ถ้าเราเห็นทะเลทรายเวิ้งว้างสุดแห้งแล้ง แล้วเห็นแหล่งน้ำเล็ก ๆ บนนั้น เราคงอดคิดไม่ได้ว่าธรรมชาติก็ยังใจดีนะ อุตส่าห์จัดสรรพื้นที่เช่นนี้ให้สัตว์ป่าได้รอดชีวิต แต่ความจริงแล้ว ธรรมชาติมหัศจรรย์ยิ่งกว่านั้นเสียอีก เพราะสารคดีเรื่อง Once Upon a Time in Tsavo จะพาเราไปพบข้อเท็จจริงที่ว่า แหล่งน้ำเหล่านี้ในอุทยานแห่งชาติซาโว ประเทศเคนยา เป็นฝีมือร่วมกันสร้างของช้างยักษ์ใหญ่กับปลวกตัวจิ๋ว!
ความร่วมมืออันน่าทึ่งนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ในชั้นใต้ดิน เมื่อปลวกนำแร่ธาตุกับสารอินทรีย์และน้ำลายมาผสมกันจนกลายเป็นดิน จากนั้นก็ขนมันขึ้นมาสู่พื้นผิวเพื่อสร้างจอมปลวก ซึ่งเจ้าสิ่งนี้แหละที่ดึงดูดช้างให้มาขุดกินดินเหนียวเพื่อเอาแร่ธาตุที่อยู่ข้างใน การขุดของช้างทำให้เกิดหลุม แล้วพอฝนตก พวกมันก็จะพากันลงกลิ้งเกลือกในโคลน มีข้อมูลว่าช้างหนึ่งฝูงมาทำเช่นนี้แค่ครั้งเดียวก็ทำให้โคลนติดตามตัวพวกมันไปได้ถึง 1 ตัน ซึ่งผลก็คือหลุมบริเวณนั้นจะกลายเป็นหลุมลึก ยิ่งลึกก็ยิ่งกักน้ำได้เยอะ ในแต่ละปี ทะเลทรายจึงมีพื้นที่แห่งนี้ก็จึงกลายเป็นแหล่งน้ำสำคัญอยู่ครั้งละหลายเดือน
ยังไม่จบค่ะ ทีนี้พอฝนตกลงมา น้ำในแอ่งนั้นก็จะผสมรวมกับน้ำฝนแล้วเริ่มไหลไปตามร่องทางเดินของช้าง กลายเป็นเส้นทางบ่มเพาะของสิ่งมีชีวิตตัวเล็กจ้อยอีกมากมาย ตั้งแต่ปลา ด้วง กิ้งก่า กบ ไปจนถึงผีเสื้อและนกเงือก ซึ่งนอกจากจะมาทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวจากน้ำและมูลช้างแล้ว พวกมันยังต้องคอยประคับประคองร่างจิ๋ว ๆ ของมันให้อยู่รอดปลอดภัยจากอุ้งเท้าของช้างยักษ์ใหญ่ที่เดินไปเดินมาอีกด้วย

