รับได้ความนิยม นำมาใช้ในหลายกิจกรรม
3.หญ้านวลน้อย (Manila Grass) เป็นหญ้าพันธุ์พื้นเมืองของประเทศไทยที่นิยมปลูกมากชนิดหนึ่ง เติบโตได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ทนต่อสภาพอากาศร้อน ลำต้นไม่สูง ตัดตกแต่งง่าย ใบยืดหยุ่นได้ดี ไม่ระคายผิว นิยมนำมาปูพื้นเป็นสนามกีฬา หรือลานกิจกรรม
“หญ้า” แบบไหนที่สัตว์กิน ?
มีสัตว์หลากหลายชนิด ใช้ “หญ้า” เป็นอาหารหลัก ทั้งสัตว์ใหญ่ อาทิ ช้าง ม้า วัว ควาย แพะ แกะ รวมทั้งสัตว์ขนาดเล็ก เช่น กระต่าย หรือหนูบางชนิด ทั้งนี้มีหญ้าที่นิยมปลูกเพื่อเป็นอาหารสัตว์ เช่น
- หญ้ากินนี เป็นหญ้าอายุยืน ลักษณะลำต้นตั้งเป็นกอสูง 1.5 - 2.5 เมตร นิยมปลูกเป็นทุ่งหญ้า ไว้สำหรับตัดให้สัตว์กิน หรือปล่อยสัตว์ลงไปแทะเล็ม
- หญ้าเนเปียร์ มีทรงต้นเป็นกอค่อนข้างตั้งตรง คล้ายต้นอ้อย จัดเป็นหญ้าที่มีคุณค่าทางอาหารสัตว์อยู่ในเกณฑ์ดี และสามารถปลูกร่วมกับพืชตระกูลถั่วได้หลายชนิด เช่น ถั่วไมยรา ถั่วแกรมสไตโล และถั่วเซนโตรหรือถั่วลาย
- หญ้ารูซี่ มีถิ่นกำนิดในอัฟริกา นำเข้ามาในประเทศไทยเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2511 โดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย เป็นหญ้าที่มีอายุหลายปี เจริญเติบโตเร็ว มีใบที่อ่อนนุ่ม ทำให้สัตว์ชอบกิน
- หญ้ามอริชัส หรือเรียกว่า หญ้าขน เป็นหญ้าที่มีอายุหลายปี ลักษณะลำต้นเป็นแบบกึ่งเลื้อย ต้นสูงประมาณ 1 เมตร สามารถเจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตสูง ในที่ที่มีปริมารน้ำฝนตลอดปี
- หญ้าซิกแนลเลื้อย เป็นหญ้าอายุหลายปี ลักษณะลำต้นเลื้อยและสานกันหนาแน่น สามารถตั้งตัวได้เร็ว และเจริญเติบโตได้ดีในที่มีปริมาณน้ำฝนตลอดปี
นอกจากหญ้าดังกล่าว ยังมีหญ้าอีกหลายสายพันธุ์ อาทิ หญ้าโคไร, หญ้าอะตราตัม, หญ้าพลิแคทูลัม ที่นิยมปลูกเพื่อเป็นอาหารแก่สัตว์
“หญ้า” คนกินได้ไหม ?
“หญ้า” เป็นพืชที่สัตว์หลายชนิดใช้กินเพื่อดำรงชีวิต ทว่ามักมีประโยคเปรียบเปรยเรื่อง “คนกินหญ้า” ซึ่งในความเป็นจริง “คนกินหญ้าได้” เนื่องจากหญ้าไม่ได้มีพิษ มนุษย์ใช้กินได้เช่นเดียวกับอาหารทั่วไป แต่หากถามว่า หญ้า มีความเหมาะสมแค่ไหน หากมนุษย์จะใช้กิน ?
โดยลักษณะจำเพาะของหญ้า หญ้ามีส่วนประกอบที่มีความเข้มข้นสูง อาทิ ลิกนิน (Lignin) และเซลลูโลส (Cellulose) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของพอลิเมอร์ธรรมชาติ ซึ่งเมื่อมนุษย์กินหญ้าเข้าไป ปริมาณจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในกระเพาะอาหาร ไม่เพียงพอต่อการย่อยสลายสารเหล่านี้ ในทางกลับกัน ในกระเพาะของสัตว์บางชนิด มีจำนวนกระเพาะถึง 4 กระเพาะ ซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกัน ทำให้การย่อยสลายอาหารมีความละเอียดมากกว่า
อีกหนึ่งปัจจัย เนื่องด้วยหญ้ามีส่วนประกอบของซิลิกา (Silica) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในหินกรวดและทราย ดังนั้น หากมนุษย์ต้องกินและใช้ฟันบดเคี้ยวหญ้า จะทำให้เคลือบฟันของมนุษย์ถูกกัดกร่อน และเสียหายได้ ในทางกลับกัน สัตว์เคี้ยวเอื้อง อาทิ วัว ควาย มีลักษณะของฟันและการเคี้ยวที่แตกต่าง และมีความแข็งแรงของฟันที่มากกว่า
จึงอาจกล่าวได้ว่า มนุษย์กินหญ้าได้ ทว่า เราจะไม่ได้ประโยชน์จากหญ้ามากไปกว่าการย่อยเป็น “กากใย” รวมทั้งหญ้าไม่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์สำหรับมนุษย์นั่นเอง
ส่วนกรณีการกิน “หญ้าหวาน” ซึ่งถือเป็นพืชชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Stevia rebaudiana” ลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย คล้ายต้นโหระพา มีดอกเป็นช่อสีขาว ความสูงประมาณ 30-90 เซนติเมตร ทั้งนี้ หญ้าหวาน มีคุณสมบัติให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลหลายเท่า ปัจจุบันมีการใช้หญ้าหวานเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพ นำมาสกัดเพื่อใช้ผสมในเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ และอาหารชนิดต่าง ๆ ได้
ไม่ว่า “หญ้า” จะถูกนำไปใช้ในบริบทเช่นไร ถึงที่สุดแลว หญ้า คือ พืชที่อยู่คู่กับโลกนี้มายาวนาน หญ้าจะให้คุณ หรือโทษ อยู่ที่ผู้หยิบจับ ว่าจะนำหญ้ามาใช้ประโยชน์อย่างไร
แหล่งข้อมูล