เป็นกระแสข่าวที่สังคมต่างจับตา กรณีอดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง มีพฤติกรรมยักยอกเงินวัด มูลค่าหลายร้อยล้านบาท ทว่าที่ผ่านมา เคยมีข่าวคราวปัญหา “พระกับเงิน” เกิดขึ้นอยู่หลายครั้งหลายหน Thai PBS ชวนย้อนดูเรื่องราวปัญหา “พระกับเงิน” คดีไหนที่สะเทือนวงการสงฆ์ไทยมาแล้วบ้าง ?
“พระอิสระมุนี” เกจิดังที่หมองมัวเพราะ “เงินและสีกา”
เอ่ยชื่อ “พระอิสระมุนี” เป็นเกจิสายวิปัสสนา ที่นักการเมืองไทยหลายคน ให้ความเคารพเลื่อมใส ย้อนกลับไปในอดีต พระอิสระมุนี เป็นอดีตพระเลขาของ หลวงปู่ชา สุภัทโท แห่งวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี ทว่าเกิดมีความขัดแย้งกับลูกศิษย์ของหลวงปู่ชา โดยถูกกล่าวหาว่า โกงเงินของวัด จนถูกจับสึก ก่อนที่เจ้าตัวจะเดินทางมาปักกลด และตั้งสำนักสงฆ์บริเวณป่าละอู อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีในเวลาต่อมา กระทั่งพัฒนากลายเป็น “วัดธรรมวิหารี” ในที่สุด
พระอิสระมุนีเป็นพระนักเทศน์ที่มีความสามารถ สั่งสอนธรรมะอย่างเป็นรูปธรรม จนเป็นที่เลื่อมใสแก่ประชาชน รวมไปถึงนักการเมืองคนดังหลายคน ทว่าในปี 2544 พระอิสระมุนีกลับตกเป็นข่าวว่า มีเพศสัมพันธ์กับสีกาคนสนิท โดยพบหลักฐานเป็นจดหมายเขียนถึงสีกายาวถึง 10 หน้ากระดาษ พร้อมกับเทปการสนทนาทางโทรศัพท์ จากนั้นไม่นานนัก พระอิสระมุนีจึงได้ลาสิกขาจากสมณเพศ ปิดตำนานพระนักเทศน์ชื่อดังในเวลานั้นไปในที่สุด
“หลวงปู่เณรคำ” วีรกรรมรับบริจาคเงิน นั่งเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว
ราวปี 2556 มีคดีที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ โด่งดังเป็นที่โจษจันกันในสังคม เป็นกรณีของ “พระวิรพล ฉัตติโก” หรือที่ผู้คนรู้จักในนาม “หลวงปู่เณรคำ ฉัตติโก” พระนักเทศน์ที่สร้างสำนักสงฆ์ชื่อ สำนักสงฆ์ขันติธรรม
ทว่าสำนักสงฆ์แห่งนี้ กลับมีกรณีการถูกตรวจสอบ เรื่องการไม่มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นวัดแต่อย่างใด มากไปกว่านั้น เณรคำยังเปิดให้มี “การรับบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน” อาทิ การขอรับบริจาคเงินเพื่อก่อสร้างพระแก้วมรกต (จำลอง) หรือการขอรับบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนการก่อสร้าง โรงพยาบาลร้อยเอ็ด ทั้งหมดทั้งมวล ล้วนไม่เคยมีการขออนุญาตจากหน่วยงานที่ดูแลโดยตรงแต่อย่างใด
ซ้ำร้าย ในโปรเจกต์ต่าง ๆ ที่เชิญชวนประชาชนมาร่วมบริจาค กลับเดินหน้าไปไม่ถึงไหน แถมยังมีการตรวจพบว่า เณรคำได้นำเงินบริจาคเหล่านั้น ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว เช่น ซื้อที่ดิน ซื้อรถยนต์ราคาแพง ซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม รวมไปถึงเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัว
เมื่อตกเป็นข่าวใหญ่ เณรคำเดินทางหนีออกนอกประเทศ พร้อมคดีที่ยาวเป็นหางว่าว อาทิ ฉ้อโกงประชาชน ฟอกเงิน และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมไปถึงตกเป็นผู้ต้องหาพรากผู้เยาว์ กระทำชำเราเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี
ภายหลังเณรคำถูกส่งตัวกลับมาดำเนินคดี ก่อนที่ศาลจะพิพากษา จำคุกจำเลยรวม 114 ปี แต่ตามกฎหมายให้ลงโทษสูงสุด 20 ปี จึงรวมโทษจำคุก 2 คดีรวมกัน 36 ปี ปิดฉากคดีพระชื่อดังนั่งเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวไปในท้ายที่สุด
ตำนานการยักยอกและฟอกเงิน “พระธัมมชโย”
อีกหนึ่งคดีสะเทือนวงการสงฆ์ในตำนาน กรณีของ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือ พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ถูกกล่าวหาว่าร่วมกับลูกศิษย์ ยักยอกเงินวัดจำนวนมหาศาล
เรื่องราวเริ่มต้นจากการร้องเรียนของกลุ่มสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ได้ร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ สอบสวนการทุจริตภายในสหกรณ์ฯ โดยกล่าวหา นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตผู้บริหารสหกรณ์ฯ กับพวก ได้กระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ และฉ้อโกงประชาชน มูลค่าความเสียหายราว 13,000 ล้านบาท
ประเด็นสำคัญต่อเนื่องจากนั้น พบหลักฐานการสั่งจ่ายเงินให้กับวัดพระธรรมกาย รวมทั้งพระชั้นผู้ใหญ่หลายองค์ รวมมูลค่ากว่าพันล้านบาท
ต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงลงความเห็นออกหมายเรียก “พระธัมมชโย” ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา จากกรณีการรับเช็คบริจาคจากนายศุภชัย รวมทั้งความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร
นอกจากนี้ยังมีคดีความที่เกี่ยวข้องอีกหลายคดี อาทิ การบุกรุกป่า รวมถึงการซื้อที่ดินและทรัพย์สินอื่น ๆ ทว่าแม้จะมีการออกหมายจับ แต่ถึงที่สุด ยังไม่สามารถนำตัวอดีตพระธัมมโย เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้สำเร็จ
“คดีนายเนย” ลูกศิษย์คนสนิทพระผู้ใหญ่ แอบยักยอกเงินนับร้อยล้าน
ไม่ใช่แค่พระที่เคยมีคดีความเรื่องเงินและทรัพย์สินของวัด ที่ผ่านมา เคยมี “ลูกศิษย์พระ” ก่อคดีความเช่นกัน เรื่องราวของ นายอภิรัตน์ หรือ เนย อดีตลูกศิษย์คนสนิทของสมเด็จพระวันรัต อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เจ้าตัวเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นไวยาวัจกร หรือผู้ที่ดูแลทางการเงินของวัด
ทว่าในช่วงที่สมเด็จพระวันรัตอาพาต เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ระหว่างปี 2564 – 2565 นายเนยได้ปลอมแปลงเอกสารลายเซ็น และทำธุรกรรมอื่น ๆ โยกย้ายทรัพย์สินของวัดมาเป็นของตัวเองจำนวนมาก
ต่อมา กองบังคับการปราบปราม ได้ทำการตรวจสอบ โดยพบว่า มีการยักยอกเงินของสมเด็จพระวันรัต และบัญชีของวัดและวัดในสาขา เป็นเงินนับร้อยล้านบาท ภายหลังศาลมีคำพิพากษา จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกง ฐานปลอมแปลงเอกสารและใช้เอกสารปลอม รวมโทษจำคุก 10 ปี และให้จำเลยชดใช้เงินจำนวนกว่า 80 ล้านบาท คืนให้แก่วัดที่เสียหายอีกด้วย
“คดีเงินทอนวัด” ทุจริตเงินสนับสนุนวัดทั่วประเทศ
ข่าวในแวดวงพุทธศาสนาไทยที่สร้างความฮือฮาอีกข่าวหนึ่ง นั่นคือ “คดีเงินทอนวัด” โดยพบว่ามีพระสงฆ์และเจ้าหน้าที่รัฐ ร่วมกันยักยอกเงินงบประมาณที่จัดสรรให้วัดไปใช้ในทางมิชอบ มีการดำเนินคดีพระชั้นผู้ใหญ่และเจ้าหน้าที่หลายราย
เรื่องราวเริ่มต้นจากการจับกุม อดีต ผอ.สำนักพุทธฯ ประจำจังหวัดสงขลา โดยได้เบาะแสว่า สำนักพุทธฯ ได้โอนเงินที่รับจัดสรรมา ไปให้วัดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมเป็นเงิน 4 ล้านบาท ทว่าอดีต ผอ.สำนักพุทธสงขลา เรียกเงินทอนกลับมา ภายหลังมีเข้าจับกุม พบเงินสดของกลางกว่า 3.2 ล้านบาท
เรื่องไม่จบเท่านั้น เนื่องจากมีการขยายผลของคดี และพบหลักฐานอันน่าสะพรึง เมื่อขุดคุ้ยต่อไปได้ว่า มีการทุจริต “เงินทอนวัด” กระจายไปตามวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ มูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้ ยังพบหลักฐานว่า มีเจ้าหน้าที่และพระสงฆ์หลายต่อหลายรูป “มีเอี่ยว” กับกรณีเงินทอนวัดเหล่านี้