ภาพจากสารดคี Once Upon a Time in Tsavo

ภาพจากสารดคี Once Upon a Time in Tsavo

ภาพจากสารดคี Once Upon a Time in Tsavo
เรื่องที่น่ารักราวกับนิทาน แต่น่าอัศจรรย์ตรงที่เป็นเรื่องจริงนี้แสดงให้เห็นความซับซ้อนน่าทึ่งของ “เครือข่ายความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต” ซึ่งแม้จะมีขนาดร่างกายต่างกันเหลือเกิน แต่กลับมีความเกี่ยวข้องและพฤติกรรมพึ่งพาอาศัยกันอย่างน่าตื่นเต้น นี่คือความเฉียบขาดของสารคดีเรื่องนี้ที่ทำให้เราได้เห็นและรับรู้รายละเอียดซึ่งอาจไม่เคยรู้มาก่อน แถมบางอย่างก็ยังไม่เคยถูกค้นพบทางวิทยาศาสตร์เลยด้วยซ้ำ
Once Upon a Time in Tsavo เป็นผลงานร่วมกันกำกับของ มาร์ค ดีเบิล กับ วิกตอเรีย สโตน คู่หูคนทำสารคดีที่ทำงานในแอฟริกามายาวนาน (งานโด่งดังของทั้งสองก็เช่น The Queen of Trees ที่คว้ารางวัล Peabody Award และ Mzima ที่ชนะรางวัลเอมมี่) พวกเขาใช้เวลาถ่ายทำอยู่ 4 ปีและเป็นการทุ่มเทที่ไม่สูญเหล่า เพราะตัวสารคดีไปคว้ารางวัลจาก Jackson Wild Media Awards อันเป็นเวทีสำคัญของบรรดาหนังสารคดีธรรมชาติมาได้สำเร็จในปี ค.ศ. 2023
อนึ่ง เมื่อนึกถึงชื่อเรื่อง Once Upon a Time in Tsavo หรือ “กาลครั้งหนึ่งในซาโว” ก็ชวนให้ผู้เขียนนึกไปถึงนิทานสำคัญอีกเรื่องของสถานที่เดียวกันขึ้นมา อุทยานแห่งชาติซาโวนั้นจัดเป็นแห่งที่ใหญ่ที่สุดของเคนยา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 20,000 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางตะวันออกของภูเขาคิลิมันจาโร และเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าหลากหลาย รวมทั้ง “บิ๊กไฟว์แห่งแอฟริกา” ได้แก่ สิงโต เสือดาว ควาย แรด และช้างมากันครบ ตัวอุทยานถูกแบ่งเพื่อความสะดวกในการบริหารออกเป็นสองส่วน คือ ซาโวตะวันออกและซาโวตะวันตก ซึ่งแห่งหลังเป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมกว่าเพราะสวยกว่าและมีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์โด่งดังกว่า

ภาพจากสารดคี Once Upon a Time in Tsavo

ภาพจากสารดคี Once Upon a Time in Tsavo

ภาพจากสารดคี Once Upon a Time in Tsavo
เหตุการณ์ดังกล่าวย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 1898 ระหว่างการสร้างทางรถไฟสายยูกันดา มีสิงโตตัวผู้ไร้ขนรูปลักษณ์ประหลาดปรากฏขึ้นสองตัวแล้วสร้างตำนานด้วยการออกไล่ล่ามนุษย์ยามค่ำคืนอย่างดุร้าย สังหารคนงานอินเดียและแอฟริกันไปอย่างน้อย 28 คนจนทำให้พวกมันได้รับฉายา “สิงโตกินคนแห่งซาโว" (The Man-eaters of Tsavo) ก่อนจะถูก จอห์น เฮนรี แพตเตอร์สัน หัวหน้าผู้ควบคุมการก่อสร้างยิงตายในที่สุด เรื่องราวการเผชิญหน้าระหว่างสิงโตทั้งคู่กับมนุษย์ถูกจารึกไว้ในรูปแบบหนังสือและภาพยนตร์เรื่องดังอย่าง The Ghost and the Darkness (1996) มาแล้ว ส่วนร่างของพวกมันยังคงจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Field Museum of Natural History ในชิคาโกจนถึงทุกวันนี้
▶ ติดตามสารคดี Once Upon a Time in Tsavo กาลครั้งหนึ่งในซาโว ซาโวเป็นพื้นที่ธรรมชาติอันแห้งแล้งในทวีปแอฟริกาที่ฝนไม่ค่อยตก แต่ถ้าฝนตกเมื่อไหร่ น้ำฝนส่วนใหญ่จะไหลหายลงไปตามทางน้ำและลงสู่ทะเล แต่จากสิ่งที่ช้างและปลวกทำ ก่อให้เกิดเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถเก็บน้ำฝนไว้ได้นาน เป็นดั่งโอเอซิสให้กับสัตว์น้อยใหญ่
รับชมได้ทาง www.VIPA.me หรือ VIPA Application