ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชวนเลิก “เกลียดวันจันทร์” (Monday Blues) เพราะส่งผลร้ายต่อร่างกายได้


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

จิราภพ ทวีสูงส่ง

แชร์

ชวนเลิก “เกลียดวันจันทร์” (Monday Blues) เพราะส่งผลร้ายต่อร่างกายได้

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2932

ชวนเลิก “เกลียดวันจันทร์” (Monday Blues) เพราะส่งผลร้ายต่อร่างกายได้

นึกถึง “วันจันทร์” (Monday) ทีไร ช่างละเหี่ยใจ ซึมเศร้าเหงาหงอย ไม่ค่อยจะมีเรี่ยวแรงอยากไปทำงาน รู้ไหมว่าอาการนี้เรียกว่า ภาวะ Monday Blues หรือ “โรคเกลียดวันจันทร์” ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงต่อร่างกายได้ โดยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับความเครียด รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด

สังคมทำงานจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันมองว่า “วันจันทร์” (Monday) เป็นวันที่คนชอบน้อยที่สุดในสัปดาห์ เนื่องจากเพิ่งกลับมาจากการพักผ่อนช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ โดยต้องเตรียมเผชิญกับความรับผิดชอบด้านการงาน เริ่มต้นทำงานวันแรกของสัปดาห์ และอีกหลายวันกว่าจะได้หยุดอีกครั้ง

ผลการศึกษาล่าสุดโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง (HKU) ซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Affective Disorders ไม่เพียงแต่ระบุถึงความเชื่อมโยงระหว่างความวิตกกังวลในวันแรกของสัปดาห์ทำงานกับระดับฮอร์โมนความเครียดที่สูงเท่านั้น แต่ความเชื่อมโยงนี้ยังคงอยู่แม้เกษียณอายุไปแล้วด้วย

โดยแม้ว่าความสัมพันธ์จะไม่เท่ากับสาเหตุ แต่การเพิ่มขึ้นของสัญญาณความเครียดอย่าง “คอร์ติซอล” (Cortisol) ในวันจันทร์ มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย โดยเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นถึง 19% เมื่อเทียบกับวันอื่น ๆ ของสัปดาห์

ทีมวิจัยได้ตรวจผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไป จำนวน 3,511 คน ซึ่งเข้าร่วมในโครงการ English Longitudinal Study of Aging (ELSA) โดยผู้เข้าร่วมรายงานระดับความวิตกกังวลของตนในวันต่าง ๆ ของสัปดาห์ พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างเส้นผม และวิเคราะห์ระดับฮอร์โมนความเครียด “คอร์ติซอล”

การศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ที่รายงานว่ารู้สึกวิตกกังวลเป็นพิเศษใน “วันจันทร์” มีระดับคอร์ติซอลสูงกว่าผู้ที่รู้สึกวิตกกังวลในวันอื่น ๆ ประมาณ 23%

ความสัมพันธ์ของความวิตกกังวลในวันจันทร์ส่งผลต่อแกนไฮโปทาลามัส-ต่อมใต้สมอง-ต่อมหมวกไต (HPA) ซึ่งเป็นระบบจัดการความเครียดหลักของร่างกาย เมื่อเกิดความเครียดเรื้อรังจะไปกระตุ้นแกน HPA มากเกินที่จะรับไหว จนนำไปสู่ปัญหาระบบภูมิคุ้มกัน โรคเมตาบอลิซึม (metabolic syndrome หรือภาวะดื้ออินซูลิน) ความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็ง เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง และอื่น ๆ ได้

แม้อาจดูเหมือนเป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับงานที่ชัดเจน แต่ที่แปลกคือการศึกษาพบว่า แม้แต่ผู้เกษียณอายุไปแล้วก็ยังรู้สึกเครียดใน “วันจันทร์” และส่งผลเสียต่อสุขภาพด้วยเช่นกัน

Tarani Chandola นักสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า วันจันทร์ทำหน้าที่เป็น “ตัวขยายความเครียด” ทางวัฒนธรรม สำหรับผู้สูงอายุบางคน การเปลี่ยนผ่านในแต่ละสัปดาห์จะกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาทางชีวภาพที่คงอยู่นานหลายเดือน นี่ไม่ใช่เรื่องงาน แต่เป็นเรื่องที่ว่า “วันจันทร์” ฝังรากลึกในสรีรวิทยาความเครียดของเรามากเพียงใด แม้กระทั่งหลังจากจบงานไปแล้ว

รู้จัก 6 แนวทางแก้อาการ “เกลียดวันจันทร์”

     - วันเสาร์อาทิตย์หรือช่วงหยุดยาวควรเข้านอนและตื่นนอนในเวลาใกล้เคียงวันทำงานที่สุด ไม่ใช่ว่าตื่นสายเกินปกติไปมาก ทำให้ต้องมาปรับตัวใหม่ทุกเช้าวันจันทร์ ตื่นแล้วก็ง่ายต่อการหงุดหงิด

     - ไม่ควรโหมทำงานวันหยุดถ้าไม่จำเป็น เพราะร่างกายและจิตใจต้องการผ่อนคลายบ้าง เพื่อเติมพลังให้เช้าวันจันทร์

     - ในทางตรงกันข้าม ถ้าวันหยุดถ้ามีการสังสรรค์ งานรื่นเริง ออกเดินทางไกล หรือไปท่องเที่ยวผจญภัย เล่นกีฬา ฯลฯ แม้เป็นสิ่งที่ดี แต่ควรแบ่งเวลาพักผ่อนบ้าง และไม่รบกวนเวลานอน ไม่ใช่ว่าหักโหมกับกิจกรรมวันหยุดโดยไม่พักผ่อนเพียงพอ ซึ่งจะทำให้อ่อนล้ามากในเช้าวันจันทร์

     - อาหารมื้อค่ำวันอาทิตย์ ไม่ควรกินอิ่มมากเกินไป เพราะจะส่งผลให้นอนหลับไม่สนิท พักผ่อนไม่พอ ควรเน้นผัก ปรุงรสกลาง ๆ พอดี ของว่างเป็นผลไม้ และไม่ดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ หรือแอลกอฮอล์ใด ๆ เพื่อความสดใสของเช้าวันจันทร์

     - เรารู้กันดีว่าเช้าวันจันทร์จะรถติดเป็นพิเศษ ฉะนั้นควรตื่นและออกจากบ้านให้ไวกว่าวันอื่น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความเครียดจากการลุ้นไปสาย ประเดิมต้นสัปดาห์ด้วยความไม่สบายใจ ซึ่งไม่ดีต่ออารมณ์ไปทั้งวันหรืออาจทั้งสัปดาห์ได้

     - ถ้าไม่จำเป็น ไม่ควรมีการโต้เถียงเครียด ๆ หรือประชุมหนัก ๆ นาน ๆ ในครึ่งเช้าวันจันทร์ เพราะทุกคนต่างก็กำลังปรับตัวกลับมาจากช่วงวันหยุด และภาระงานประจำต่าง ๆ ก็มักจะไหลเวียนกลับเข้ามาในเช้าวันจันทร์มากเป็นพิเศษด้วย

ความสำคัญไม่ได้อยู่ตรงที่เราได้ทำตามวิธีทั้งหมดหรือเปล่า แต่อันดับแรกคือการที่เราเริ่มสำรวจปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจจะเป็นปัญหาในการทำงาน ลองสำรวจว่าปัญหาว่าต้นเหตุจริง ๆ นั้นเกิดมาจากอะไร แล้วแก้ปัญหาด้วยความคิดเชิงบวกอยู่เสมอ โดย Thai PBS Sci & Tech เชื่อว่าการที่ทุกคนได้รับรู้ รับมือ และเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจะช่วยให้ห่างไกลจากอาการ “เกลียดวันจันทร์” (Monday Blues) ได้ และเปลี่ยนตัวเราให้เป็นคนใหม่ที่รักในการพัฒนาตัวเอง รวมถึงทำงานได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพ

“แล้วเราจะรักวันจันทร์มากขึ้น”


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS https://www.thaipbs.or.th/news/playlists/SciAndTech  

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : sciencedirect, โรงพยาบาลเชียงใหม่ ฮอสพิทอล

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เกลียดวันจันทร์โรคเกลียดวันจันทร์Monday Bluesวันจันทร์Mondayสุขภาพสุขภาพจิตปัญหาสุขภาพคอร์ติซอลCortisolวิทย์น่ารู้วิทยาศาสตร์น่ารู้วิทยาศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง

ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

"เซบา บาสตี้" เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส คนทำงานด้านการเขียน : Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphobT@thaipbs.or.th)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด