ทุกวันนี้ สื่อดั้งเดิมทั่วโลกต่างปรับตัวให้ยืนหยัดในยุค AI แต่ก็ใช่ว่าจะทอดทิ้งจริยธรรมเพื่อกระแสหรือยอดได้ Thai PBS Sci & Tech มีข้อคิดมาฝากจากคนทำสื่อมากประสบการณ์จากญี่ปุ่น
จุน โอกาวา (Jun Ogawa) ผู้ประสานงานต่างประเทศจาก BPO (Broadcasting Ethics & Program Improvement Organization) องค์กรด้านจริยธรรมสื่อและการพัฒนารายการของญี่ปุ่น ได้ถอดบทเรียนจริยธรรมสื่อไว้ระหว่างการบรรยายหัวข้อใน ‘Information as a Public Good: Upholding Credibility and Empowering Democracy (ข้อมูลในฐานะผลิตภัณฑ์: การรักษาความน่าเชื่อถือและการเสริมสร้างประชาธิปไตย)’ ที่งาน 20th Asia Media Summit เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 68 โอกาวาเปรียบเทียบสถานการณ์สื่อในญี่ปุ่นว่าเป็นดั่ง ‘ซูชิ’ และ ‘ฟูจิ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็รู้จักจากแดนอาทิตย์อุทัย

โอกาวาพูดถึงเรื่องซูชิกับการทำสื่อก่อน “คุณอยากให้เสิร์ฟซูชิแบบไหน ? สุก ? ต้ม ? ไม่มีทางใช่ไหมล่ะครับ ซูชิต้องเสิร์ฟสด ๆ แบบดิบ ๆ ครับ” เขาเกริ่น “ข้อมูลก็เหมือนกัน ข้อมูลต้องสดและดิบ ความดิบหมายถึงความบริสุทธิ์หรือความจริง ดังนั้น ข้อมูลที่ดีสำหรับสาธารณะคือข้อมูลที่จริง” โอกาวากล่าวต่อว่า ข้อมูลที่จริงหรือ ‘ความจริง’ นั้น เป็นกุญแจสำคัญของสังคมที่มีเสถียรภาพและความมั่งคั่ง

อย่างไรก็ตาม แม้แต่สังคมญี่ปุ่นเองก็กลายเป็นดั่ง “กล่องอัญมณีที่ปะปนกัน (gemstones mixed together)” หมายความว่า ข่าวจริง ข่าวปลอม และข่าวที่สร้างจาก AI ผสมปนเปกันไปหมด ทำให้ผู้คนหลงอยู่ในกระแสธารแห่งข้อมูล โอกาวามองว่า สื่อดั้งเดิมยังเป็นพื้นที่ที่ประชาชนสามารถ ‘หาข้อมูลที่เที่ยงธรรมและถูกต้อง (Find Information Fair and Accurate)’ ได้ โดยสื่อฯ ต้องรักษามาตรฐานและความน่าเชื่อถือไว้ ประหนึ่งกับเป็นกรรมการ FIFA ที่ไม่ย้ายประตูฟุตบอลไปมา เช่นนี้ ก็จะได้รับความวางใจจากผู้คนต่อไป
ขณะที่สื่อของญี่ปุ่นหลายเจ้าจะมีความน่าเชื่อถือและได้รับความไว้วางใจ สถานีโทรทัศน์ ‘ฟูจิทีวี (Fuji TV)’ กลับเผชิญวิกฤตศรัทธาหลังจากเกิดข่าวฉาวเกี่ยวกับพิธีกรชื่อดังประจำช่อง มาซาฮิโระ นาไก (Masahiro Nakai) นาไกถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศผู้ประกาศหญิงคนหนึ่งของช่อง แต่ยังคงทำงานต่อได้โดยที่ฟูจิทีวีเองก็ทราบเรื่อง เมื่อข่าวฉาวปรากฏ ทำให้สถานีฯ เสียทั้งลูกค้าโฆษณาและความเชื่อใจของประชาชน “เพราะ [ฟูจิทีวี] ไม่เต็มใจที่จะพูดความจริงทั้ง ๆ ที่เป็นสื่อ จึงเกิดคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสาธารณะ และสปอนเซอร์ก็ถอนตัว นี่คือเรื่องของการบริหารองค์กรครับ... การบริหารองค์กรสำคัญท่ามกลางประเด็นปัญหาต่าง ๆ” โอกาวาให้ความเห็นส่วนตัว
นี่คือกรณีศึกษาและข้อคิดจากการบรรยายของโอกาวาซัง ไม่เพียงแต่สื่อต้องนำเสนอข้อมูลที่สดและจริงแท้แก่ประชาชนดั่งเชฟเสิร์ฟซูชิ แต่ต้องมีความจริงใจในการแก้ปัญหา “หลังบ้าน” ด้วย มิเช่นนั้น ก็จะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับฟูจิทีวีนั่นเอง
เมื่อคุณทำผิด คุณจะทำอย่างไร ? ควรทำอะไร ? คุณก็ยอมรับครับ ‘ใช่ครับ ผมทำผิด’ ขอโทษ และเปลี่ยนพฤติกรรมเสีย - Jun Ogawa

ติดตามเนื้อหาที่เกี่ยวข้องจาก Thai PBS Sci & Tech
- “อย่าเชื่อใจใคร” วิธีคิดสู้ข่าวปลอมที่ทั้งคนเสพข่าวและคนข่าวก็ใช้ได้
- เหมือนกันจนน่าสงสัย! “เรซูเม่” สร้างโดย AI กำลังสร้างปัญหาให้ HR
- งานศิลปะจาก AI ลิขสิทธิ์เป็นของใคร ศิลปินปรับตัวอย่างไรเมื่อ AI ครองโลก
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” กับ Thai PBS Sci & Tech: www.thaipbs.or.th/SciandTech