ภาวะ “น้ำท่วม” เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่ส่งผลกระทบรอบด้านอย่างกว้างขวาง ในมิติการเมืองส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและหน่วยงานที่กำกับดูแล
อีกทั้งมิติเศรษฐกิจส่งผลต่อระบบสาธารณูปโภคให้ได้รับความเสียหาย ตั้งแต่ถนนหนทางชำรุดเสียหาย ระบบไฟฟ้าและน้ำประปาไม่สามารถใช้งานได้ พื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย ส่วนมิติสังคมส่งผลกระทบให้การดำเนินชีวิตของประชาชนต้องหยุดชะงัก หากเกิดขึ้นบ่อยครั้งก็ทำให้คนไม่อยากมาอยู่อาศัยและท่องเที่ยว และที่สำคัญคือ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

น้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง?
ขยายความผลกระทบน้ำท่วมกับเรื่องสุขภาพ จัดเป็นเรื่องน่าห่วงและใกล้ตัวที่สุด เพราะหลายคนอาจไม่รู้ว่ามวลน้ำที่อยู่ข้างหน้า อาจเต็มไปด้วยภัยอันตรายที่มองไม่เห็น ได้แก่
- การเสียชีวิตและการบาดเจ็บ: จากการจมน้ำ ไฟฟ้าดูด หรืออุบัติเหตุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม โดยข้อมูลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย พบว่าในรอบ 20 ปี (พ.ศ.2547-2566) มีผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยรวม 2,663 คน บาดเจ็บ 3,297 คน เศรษฐกิจเสียหายเกือบ 7.65 หมื่นล้านบาท
- โรคติดต่อทางน้ำและอาหาร เช่น โรคอุจจาระร่วง อหิวาตกโรค ไข้ไทฟอยด์ โรคฉี่หนู (เลปโตสไปโรซิส) จากการสัมผัสหรือบริโภคน้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค
- โรคที่มียุงเป็นพาหะ เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย (หากมีน้ำขังเป็นเวลานาน)
- โรคผิวหนังและตาแดง จากการสัมผัสน้ำสกปรก
- ปัญหาระบบทางเดินหายใจ จากเชื้อราและความชื้นในอาคารหลังน้ำลด
- การสัมผัสสารเคมีอันตราย สารเคมีจากโรงงานหรือแหล่งเก็บอาจรั่วไหลปนเปื้อนในน้ำ
ความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้าจากการสูญเสียทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย คนใกล้ชิด หรือการเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ยังทำให้หลายคนเผชิญปัญหาสุขภาพจิต
ปัญหาน้ำท่วม จึงไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ฉะนั้นต้องรู้

วิธีเตรียมตัวและจัดการ “ก่อน ระหว่าง หลังน้ำท่วม”?
ก่อนน้ำท่วม ต้องทำอะไรบ้าง
- ติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา อย่างใกล้ชิด
- ในกรณีอยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมหนักและเป็นเวลานาน ให้เตรียมชุดยังชีพฉุกเฉิน ประกอบด้วยอาหารแห้ง น้ำดื่ม ยารักษาโรค ไฟฉาย แบตเตอรี่สำรอง อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น เอกสารสำคัญ (ใส่ถุงกันน้ำ)
- ศึกษาเส้นทางอพยพที่ปลอดภัยในชุมชน และสถานที่พักพิงชั่วคราว
- ยกของขึ้นที่สูง โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าและทรัพย์สินมีค่า
- ตรวจสอบระบบไฟฟ้าและแก๊ส รู้วิธีตัดการเชื่อมต่อหากจำเป็น
- ประกันภัย พิจารณาทำประกันภัยทรัพย์สินที่ครอบคลุมความเสียหายจากน้ำท่วม
- สร้างเครือข่ายในชุมชน เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ระหว่างน้ำท่วม ต้องทำอะไรบ้าง
- อพยพทันทีหากมีคำสั่ง หรือเมื่อเห็นว่าสถานการณ์ไม่ปลอดภัย ไปยังพื้นที่สูงหรือศูนย์พักพิง
- หลีกเลี่ยงการเดินหรือขับรถผ่านกระแสน้ำหลาก แม้น้ำตื้นเพียง 6 นิ้วก็อาจทำให้เสียหลักล้มได้ และน้ำลึก 1-2 ฟุตสามารถพัดรถยนต์ได้
- ระวังสัตว์อันตราย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง อาจหนีน้ำขึ้นมาในบ้านหรือบริเวณที่แห้ง
- ระวังไฟฟ้าดูด หากน้ำท่วมบ้าน ให้ตัดสะพานไฟ (คัตเอาท์) ก่อน อย่าสัมผัสปลั๊กหรือสวิตช์ไฟขณะตัวเปียกหรือยืนในน้ำ
- ดื่มน้ำและรับประทานอาหารที่สะอาด: ต้มน้ำให้เดือดก่อนดื่ม หรือดื่มน้ำบรรจุขวด อาหารที่ถูกน้ำท่วมไม่ควรนำมารับประทาน
- รักษาสุขอนามัย ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ เพื่อป้องกันโรคติดต่อ
- อย่าลงเล่นน้ำท่วม เพราะอาจมีเชื้อโรคและสิ่งอันตราย
- ติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่

