โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือ Coronary Artery Disease (CAD) เป็นหนึ่งในโรคอันตรายถึงชีวิตที่มักจะเกิดอย่างเงียบ ๆ กับผู้คนทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น วัยกลางคน หรือวัยสูงอายุ ทั้งนี้ CAD อาจจะมีสัญญาณบ่งบอกล่วงหน้าที่สามารถสังเกตได้ง่าย และการป้องกันแต่เนิ่น ๆ นั้นได้ผลดีกว่าการรักษาในระยะยาว
CAD รู้จักอีกชื่อในโรคหัวใจขาดเลือด (Ischemic Heart Disease: IHD) เป็นหนึ่งในโรคที่คนไทยเป็นกันมากที่สุด ปัจจัยเสี่ยงมาจากภาวะความดันสูงที่ไม่ได้รับการรักษา ภาวะอ้วน การสูบบุหรี่ มลภาวะทางอากาศ และอื่น ๆ ทั้งนี้ CAD อาจเกิดในผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงเลยก็ได้ โดยความเสี่ยงในการเกิด CAD ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตเป็นส่วนใหญ่ เช่น การไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารแปรรูปมากเกินไป รวมถึงอาหารที่มีปริมาณของไขมัน โซเดียม และน้ำตาลสูงเกินไป
ความผิดปกติหลักของโรคหลอดเลือดหัวใจ (CAD) คือภาวะหลอดเลือดแดงแข็งหรือหลอดเลือดแดงตีบจากไขมันสะสม ซึ่งเรียกว่า Atherosclerosis ภาวะนี้เริ่มต้นจากความเสียหายหรือการระคายเคืองที่เยื่อบุชั้นในสุดของหลอดเลือด (Endothelium) ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ เช่น ระดับคอเลสเตอรอลประเภทแอลดีแอลสูง ภาวะความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ ภาวะดื้อต่ออินซูลินหรือเบาหวาน และการอักเสบเรื้อรังในร่างกาย
เมื่อเยื่อบุผนังหลอดเลือดเกิดความเสียหาย แอลดีแอลจะซึมผ่านผนังหลอดเลือดเข้าไปในหลอดเลือดชั้นกลาง (intima) และเกิดออกซิเดชัน ซึ่งกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน
เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาจ (Macrophage) จะถูกดึงดูดเข้ามาที่บริเวณที่มีแอลดีแอลเกิดการออกซิไดซ์ เม็ดเลือดขาวชนิดนี้จะกำจัดแอลดีแอลที่เสียสภาพไปด้วยการ “กิน” แต่เมื่อกินเข้าไปมาก ๆ จะกลายเป็น Foam Cell ซึ่งเป็นเซลล์ไขมันที่บวมพองและตายไปในที่สุด กลายเป็นศูนย์กลางของการอักเสบเรื้อรัง
กระบวนการนี้จะทำให้เกิดคราบพลาค (Plaque) ซึ่งเป็นคราบไขมันประกอบด้วยเซลล์ตาย ไขมัน และเนื้อเยื่อแผลเป็นที่พอกหนาขึ้นเรื่อย ๆ เรียกว่า “Atheromatous Plaque” และอาจพัฒนาเป็น Fibrous Cap หรือ “ฝา” ที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อพยายามปิดปากแผล แต่หาก Cap นี้บางหรือแตกออก จะกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือด (Thrombus) ได้ทันทีซึ่งมักจะอุดตันเส้นเลือดแบบสมบูรณ์ (Blockage) อันเป็นสาเหตุสำคัญของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Myocardial Infarction: MI) หรือ “Heart Attack”
หากไม่เกิดการแตกออกของ Fibrous Cap ร่างกายจะพยายามซ่อมแซมผนังหลอดเลือดเรื่อย ๆ แต่ตราบใดที่มีไขมันในเลือดสูงอยู่ตลอด กระบวนการอักเสบและการสะสมของคราบไขมันจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีโอกาสหาย ทำให้ผนังหลอดเลือดหนาขึ้นหรือตีบแคบลงเรื่อย ๆ จนนำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือดในที่สุด (IHD)
ในผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากการอุดตันฉับพลันของหลอดเลือดหัวใจ มักแสดงอาการด้วย อาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน ซึ่งอาจร้าวไปที่แขนซ้าย คอ หรือกรามได้ การรักษาที่สำคัญที่สุดคือการรีบส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพราะ “เวลา” คือหัวใจ ยิ่งรักษาเร็ว โอกาสรอดและฟื้นตัวของกล้ามเนื้อหัวใจก็จะยิ่งสูง เมื่อถึงโรงพยาบาล แพทย์จะเริ่มให้การรักษาเบื้องต้น เช่น ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytics) เพื่อสลายลิ่มเลือดที่อุดตัน ยาต้านการแข็งตัวของเลือด และ ยาต้านเกล็ดเลือด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดใหม่
หลังจากนั้นแพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยหัตถการ Percutaneous Coronary Intervention (PCI) ซึ่งคือการสวนหลอดเลือดหัวใจโดยใช้สายสวนผ่านทางขาหนีบหรือข้อมือ แล้วนำขดลวดถ่างหลอดเลือด (Coronary Stent) ไปขยายบริเวณที่ตีบหรืออุดตัน เพื่อให้เลือดกลับมาไหลเวียนได้ตามปกติ ถือเป็นการรักษามาตรฐานในผู้ป่วย MI เนื่องจากเป็นหัตถการที่มีความเสี่ยงต่ำและสามารถทำได้เร็ว นอกจากนี้ PCI ยังสามารถทำในผู้ป่วยที่ยังไม่ได้เกิด MI แต่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันในอนาคต เช่น มีการตรวจพบหลอดเลือดตีบผ่านการฉีดสีหรือมีอาการเจ็บหน้าอกเรื้อรัง
หากไม่สามารถใช้วิธี PCI ได้ เช่น กรณีที่หลอดเลือดอุดตันหลายตำแหน่งหรือซับซ้อนมาก แพทย์อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือ Coronary Artery Bypass Graft (CABG) โดยใช้เส้นเลือดจากส่วนอื่นของร่างกาย เช่น เส้นเลือดจากขา (Saphenous Vein) หรือ เส้นเลือดจากหน้าอก (Internal Mammary Artery) มาต่อทางเบี่ยงให้เลือดไหลผ่านไปยังกล้ามเนื้อหัวใจโดยไม่ต้องผ่านจุดที่อุดตัน ถือเป็นการผ่าตัดใหญ่และมักใช้ในกรณีที่ PCI ไม่เพียงพอ
เรียบเรียงโดย
Chottiwatt Jittprasong
Prince of Wales Hospital
Department of Orthopaedics & Traumatology
The Chinese University of Hong Kong
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech