ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“เห็บหมัดหมา-แมว” อันตรายหน้าฝน ที่ทาสหมา-ทาสแมวต้องใส่ใจ (เป็นพิเศษ)


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

จิราภพ ทวีสูงส่ง

แชร์

“เห็บหมัดหมา-แมว” อันตรายหน้าฝน ที่ทาสหมา-ทาสแมวต้องใส่ใจ (เป็นพิเศษ)

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2942

“เห็บหมัดหมา-แมว” อันตรายหน้าฝน ที่ทาสหมา-ทาสแมวต้องใส่ใจ (เป็นพิเศษ)

“ฤดูฝน” บวกกับพายุเข้า ฝนตกแทบจะทุกวัน นอกจากเราต้องดูแลสุขภาพตัวเองแล้ว สำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยงอย่างเช่น ทาสหมา ทาสแมว ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะเห็บหมัดหมา-แมว คืออีกหนึ่งอันตรายที่มักมากับหน้าฝน เนื่องจากอากาศเย็น ๆ ชื้น ๆ เป็นห้วงเวลาที่เหมาะแพร่พันธุ์วางไข่ของเจ้าเห็บ ซึ่งจะเติบโตได้ดีกว่าฤดูอื่นมากถึง 70% เลยทีเดียว ดังนั้น เรามาใส่ใจไม่มองข้าม “เจ้าเห็บตัวจิ๋ว” ที่อาจเป็นปัญหาใหญ่สำหรับหมา-แมวของเรากันเถอะ

เห็บ ภาพจาก Heriberto Verdugo M. & Darby S. Murphy

พาไปรู้จักวงจรชีวิตของเห็บหมัดหมา-แมว

เห็บ

ช่วงจีบกัน : ในช่วงแรกนี้เห็บจะเริ่มจีบกันอย่างมีความสุขและผสมพันธ์กันบนตัวของน้องหมา

ช่วงวางไข่ : เมื่อผ่านช่วงผสมพันธ์แล้วเห็บตัวเมียจะมีไข่ที่เต็มท้องและเริ่มดูดเลือดจากน้องหมาให้อิ่มและทิ้งตัวจากน้องหมาลงสู่พื้นเห็บไม่ได้วางไข่แค่เพียงตัวน้องหมายังวางไข่ตามที่ต่าง ๆ เช่น สนามหญ้า หรือที่ชื้น ๆ

 

ช่วงหนูเป็นสาวแล้ว : จากไข่เล็ก ๆ จะเริ่มฝักกลายเป็นตัวอ่อนที่มี6ขาแล้วคอยหาน้องหมาขึ้นเกาะเพื่อดูดเลือดและเมื่อตัวอ่อนดูดเลือดจนอิ่มแล้วจะทิ้งตัวจากน้องหมาเป็นครั้งที่ 2 และลอกคราบโตเป็นตัวกลางวัยที่มี 8 ขา

ช่วงพร้อมออกเจอโลกใบใหม่ : เห็บที่เป็นตัวกลางวัยจะคอยหาน้องหมาเพื่อดูดเลือดอีกครั้งและเมื่อกินจนอิ่มจะทิ้งตัวลงจากน้องหมาลงเป็นครั้งที่ 3 และลอกคราบเป็นตัวโตวัยที่มี 8 ขา

ภาพวาด "หมัด"

หมัด

หมัดจะติดอยู่ที่ตัวของสัตว์ตลอดชีวิตถ้าออกจากสัตว์จะตายไปในที่สุด

แหล่งหลบซ่อนและแพร่เชื้อของเห็บและหมัด

บนตัวสัตว์เลี้ยง

เห็บ : ใบหู, รอบดวงตา, ใต้ปลอกคอ, ซอกนิ้วเท้า, รักแร้
หมัด : ทั่วตัว โดยเฉพาะหลังส่วนท้าย, โคนหาง, ท้อง, คอ

ในบ้าน

- ที่นอนและบริเวณที่สัตว์เลี้ยงพักผ่อน
- พรมและผ้าม่าน, เฟอร์นิเจอร์หุ้มเบาะ
- รอยแตกและซอกหลับตามพื้นผนัง

นอกบ้าน

- พงหญ้าและพุ่มไม้, บริเวณที่ชื้น และร่มเงา
- บ้านหรือกรงสัตว์เลี้ยงกลางแจ้ง

สัญญาณอันตรายจากเห็บหมัดหมา-แมวที่คนเลี้ยงต้องสังเกต

- สัตว์เลี้ยง เช่น หมา แมว เกาตัวบ่อยผิดปกติ
- มีรอยแดงหรือตุ่มนูนตามผิวหนัง
- พบขี้ เห็บหมัด สีดำตามขนสัตว์
- สัตว์เลี้ยงซึม เบื่ออาหาร
- เห็นเห็บหมัดเดินตามตัวสัตว์

อันตรายจากเห็บหมัดที่เกิดกับหมา-แมว

สำหรับเห็บและหมัดไม่ได้เป็นเพียงปรสิตที่สร้างความรำคาญ แต่ยังเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสุขภาพของหมาและแมว การดูดเลือดของปรสิตเหล่านี้สามารถนำไปสู่ปัญหาผิวหนัง ภาวะโลหิตจาง และที่สำคัญคือการเป็นพาหะนำโรคร้ายแรงหลายชนิด

ปัญหาผิวหนังและการแพ้ อาการคัน ผื่นแดง และโรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด (FAD)

การกัดของเห็บและหมัดทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังโดยตรง นำไปสู่อาการคัน สัตว์เลี้ยง เช่น หมา แมว จะเกา เลีย หรือกัดบริเวณที่ถูกกัด ซึ่งหากทำซ้ำ ๆ จะทำให้ผิวหนังถลอก อักเสบ และอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราแทรกซ้อนได้ ปัญหาที่พบบ่อยและสร้างความทรมานให้สัตว์เลี้ยงอย่างมากคือ โรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด (Flea Allergy Dermatitis - FAD) ซึ่งเป็นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกายสัตว์เลี้ยงต่อโปรตีนในน้ำลายหมัด  

สัตว์เลี้ยงที่เป็น FAD จะมีอาการคันอย่างรุนแรง แม้จะมีหมัดบนตัวเพียงไม่กี่ตัวก็ตาม ซึ่งหลักการนี้มักถูกเรียกว่า "หมัดตัวเดียวก็เกินพอ" สำหรับสัตว์ที่แพ้ อาการที่สังเกตได้ชัดเจนคือ ผิวหนังแดงอักเสบ มีตุ่มผื่น สะเก็ดแผล และขนร่วง โดยเฉพาะบริเวณหลังส่วนท้าย โคนหาง ต้นขาด้านใน และหน้าท้อง อาการคันที่รุนแรงนี้จะกระตุ้นให้สัตว์เลี้ยง เช่น หมา แมว เกาและเลียตัวเองไม่หยุด ก่อให้เกิด “วงจรคัน-เกา” (Itch-Scratch Cycle) ที่ทำให้ผิวหนังยิ่งถูกทำลาย เกิดการอักเสบมากขึ้น และเปิดทางให้เชื้อแบคทีเรียหรือยีสต์ที่อาศัยอยู่บนผิวหนังตามปกติ หรือจากสิ่งแวดล้อม เข้าไปก่อโรคแทรกซ้อน ทำให้จากปัญหาการแพ้ธรรมดากลายเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่รักษาได้ยากและสร้างความเจ็บปวดให้สัตว์เลี้ยงอย่างมาก  

ส่วนการกัดของเห็บบางชนิดยังอาจทำให้เกิดภาวะ “อัมพาตจากเห็บ” (Tick Paralysis) ซึ่งเกิดจากสารพิษในน้ำลายเห็บที่ส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้สัตว์เลี้ยง เช่น หมา แมว มีอาการขาอ่อนแรง และอาจลุกลามจนเป็นอัมพาตทั้งตัว หากไม่รีบนำเห็บออก อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้  

ภาวะโลหิตจาง

เห็บและหมัดดำรงชีวิตด้วยการดูดเลือดของสัตว์เลี้ยงเป็นอาหาร หากสัตว์เลี้ยงมีปรสิตเหล่านี้เกาะกินเลือดในปริมาณมากและเป็นเวลานาน จะทำให้ร่างกายสูญเสียเลือดอย่างต่อเนื่องจนเกิดภาวะโลหิตจาง (Anemia) ภาวะนี้เปรียบเสมือน “การสูบเลือดอย่างเงียบ ๆ” ที่ค่อย ๆ บั่นทอนสุขภาพของสัตว์เลี้ยง เช่น หมา แมว อาการเริ่มแรกอาจไม่ชัดเจน เช่น ซึมเล็กน้อย เหงือกซีดลงเล็กน้อย แต่เมื่อภาวะโลหิตจางรุนแรงขึ้น สัตว์เลี้ยงจะแสดงอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เหงือก ลิ้น หรือเปลือกตาด้านในจะซีดขาวอย่างเห็นได้ชัด หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว และอาจถึงขั้นช็อกหรือเสียชีวิตได้  

กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะโลหิตจางจากเห็บหมัด ได้แก่ ลูกหมาและลูกแมว (เนื่องจากมีปริมาณเลือดในร่างกายน้อย) สัตว์เลี้ยงพันธุ์เล็ก สัตว์เลี้ยงสูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงที่มีสุขภาพอ่อนแออยู่แล้ว ในกรณีที่การระบาดรุนแรง อาจจำเป็นต้องได้รับการถ่ายเลือดเพื่อช่วยชีวิต  

โรคติดต่อร้ายแรงที่มากับเห็บ

“เห็บ” เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญและอันตรายหลายชนิด ทั้งเชื้อแบคทีเรีย โปรโตซัว และริกเก็ตเซีย ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้จะเข้าสู่กระแสเลือดของสัตว์เลี้ยงผ่านทางน้ำลายของเห็บขณะดูดเลือด หรือในบางกรณี เช่น โรคเฮปาโตซูโนซิส เกิดจากการที่หมากินเห็บที่มีเชื้อเข้าไป นับเป็นหลักการ “กัดครั้งเดียว เสี่ยงหลายโรค” เนื่องจากเห็บตัวเดียวอาจมีเชื้อโรคมากกว่าหนึ่งชนิด และการติดเชื้อร่วม (Co-infection) ทำให้การวินิจฉัยและรักษามีความซับซ้อนยิ่งขึ้น  

โรคจากเห็บที่สำคัญในหมา

- โรคพยาธิเม็ดเลือดเออร์ลิชิโอซิส (Ehrlichiosis) เกิดจากเชื้อ Ehrlichia canis ที่ทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว อาการมีได้หลากหลาย เช่น ซึม เบื่ออาหาร มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต เลือดออกง่าย (เช่น เลือดกำเดาไหล มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง) และภาวะโลหิตจาง หากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะเรื้อรังและเสียชีวิตได้  

- โรคพยาธิเม็ดเลือดบาบีซิโอซิส (Babesiosis) เกิดจากเชื้อโปรโตซัว Babesia spp. ที่ทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางรุนแรง มีไข้ ซึม อ่อนแรง เหงือกซีด ดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาเหลือง) และปัสสาวะสีเข้มคล้ายสีโค้กหรือสีชา  

- โรคพยาธิเม็ดเลือดอะนาพลาสโมซิส (Anaplasmosis) เกิดจากเชื้อ Anaplasma spp. อาการคล้ายเออร์ลิชิโอซิส อาจมีอาการปวดข้อและกล้ามเนื้อร่วมด้วย  

- โรคพยาธิเม็ดเลือดเฮปาโตซูโนซิส (Hepatozoonosis) เกิดจากเชื้อ Hepatozoon canis สุนัขติดเชื้อจากการกินเห็บที่มีเชื้อเข้าไป อาการเด่นคือ มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อและกระดูกอย่างรุนแรง เดินลำบาก ซูบผอม และอาจมีขี้ตาข้น  

- โรคไลม์ (Lyme Disease) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Borrelia burgdorferi แม้จะพบน้อยในประเทศไทยเมื่อเทียบกับเขตหนาว แต่ก็ยังเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง สุนัขอาจแสดงอาการหลังติดเชื้อนาน 2-5 เดือน เช่น มีไข้ เดินกะเผลก ข้ออักเสบบวม หรือต่อมน้ำเหลืองโต ในบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่ไต (Lyme nephropathy) ซึ่งมักเป็นอันตรายถึงชีวิต  

โรคจากเห็บที่สำคัญในแมว (โดยทั่วไปพบน้อยกว่าในสุนัข แต่มีความรุนแรงได้)

- โรคไซทอกโซโอโนซิส (Cytauxzoonosis) เกิดจากเชื้อโปรโตซัว Cytauxzoon felis เป็นโรคร้ายแรงในแมว มีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก อาการคือ มีไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร หายใจลำบาก และดีซ่าน  

- โรคติดเชื้อมายโคพลาสมา ฮีโมฟีลิส (Mycoplasma haemofelis) หรือโรคโลหิตจางจากการติดเชื้อในแมว (Feline Infectious Anemia - FIA) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ทำลายเม็ดเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ซึม เบื่ออาหาร และเหงือกซีด  

- โรคทูลารีเมีย (Tularemia) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Francisella tularensis แมวมีความไวต่อเชื้อนี้สูง อาการคือ มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองบวม และอาจมีแผลที่ผิวหนัง  

ภัยจากเห็บไม่ได้จำกัดอยู่แค่สัตว์เลี้ยงเท่านั้น โรคบางชนิด เช่น โรคไลม์ และโรคทูลารีเมีย เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonoses) โดยคนมักติดเชื้อจากการถูกเห็บที่มีเชื้อกัดเช่นกัน การที่สัตว์เลี้ยงมีเห็บจึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่คนในบ้านจะสัมผัสกับเห็บที่มีเชื้อโรคเหล่านี้ได้ การควบคุมเห็บบนตัวสัตว์เลี้ยงจึงมีความสำคัญต่อสุขภาพของคนในครอบครัวด้วย  

โรคติดต่อร้ายแรงที่มากับหมัด

หมัดก็เป็นพาหะนำโรคที่สำคัญไม่แพ้เห็บ นอกเหนือจากโรคภูมิแพ้น้ำลายหมัด (FAD) ที่กล่าวไปแล้ว หมัดยังสามารถนำเชื้อโรคและพยาธิเข้าสู่ร่างกายสัตว์เลี้ยง เช่น หมา แมว ได้ผ่าน “อันตรายจากการกิน” กล่าวคือ สัตว์เลี้ยงอาจกินหมัดที่มีเชื้อเข้าไปในระหว่างการเลียทำความสะอาดตัวเอง

โรคจากหมัดที่สำคัญ

- โรคพยาธิตัวตืด (Tapeworm Infection - Dipylidium caninum) เป็นปัญหาที่พบบ่อยมากในสัตว์เลี้ยงที่มีหมัด ตัวอ่อนหมัดกินไข่พยาธิตัวตืดเข้าไป เมื่อสัตว์เลี้ยงเลียขนแล้วเผลอกินหมัดที่มีตัวอ่อนพยาธิเข้าไป พยาธิจะเจริญเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้ของสัตว์เลี้ยง เจ้าของอาจสังเกตเห็นปล้องพยาธิลักษณะคล้ายเมล็ดแตงกวาแห้ง ๆ หรือเม็ดข้าวสารติดอยู่ตามขนบริเวณก้นของสัตว์เลี้ยง หรือปนออกมากับอุจจาระ  