หนึ่งในผู้ต้องหาคนสำคัญเหล่านั้น คือ “นพรัตน์ เบญจวัฒนานนท์” อดีต ผอ. สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ตรวจพบว่า มีบัญชีทรัพย์สินมากกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งนายนพรัตน์ไหวตัวทัน จึงเดินทางหลบหนีไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนที่เจ้าตัวจะถูกจับกุมตัวได้ที่สหรัฐฯ เมื่อเมษายน ปี 68 ที่ผ่านมา
ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มีความพยายามนำตัวผู้ต้องหาคนสำคัญ กลับมาดำเนินคดีที่ประเทศไทย พร้อมกับดำเนินคดีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคนอื่น ๆ ทั้งเหล่าฆราวาส และพระสงฆ์ที่กระทำความผิดครั้งนี้
“พระอาจารย์คม อภิวโร” พระสายกรรมฐาน ยักยอกทรัพย์วัดกว่า 200 ล้านบาท
อีกหนึ่งคดีดังสะเทือนวงการสงฆ์ไทย “พระอาจารย์คม อภิวโร” พระสายวิปัสสนากรรมฐานชื่อดังแห่งเมืองโคราช นครราชสีมา เริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกช่วงปี 2564 จากการรับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ นามว่า พระวชิรญาณโกศล
ในอดีต พระอาจารย์คม เดินทางมาที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อหาที่ปฏิบัติธรรม ก่อนจะตั้งที่พักสงฆ์นามว่า สำนักสงฆ์ธรรมคีรีขึ้น จากนั้นจึงมีลูกศิษย์ลูกหาที่เลื่อมใสศรัทธา ร่วมบริจาคทุนทรัพย์ เพื่อสร้างเป็น “วัดป่าธรรมคีรี”
กระทั่งในปี 2566 กองบังคับการปราบปรามได้รับการประสานจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้ตรวจสอบพฤติกรรมของพระวชิรญาณโกศล หรือพระอาจารย์คม จนทำให้พบว่า พระอาจารย์คมได้ทำการทุจริตเงินวัดกว่า 180 ล้านบาท พร้อมกับนำทองแท่ง ไปฝังดินไว้บริเวณเขาหลังวัดอีกจำนวนหนึ่ง
ภายหลังพระอาจารย์คงยอมลาสิกขา และถูกดำเนินคดีพร้อมกับพวกอีก 9 คน กระทั่งต่อมา ศาลมีคำพิพากษาพระอาจารย์คมกับพวก ในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดยักยอกทรัพย์วัดป่าธรรมคีรี จำนวนรวมกว่า 200 ล้านบาท โดยมีโทษจำคุกรวมทั้งสิ้น 468 ปี แต่โทษจำคุกสูงสุดตามกฎหมายให้เหลือ 50 ปี จำต้องชดใช้ความผิดที่ก่อขึ้นไปในที่สุด
“เจ้าคุณแย้ม” ยักยอกเงินวัดไร่ขิง 300 ล้าน เล่นพนันออนไลน์
เป็นอีกคดีความการยักยอกเงินวัด ที่เรียกความสนใจแก่ผู้คนในสังคมวงกว้าง สำหรับกรณี “เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง” หรือ พระธรรมวชิรานุวัตร ที่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานทุจริตยักยอกเงินวัดกว่า 300 ล้านบาท
ที่มาของคดีร้อนแรงวงการสงฆ์ครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า พระธรรมวชิรานุวัตร เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง รวมทั้งยังเป็นเจ้าคณะภาค 14 มีพฤติกรรมยักยอกเงินของวัดไปเล่นพนันออนไลน์
ต่อมาจึงได้มีการตรวจสอบเส้นทางการเงินบัญชีธนาคารของวัดไร่ขิง ซึ่งพบว่า ในช่วงปี 2564 จนถึงปัจจุบัน มีเงินจากบัญชีธนาคารของวัด ถูกโอนออกไปยังบัญชีส่วนตัวของพระธรรมวชิรานุวัตรหลายครั้ง รวมยอดเงินแล้วกว่า 300 ล้านบาท
พระธรรมวชิรานุวัตร หรือ เจ้าคุณแย้ม ถูกดำเนินคดี และให้ลาสิกขาในทันที แม้จะเป็นช่วงเวลาของการต่อสู้กันทางคดีความ แต่ปรากฏว่า มีการขุดคุยพฤติกรรมต่าง ๆ ของอดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง ซึ่งถูกนำออกมาตีแผ่ให้สังคมได้รับรู้อีกมากมาย กลายเป็น “คำถาม” ที่เกิดขึ้นมาว่า ถึงเวลาแล้วหรือยัง กับการมีมาตรการที่ต้องกวดขัน “กิจกรรมทางพุทธศาสนา” อย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นอีก
ด้วยพลังแห่งความศรัทธา เป็นที่มาของวัตถุสิ่งของ ตลอดจนทรัพย์สินเงินทองที่เกิดขึ้นภายในวัดมากมาย ทว่าการไม่หลงไปกับ “กิเลส” โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า “เงิน” คือข้อปฏิบัติที่ “พระสฆ์” พึงระลึกถึงไว้เสมอ…
แหล่งข้อมูล