หลังน้ำท่วม ต้องทำอะไรบ้าง
- ตรวจสอบความปลอดภัยของบ้านก่อนกลับเข้าไป เช่น ระวังโครงสร้างเสียหาย ไฟฟ้ายังไม่ได้ตัด หรือแก๊สรั่ว
- ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบ้านเรือน สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน (ถุงมือยาง รองเท้าบูท หน้ากาก) ขณะทำความสะอาด
- ระวังโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคฉี่หนู หากมีบาดแผลไม่ควรย่ำน้ำ
- ตรวจสอบอาหารและน้ำดื่ม ทิ้งอาหารที่สัมผัสน้ำท่วม แหล่งน้ำอาจยังไม่ปลอดภัย
- ถ่ายรูปความเสียหาย เพื่อเป็นหลักฐานในการขอรับความช่วยเหลือหรือเคลมประกัน
- พูดคุยกับคนในครอบครัวหรือเพื่อน หากมีความเครียด วิตกกังวล หรือนอนไม่หลับเป็นเวลานาน ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
- ร่วมมือกับชุมชนในการฟื้นฟู
7 ช่องทางติดตามข่าวน้ำท่วม
ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำท่วมได้จากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมี 7 ช่องทาง ดังนี้
1. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย
มีการรวบรวมสถิติพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมเป็นประจำ ทั้งจากรายงานของจังหวัดและจากการประเมินสถานการณ์ มักจะมีการประกาศพื้นที่เสี่ยงภัยและจุดที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงฤดูฝน หรือเมื่อมีพายุเข้า
เว็บไซต์: www.disaster.go.th
2. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
จัดทำแผนที่แสดงพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก และวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ มักจะมีการแถลงข่าวและให้ข้อมูลภาพรวมของสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยง
เว็บไซต์: www.onwr.go.th

3. กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
รายงานสถานการณ์น้ำและพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งหรือการระบายน้ำ
เว็บไซต์: www.rid.go.th
4. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA)
ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการติดตามสถานการณ์น้ำท่วม และจัดทำแผนที่พื้นที่น้ำท่วม (Flood Extent Mapping) ทั้งแบบใกล้ปัจจุบันและข้อมูลย้อนหลัง ข้อมูลจาก GISTDA มักจะแสดงให้เห็นภาพรวมของพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมในวงกว้าง
เว็บไซต์: https://disaster.gistda.or.th
5. กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ดูแลแหล่งน้ำธรรมชาติและมีข้อมูลเกี่ยวกับลุ่มน้ำต่าง ๆ ซึ่งอาจมีรายงานการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในระดับลุ่มน้ำ
เว็บไซต์: www.dwr.go.th
6. กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักการระบายน้ำ
สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ สำนักการระบายน้ำจะมีข้อมูลจุดเสี่ยงน้ำท่วมขังรอการระบาย (จุดอ่อนน้ำท่วม) และรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในเขต กทม. อย่างละเอียด
เว็บไซต์: https://dds.bangkok.go.th
7. คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.)
รายงานแผนที่ฝนทุกพื้นที่ทั่วไทย 24 ชั่วโมง เส้นทางพายุ ภาพรวมอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในประเทศไทย วิกฤตน้ำมาก-น้อย
เว็บไซต์: www.thaiwater.net
เมื่อรู้วิธี ทราบข่าวสาร ที่สำคัญคือมีสติ จะช่วยให้เราพ้นภัยต่าง ๆ

ข้อมูล : World Health Organization (WHO) Floods: health and safety
📖 อ่านเพิ่มเติม :