ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชิปแห่งอนาคต! จีนพัฒนาวิธีผลิต “เซมิคอนดักเตอร์รุ่นใหม่” ในปริมาณมาก


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

จิราภพ ทวีสูงส่ง

แชร์

ชิปแห่งอนาคต! จีนพัฒนาวิธีผลิต “เซมิคอนดักเตอร์รุ่นใหม่” ในปริมาณมาก

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2937

ชิปแห่งอนาคต! จีนพัฒนาวิธีผลิต “เซมิคอนดักเตอร์รุ่นใหม่” ในปริมาณมาก

นักวิทยาศาสตร์ของจีนพัฒนาวิธีการใหม่สำหรับการผลิตอินเดียมซีลีไนด์ (indium selenide) ซึ่งเป็นวัสดุ “เซมิคอนดักเตอร์” (Semiconductor) คุณภาพชั้นเยี่ยมในระดับอุตสาหกรรม โดยจะช่วยเปิดทางสู่การผลิตชิปรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าเทคโนโลยีชิปซิลิคอนในปัจจุบัน

งานวิจัยที่เผยแพร่ทางออนไลน์ในวารสารไซแอนซ์ (Science) เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา ดำเนินการโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งและมหาวิทยาลัยเหรินหมินแห่งประเทศจีน

วงจรรวมถือเป็นรากฐานสำคัญของเทคโนโลยีข้อมูลสมัยใหม่ ทว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาประสิทธิภาพของชิปซิลิคอนเริ่มเข้าใกล้ขีดจำกัดทางกายภาพ การพัฒนาวัสดุเซมิคอนดักเตอร์ชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงและใช้พลังงานต่ำจึงได้รับความสนใจในวงการวิจัยและพัฒนาทั่วโลก

ภาพถ่ายที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง แสดงแผ่นเวเฟอร์เซมิคอนดักเตอร์ทำจากอินเดียมซีลีไนด์ วันที่ 18 มิ.ย. 2025 ภาพจากซินหัว

“อินเดียมซีลีไนด์” เป็นที่รู้จักในฐานะวัสดุเซมิคอนดักเตอร์คุณภาพเยี่ยม ทว่าการผลิตวัสดุชนิดนี้ในปริมาณมากและยังคงคุณภาพสูงไว้ได้นั้นเป็นเรื่องยากมาโดยตลอด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการนำไปใช้งานในวงจรรวมอย่างแพร่หลาย

ศาสตราจารย์หลิวไคฮุย จากคณะฟิสิกส์ประจำมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวว่าความท้าทายหลักอยู่ที่การควบคุมอัตราส่วนอะตอมของอินเดียมและซีลีเนียมให้อยู่ที่สัดส่วน 1:1 อย่างแม่นยำระหว่างกระบวนการผลิต

ทีมวิจัยให้ความร้อนกับฟิล์มอินเดียมซีลีไนด์ที่โครงสร้างยังไม่เป็นผลึกสมบูรณ์ และอินเดียมที่อยู่ในสถานะของแข็งในสภาพแวดล้อมแบบปิด อะตอมของอินเดียมที่ระเหยออกมาได้ก่อตัวเป็นชั้นของเหลวที่เต็มไปด้วยอินเดียมบริเวณขอบของฟิล์ม ส่งผลให้เกิดการก่อตัวของผลึกอินเดียมซีลีไนด์คุณภาพสูงที่มีโครงสร้างอะตอมเป็นระเบียบในที่สุด

หลิวกล่าวว่า วิธีการนี้ช่วยให้มั่นใจได้ถึงอัตราส่วนอะตอมที่ถูกต้องของอินเดียมและซีลีเนียม และเอาชนะอุปสรรคสำคัญในการเปลี่ยนอินเดียมซีลีไนด์จากการวิจัยในห้องปฏิบัติการไปสู่การประยุกต์ใช้ในทางวิศวกรรม

ทีมงานสามารถผลิตแผ่นเวเฟอร์อินเดียมซีลีไนด์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เซนติเมตรได้สำเร็จ และสร้างแผงทรานซิสเตอร์ประสิทธิภาพสูงในปริมาณมาก ซึ่งสามารถนำไปใช้ในอุปกรณ์วงจรรวมโดยตรงได้ทันที

หลิวทิ้งท้ายว่า ความก้าวหน้าครั้งนี้ปูทางสำหรับการพัฒนาชิปรุ่นถัดไปที่มีประสิทธิภาพสูงและใช้พลังงานต่ำ ซึ่งคาดว่าจะถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในหลากสาขาล้ำสมัย เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การขับขี่อัตโนมัติ และอุปกรณ์เชื่อมต่ออัจฉริยะในอนาคต

ภาพซินหัว : ภาพถ่ายที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง แสดงแผ่นเวเฟอร์เซมิคอนดักเตอร์ทำจากอินเดียมซีลีไนด์ วันที่ 18 มิ.ย. 2025


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : science, Xinhua

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เซมิคอนดักเตอร์รุ่นใหม่เซมิคอนดักเตอร์เทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์Semiconductorชิปรุ่นใหม่ชิปผลิตชิปชิปซิลิคอนอินเดียมซีลีไนด์indium selenideจีนเทคโนโลยีTechnologyInnovationนวัตกรรมThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Innovation Tech World
จิราภพ ทวีสูงส่ง

ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

"เซบา บาสตี้" เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส คนทำงานด้านการเขียน : Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphobT@thaipbs.or.th)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด