ในช่วงฤดูเฮอร์ริเคนของมหาสมุทรแอตแลนติกซึ่งโดยปกติเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงพฤศจิกายน กลุ่มเมฆฟ้าคะนองที่ก่อตัวเหนือชายฝั่งตะวันตกของแอฟริกาจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของพายุหมุนเขตร้อนหลายลูก การติดตามพายุตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจำเป็นต้องพึ่งพาข้อมูลจากดาวเทียม เนื่องจากพายุยังอยู่ไกลเกินกว่าที่เครื่องบินตรวจการณ์ของสหรัฐฯ จะเข้าถึงได้
หนึ่งในข้อมูลสำคัญที่นักอุตุนิยมวิทยาใช้เพื่อประเมินตำแหน่งศูนย์กลางและแนวโน้มการทวีความรุนแรงของพายุ มาจากดาวเทียมในโครงการ Defense Meteorological Satellite Program (DMSP) ซึ่งเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ปัจจุบันยังมี ดาวเทียม DMSP ที่อยู่ในภารกิจจำนวน 3 ดวง ซึ่งโคจรรอบโลกวันละ 14 รอบ ติดตั้งเครื่องมือเซนเซอร์ชื่อว่า Special Sensor Microwave Imager/Sounder (SSMIS) ที่สามารถตรวจวัดรังสีไมโครเวฟจากพื้นผิวและเมฆ ทำให้สามารถ “มองทะลุ” เข้าไปในโครงสร้างของพายุได้ แม้ในขณะที่มีเมฆหนาทึบ หรือในเวลากลางคืน
ข้อมูลจาก SSMIS ช่วยให้สามารถระบุตำแหน่งศูนย์กลางความกดอากาศต่ำของพายุได้แม่นยำมากขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการพยากรณ์เส้นทางพายุ รวมถึงการออกคำเตือนภัยล่วงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของพายุที่อาจทวีความรุนแรงแบบเฉียบพลัน (Rapid Intensification) ซึ่งยังคงเป็นความท้าทายในการพยากรณ์
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2025 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกประกาศแจ้งเตรียมยุติการเผยแพร่ข้อมูลจากดาวเทียม DMSP ทั้งหมดภายในวันที่ 30 มิถุนายน ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ แม้จะมีการขยายระยะเวลาให้ใช้งานต่อไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม ตามคำร้องของผู้บริหารแผนกวิทยาศาสตร์โลกแห่ง NASA ก็ตาม
ทั้งนี้ ดาวเทียม DMSP ทั้ง 3 ดวงมีอายุการใช้งานเกินกว่าที่ออกแบบไว้ตั้งแต่ 5 ถึง 15 ปี ดาวเทียมเหล่านี้ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรตั้งแต่ปี 1999 ถึง 2009 และเคยมีบทบาทหลักในการสนับสนุนข้อมูลให้กับทั้ง กองทัพสหรัฐฯ ศูนย์พยากรณ์อากาศแห่งชาติ (National Weather Service, NWS) และ ศูนย์เฝ้าระวังพายุเฮอร์ริเคน (National Hurricane Center, NHC) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับขององค์การสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA)
แม้ว่าจะมีดาวเทียมทดแทนบางส่วน เช่น NOAA-20, NOAA-21 และ Suomi National Polar-orbiting Partnership (Suomi NPP) ซึ่งติดตั้งเครื่องมือ Advanced Technology Microwave Sounder (ATMS) ที่สามารถวัดข้อมูลไมโครเวฟได้เช่นกัน แต่คุณภาพและความละเอียดของข้อมูลจาก ATMS ยังด้อยกว่า SSMIS อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในด้านการระบุตำแหน่งศูนย์กลางพายุและวิเคราะห์ศักยภาพการทวีความรุนแรง
ปัจจุบันมีดาวเทียมใหม่ในโครงการกลาโหมชื่อ ML-1A ที่เริ่มใช้งานเมื่อปลายเดือนเมษายน 2025 ซึ่งอาจสามารถทดแทนภารกิจของ DMSP ได้บางส่วน แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าข้อมูลจากดาวเทียม ML-1A จะถูกเปิดให้ศูนย์พยากรณ์ต่าง ๆ นำไปใช้ในระดับพลเรือนหรือไม่
การยุติภารกิจของ DMSP จึงมีความสำคัญ เพราะเกิดขึ้นในช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูพายุเฮอริเคนช่วงพีคของปี 2025 ที่คาดว่าจะมีพายุเฮอริเคนระหว่าง 6 ถึง 10 ลูก และมีความเสี่ยงต่อการเกิดพายุรุนแรงหลายลูกที่อาจเข้าถึงแผ่นดิน
แม้ว่านักอุตุนิยมวิทยาจะยังสามารถใช้ข้อมูลจากดาวเทียมอื่น เรดาร์ บอลลูนตรวจอากาศ และอุปกรณ์ดรอปซอนด์ (Dropsonde) เพื่อเสริมการติดตามพายุได้ผ่านการปล่อยอุปกรณ์ตรวจวัดจากอากาศยาน แต่การขาดข้อมูลจาก DMSP ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องตรวจคลื่นไมโครเวฟละเอียดสูง ก็อาจส่งผลกระทบต่อความแม่นยำของการพยากรณ์โดยรวมในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ความเร็วและความรุนแรงของพายุสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
เรียบเรียงโดย Chottiwatt Jittprasong
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech