งานศิลปะจาก AI ลิขสิทธิ์เป็นของใคร ศิลปินปรับตัวอย่างไรเมื่อ AI ครองโลก


บทความพิเศษ

26 ส.ค. 66

Thai PBS Sci & Tech

Logo Thai PBS
งานศิลปะจาก AI ลิขสิทธิ์เป็นของใคร ศิลปินปรับตัวอย่างไรเมื่อ AI ครองโลก

เมื่อ AI เข้ามามีบทบาทในงานด้านศิลปะมากขึ้น โจทย์ใหญ่ของมนุษยชาติเกี่ยวกับ "ลิขสิทธิ์" ในงานศิลปะที่สร้างโดย AI ที่วันนี้ยังฝุ่นตลบ หาข้อสรุปไม่ได้ ในต่างประเทศมีการยื่นเรื่องขอจดลิขสิทธิ์ผลงานจาก AI อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายในการแสวงหาคำตอบ ว่ายังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่ที่การจด "ลิขสิทธิ์" ต้องเกิดจากกระบวนการใช้ความคิด การลงมือทำ ที่เป็นฝีมือของมนุษย์ล้วน ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานเท่านั้น และควรจะมีขอบเขตการทำงานร่วมกันระหว่าง AI กับมนุษย์อย่างไร ?

มนุษยชาติ กำลังเข้าใกล้พรมแดนใหม่ในด้านลิขสิทธิ์ ศิลปินบางคนเลือกใช้ AI เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ ๆ โดยใช้วิธีการเขียนคำสั่ง (Prompt) บรรยายองค์ประกอบภาพที่ต้องการบนงานชิ้นนั้น แต่ในขณะเดียวกัน โมเดล AI ได้รับการฝึกฝน เรียนรู้ จากต้นแบบของงานศิลปะ “ดั้งเดิม” หรือเกิดจากการเรียนรู้ในการเขียนคำสั่งของผู้ใช้งาน ลองถูก ลองผิด

จึงเป็นคำถามที่ค่อนข้างท้าทายคนทำงานศิลปะในยุคนี้ว่า ลิขสิทธิ์ในงานศิลปะที่สร้างโดย AI ยังมีความจำเป็นอยู่ไหมที่ต้องใช้ “มือ” ของมนุษย์ในการสร้างสรรค์ผลงานเท่านั้น ?

ย้อนไปเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ “สตีเฟน เธเลอร์” ผู้พัฒนา AI ที่ชื่อว่า “Creativity Machine” ซึ่งเป็น AI ที่ใช้วาดภาพ พยายามอย่างยิ่งที่จะจดลิขสิทธิ์ภาพ ในฐานะ “เจ้าของผลงาน” ที่มีชื่อว่า “A Recent Entrance to Paradise” ซึ่งให้ AI ประมวลผลข้อมูลของภาพหลอนและเรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย จน AI ได้รังสรรค์ภาพดังกล่าวออกมา

เขาระบุว่า ผู้ที่ป้อนคำสั่ง Prompt (คือการเขียนคำอธิบายรายละเอียดในสิ่งที่ต้องการ เพื่อเป็นชุดข้อมูลสั่งการให้กับ AI ในการดึงประสิทธิภาพสูงสุดของ AI มาใช้ และตรงความต้องการมากที่สุด) จึงสมควรที่จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผู้สร้างผลงาน แต่ผู้พิพากษาศาลแขวงสหรัฐฯ กลับไม่ได้คิดเช่นนั้น โดยมองว่า AI ไม่มีสิทธิ์ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เพราะขาดการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ซึ่งการผลิตโดยมนุษย์นับเป็นข้อกำหนดพื้นฐานของการจดลิขสิทธิ์

AI เรียนรู้อย่างไร ?

ดร.ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ กล่าวถึงเรื่องนี้กับ “Thai PBS Sci & Tech” เกี่ยวกับ Machine Learning Algorithm ของ AI อย่างหนึ่งคือ Reinforcement Learning ที่มีหลักการทำงานเหมือนกับมนุษย์ได้เรียนรู้บางอย่างด้วยการลองผิดลองถูก จนทำให้เกิดการเรียนรู้เกิดขึ้นระหว่างทางว่าการกระทำไหนดีหรือไม่ดี

ยกตัวอย่างการเรียนรู้ของ AI สร้างภาพวาดที่นิยมใช้กันอย่าง Midjourney เริ่มใช้กันมาหลายปีแล้ว โดยในช่วงแรก ๆ AI Generate ภาพออกมาไม่ได้สวยงามเหมือนอย่างทุกวันนี้ แต่ AI ได้เรียนรู้จากการ Reinforcement Learning ที่มนุษย์ได้สอน สร้าง ป้อนคำสั่ง ลงไป

“เช่น แกร์รี คาสปารอฟ แชมป์โลกหมากรุก แพ้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ Deep Blue ของ IBM ขณะที่ DeepMind AI ของ Google สามารถเอาชนะ “อี-เซดอล” เซียนโกะแชมป์โลกชาวเกาหลีใต้ ได้ ด้วยวิธีการ Reinforcement Learning เช่นกัน ซึ่ง AI เหล่านี้เรียนรู้จากการเล่น หากเป็นมนุษย์ในชีวิตหนึ่งอาจจะเล่นหลักพันครั้ง แต่ AI เหล่านี้ เล่นเป็นล้านครั้ง เล่นทุก Scenario เดินหมากตัวไหนก่อนหลัง ขยับหมากผิดเพียงตัวเดียวก็แพ้แล้ว แต่ถ้าคุณอยากจะชนะคุณจะต้องเล่นใน Scenario ที่ AI เหล่านี้ ไม่เคยเล่นมาก่อน” ดร.ปริญญา อธิบาย

ละเมิดลิขสิทธิ์ ? ดรามาแอปฯ AI แต่งรูป สอน AI จากผลงานศิลปิน

กรณีดรามา Application แต่งรูปยอดฮิต ละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการสอน AI ให้เรียนรู้จากผลงานต้นฉบับของศิลปินหลายคน เพื่อให้ AI สร้างรูปออกมา

ดร.ปริญญา ก่อนที่จะมี Application แต่งรูปลักษณะนี้ เคยเกิดเหตุการณ์กับภาพของศิลปินระดับโลกอย่าง “ภาพโมนาลิซา” ของลีโอนาร์โด ดาวินชี ที่ถูกนำมาสร้างเป็นเวอร์ชันตลกในรูปแบบต่าง ๆ ลีโอนาร์โดก็คงไม่ได้มาเอาผิด ซึ่งงานของศิลปินสไตล์นี้ AI ก็เรียนรู้แล้วนำมา Generate ภาพออกมาใหม่

“ถ้าคุณไปอ่านหนังสือในห้องสมุดของ Library of Congress ทั้งหมด แล้วปราดเปรื่องเรืองปัญญา เพราะหนังสือเหล่านั้น ถามว่าผู้เขียนเจ้าของหนังสือเหล่านั้น ดำเนินการเอาผิดคุณได้หรือไม่ คุณดำเนินชีวิตด้วยคติของ “มาร์ค ทเวน” จะถือว่าเป็นการลอกหรือไม่ เรื่องแบบนี้พูดยาก มันเหมือนเป็นแรงบันดาลใจ และนำมาบิดสักหน่อย หรืออย่างนักร้องสไตล์ดนตรี ก็คล้าย ๆ กัน” ดร.ปริญญา ยกตัวอย่าง

หากเราเสพผลงานศิลปะของหลาย ๆ ศิลปิน เมื่อจรดแปรงป้ายลงผืนผ้าใบ ก็เหมือนมีกลิ่นไอของหลากหลายศิลปินลงมาอยู่บนภาพ ๆ นี้ได้ ไม่ได้ลอกผลงานมาทั้งฉบับ เป็นเพียงแรงบันดาลใจในการตวัดฝีแปรง ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็พูดยาก

AI เรียนรู้จากภาพสาธารณะมากมายมหาศาล จะทำอย่างไร แต่คนสร้าง AI โดนฟ้องแน่นอน ไม่ว่าจะ Google หรือ ChatGPT ซึ่งคนเหล่านี้ก็เกิดความเสียหายได้เรื่องของรายได้ เมื่อคนหันมาใช้ AI ด้วยตัวเองได้แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะจ้างคนทำอีกต่อไป

“คุณจดลิขสิทธิ์สไตล์ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคน หรือ AI ทำผลงานขึ้นมาใหม่ แต่คุณจดลิขสิทธิ์ภาพได้ หรือฟ้องร้องการถูกเอาผลงานลิขสิทธิ์ของผู้สร้าง ไปใช้ในการสอน AI โดยไม่ได้รับอนุญาต”

ดร.ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

ผลงานศิลปะที่สร้างจาก AI จดลิขสิทธิ์ ได้หรือไม่ ?

ดร.ปริญญา กล่าวว่า ผลงานจาก AI ไม่ใช่ผลงานที่รังสรรค์โดยมนุษย์ จึงไม่สามารถจดแจ้งลิขสิทธิ์ได้ แต่ถ้ากรณีที่เป็นการ “ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับ AI” ก็สามารถจดลิขสิทธิ์ได้

เช่น การทำการ์ตูนสักเรื่องหนึ่ง โดยที่เนื้อหาในเรื่องนั้นมนุษย์เป็นผู้คิด แล้วใช้ AI วาดภาพประกอบให้ กรณีนี้สามารถจดลิขสิทธิ์ได้ แต่ถ้า AI คิดและทำทั้งหมดแบบนี้จดไม่ได้ หรือยกตัวอย่างเช่น ให้ AI แต่งเพลงรักสักเพลง ลักษณะนี้ก็จดลิขสิทธิ์ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผลงานของมนุษย์ที่คิดค้นขึ้นมา

“ลิขสิทธิ์” มอบให้เฉพาะ “บุคคล” เท่านั้น

สอดคล้องกับที่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้อธิบายไว้ในเพจ Facebook ระบุว่า ปัจจุบันการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างเเพร่หลายในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ เขียนโปรแกรม เขียนบทความ การตั้งคำถาม ตลอดไปถึงการสร้างสรรค์ภาพ ตัวอย่างเช่นเเพลตฟอร์มที่ใช้ AI และ อัลกอริทึมการเรียนรู้มารังสรรค์ผลงานภาพตามคำค้นหาของผู้ใช้งาน เเล้วผลงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์โดย AI นั้นถือเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์หรือไม่

สำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐฯ (USCO) เผยแพร่ Guidance on copyright registration involving media crafted by artificial intelligence หรือแนวทางการจดแจ้งงานลิขสิทธิ์ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของ AI ซึ่งกำหนดว่า งานที่สร้างสรรค์โดย AI "ไม่สามารถจดแจ้งลิขสิทธิ์ได้" และหากงานลิขสิทธิ์ใดมีการสร้างสรรค์ร่วมกันทั้งโดยมนุษย์และ AI ก็จะต้องระบุให้ชัดเจนตอนยื่นขอจดแจ้งลิขสิทธิ์ด้วย

คล้ายกับกรณีภาพลิงเซลฟี่ ที่ชื่อว่า “Naruto” ศาลได้ตัดสินไว้ว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้ระบุให้สัตว์มีสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์ และกฎหมายลิขสิทธิ์มีผลเฉพาะสำหรับงานสร้างสรรค์ของมนุษย์เท่านั้น ไม่ใช่สัตว์

ดังนั้น เมื่อดูเเนวทางการตัดสินของศาลต่างประเทศเห็นว่า กฏหมายลิขสิทธิ์ มีเพื่อคุ้มครองการสร้างสรรค์ “บุคคล” เป็นหลัก ดังนั้น ในเมื่อ AI ไม่ใช่บุคคล เมื่อ AI สร้างงานขึ้นมาด้วยความรู้สึกนึกคิดของตนเอง งานนั้นจึงไม่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุด้วยว่า “ตามแนวทางของ USCO นั้น งานที่ AI ทำออกไม่มีลิขสิทธิ์ เเต่การที่เอางานที่มีลิขสิทธิ์ไปใช้เป็นองค์ประกอบของงานใหม่ ก็น่าจะเข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ กลายเป็นนอกจากผลงานที่ทำโดย AI ไม่มีลิขสิทธิ์เเล้ว ยังเป็นงานละเมิดลิขสิทธิ์อีกด้วย”

งานศิลปะจาก AI ยังคงคุณค่า หรือถูกลดทอน ?

ดร.ปริญญา กล่าวว่า งานศิลปะแต่ละชิ้นต้องแยกให้ออกว่าเป็นงาน AI ทั้งหมดเลยหรือไม่ หรือเป็นการวางเรื่องราว องค์ประกอบออกมาก่อน แล้วใช้ AI วาดลงไปใน Concept ที่ต้องการ ซึ่งปัจจุบันศิลปินหลายคนก็วาดภาพบนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แล้ว สตูจิบลิ (Studio Ghibli) ใช้คอมพิวเตอร์ Generate ภาพออกมา

“ผมมองว่า คุณค่าของงานศิลป์ที่สร้างโดย AI เป็นเรื่องของ Storytelling มากกว่า อย่างในบทภาพยนตร์ดังหลาย ๆ เรื่อง ล้วนแล้วแต่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ทั้งนั้น AI ไม่มีทางคิดได้ขนาดนี้ แต่ถ้าสอนให้เรียนรู้ในบทภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องแล้วให้ AI เขียนบทขึ้นมา ก็จะไปกวาดเอาหลาย ๆ หลาย ๆ ฉากมาผสมปนเปกัน แต่ความประณีตคงไม่เหมือนกับมนุษย์ที่สร้างสรรค์ไอเดียขึ้นมา

ดังนั้น Analytical Skill หรือ "ทักษะที่จำเป็น" ของมนุษย์ในอนาคตควรมี คือ การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ด้วยตนเองครับ”

อะไรคือ “ตรงกลาง” ระหว่าง “มนุษย์” กับ “AI”

ดร.ปริญญา กล่าวว่า มนุษยชาติในอนาคตอันใกล้จะแบ่งคนเป็น 4 ประเภท 1. คนที่ไม่เก่ง และใช้ AI ไม่เป็น  2. คนเก่ง แต่ใช้ AI ไม่เป็น 3. คนไม่เก่ง แต่ใช้ AI เป็น และ 4. คนเก่ง และใช้ AI เป็น

อนาคตต่อไป “คนที่วาดรูปไม่เก่ง แต่ใช้ AI ได้เก่ง” จะประสบความสำเร็จ ทำงานได้ดีกว่า “คนที่วาดรูปเก่ง แต่ใช้ AI ไม่เป็น” นี่คือปัญหาใหญ่ของมนุษยชาติ หากคนที่วาดรูปไม่เก่งเท่าจะหาเงินได้มากกว่าและประสบความสำเร็จทางธุรกิจมากกว่า ดูเหมือนจะไม่แฟร์กับคนที่วาดรูปเก่งกว่าแต่ใช้ AI ไม่เป็น ส่วนมนุษย์ที่วาดรูปไม่เก่งแล้วยังใช้ AI ไม่เก่ง จะหนักกว่าคนอื่น

คนที่ทำงานศิลปะในยุคที่มี AI บนโลก ควรจะปรับตัวอย่างไร ?

ดร.ปริญญา ได้ให้คำแนะนำคนที่ทำงานศิลปะในโลกยุค AI ว่า เรียนรู้การใช้งาน AI ให้เป็น และอย่าให้ AI ทำงานทั้งชิ้น แต่ให้ AI เขียนภาพประกอบ เช่น Storytelling หรือ Concept ที่ต้องการ หรือหากคิดอะไรไม่ออกให้ AI ช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้ แนะนำเป็นไกด์ไลน์ เช่น อยากจะวาดรูปเกี่ยวกับกรุงเทพมหานคร ควรจะวาดภาพอะไรดี AI ก็จะแนะนำออกมาเป็นหัวข้อ วัดพระแก้ว พระนอน วัดโพธิ์ เป็นผู้ช่วยมนุษย์

จากนั้นอยากจะ Mockup ออกมาเพื่อดูว่าเมื่อวาดแล้วจะเป็นอย่างไร ก็ลองให้ AI ช่วยร่างให้ก่อนเป็นงานคร่าว ๆ โทนสีจะออกมาเป็นอย่างไร หรือให้ AI วาดแบบร่างให้ดูเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอแบบที่ถูกใจ ก่อนที่วาดภาพนั้นออกมาด้วยตัวเอง

กฎหมายควบคุม AI ควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องใดเป็นพิเศษหรือไม่ ?

ดร.ปริญญา กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) กำลังร่วมมือกันทำจริยธรรมในการใช้ AI ขึ้นมา น่าจะเป็นจุดเริ่มต้น แต่จะพัฒนาเป็นกฎหมายหรือไม่ยังไม่ทราบ ต้องใช้เวลาอีกหลายปี อาจจะยังไม่ใช่เร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้ สำหรับการควบคุม AI ที่ควรจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษนั้น ต้องคำนึงไม่ให้ใช้ AI ในการทำผิดจริยธรรม ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หลอกลวง ทำให้เสียเงิน เสียชื่อเสียง ขณะเดียวกัน ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ในเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล และสิทธิมนุษยชน เนื่องจากทุกวันนี้ AI ถูกนำมาใช้สร้างเรื่องราวปลุกปั่น ล้างสมองจนคนเชื่อไปต่าง ๆ นานา หรือดูดข้อมูลชื่อนามสกุล ที่อยู่ รวมทั้งบทสนทนาที่พูดคุยกัน เพื่อนำไปฟีดให้เห็นโฆษณาเกี่ยวกับเรื่องราวที่สนทนาอยู่ ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องละเมิดสิทธิของมนุษย์ หรือ Human Rights อย่างยิ่ง

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อสรุปว่าการฟ้องร้องยื่นจดลิขสิทธิ์ผลงานที่ใช้ AI เป็นส่วนประกอบในการสร้างสรรค์ แนวโน้มการตัดสินของศาลในสหรัฐฯ จะออกไปในทิศทางไหน คงจะต้องติดตามต่อไป ซึ่งการตัดสินของศาลอาจจะทำให้เกิดบรรทัดฐานเกี่ยวกับการใช้ AI ออกมาก็เป็นได้
 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

7 AI ยอดฮิต ด้านศาสตร์และศิลป์ “มหกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์ 2566” หอศิลป์กรุงเทพ
รู้จัก "เซียนหมากรุก AI" ที่เรียนรู้จนเอาชนะมนุษย์ได้
สหรัฐฯ ใช้ AI วิเคราะห์ภาพ “กล้องติดตัวตำรวจ” ลดการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ
เตือนภัย ! แอปฯ - SMS แจ้งสิทธิรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่แท้มิจฉาชีพหลอกดูดเงิน

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของ #ThaiPBS ได้ที่ www.thaipbs.or.th/news/playlists/SciAndTech
--------------------------
🌏 “รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ #ThaiPBSSciAndTech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

AIกฎหมายลิขสิทธิ์AI วาดรูปงานศิลปะลิขสิทธิ์Thai PBS Sci & Tech Thai PBS Sci And Tech
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