- โรคติดเชื้อมายโคพลาสมา ฮีโมฟีลิส (Mycoplasma haemofelis) ในแมว ดังที่กล่าวไปในส่วนของโรคจากเห็บ เชื้อนี้สามารถถ่ายทอดโดยหมัดได้เช่นกัน และเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลหิตจางในแมว  

- โรคบาร์โทเนลโลซิส (Bartonellosis) เชื้อ Bartonella henselae ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคแมวข่วน (Cat Scratch Disease) ในคน สามารถถ่ายทอดระหว่างแมวโดยมีหมัดเป็นพาหะสำคัญ แมวที่ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อสู่คนได้ผ่านการข่วนหรือกัด  

- ภาวะโลหิตจาง เช่นเดียวกับเห็บ การระบาดของหมัดจำนวนมากก็สามารถทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดภาวะโลหิตจางจากการเสียเลือดได้ โดยเฉพาะในลูกสัตว์และสัตว์ขนาดเล็ก

“หมอจอย” สพ.ญ.วริษฐา โตศักดิ์สิทธิ์ สัตวแพทย์ประจำศูนย์โรคผิวหนังและภูมิแพ้ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ

เจาะ Insight ทำไม ? “เห็บหมัดหมา-แมว” ชุกช่วงหน้าฝน

ในประเด็นนี้ Thai PBS Sci & Tech ได้ “หมอจอย” สพ.ญ.วริษฐา โตศักดิ์สิทธิ์ สัตวแพทย์ประจำศูนย์โรคผิวหนังและภูมิแพ้ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ มาให้ความรู้อย่างน่าสนใจว่า ในช่วงฤดูฝนจะมีความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม จะช่วยเร่งการเจริญเติบโตของเห็บและหมัดให้ใช้ระยะเวลาสั้นลง

โดยปกติเห็บ 1 ตัวสามารถวางไข่ได้เฉลี่ย 1,500 – 4,000 ฟอง ใช้เวลา 6 วันถึงหลายสัปดาห์ในการฟักไข่ ส่วนหมัดใช้เวลาเพียง 1.5 – 10 วัน แต่ด้วยอุณหภูมิ ความชื้น และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม จะทำให้มีการฟักไข่ได้เร็ว และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของตัวอ่อน เจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยจำนวนมากเพื่อวางไข่ต่อไป จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรเห็บและหมัดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

อันตรายจาก “เห็บหมัดหมา-แมว” ที่หลายคนอาจไม่รู้  

“หมอจอย” อธิบายให้ฟังอย่างเห็นภาพว่า เห็บและหมัดมีหลายสปีชีส์ และพบในถิ่นที่ต่างกันหลากหลายมาก แต่ละสปีชีส์ก็มีความสามารถนำโรคสู่คนและสัตว์ต่างกัน อย่างในไทย จะพบเห็บชนิด Rhipicephalus spp. มากที่สุด ซึ่งอันตรายของมันก็เกิดได้ทั้งกับคนและสัตว์ โดยเฉพาะกับน้องหมา นอกจากจะดูดเลือดสุนัขเพื่อเป็นอาหารแล้ว ยังเป็นพาหะนำโรคที่รุนแรงได้หลายโรคด้วย เช่น

     • โรคพยาธิเม็ดเลือด Ehrlichiosis, Anaplasmosis ในสุนัขเราอาจจะเจอความรุนแรงต่างกันไปในแต่ละตัว มีตั้งแต่ ซึม เบื่ออาหาร มีไข้ ภาวะโลหิตจางเล็กน้อย - มาก มีเลือดออกตามที่ต่าง ๆ เช่น ผิวหนัง เลือดกำเดาไหล กดการทำงานของไขกระดูก หรือรุนแรงถึงขั้นกระตุ้นภูมิคุ้มกันทำลายเม็ดเลือดตนเองได้ ซึ่งหากรุนแรงมากต้องได้รับการถ่ายเลือดและรับการรักษาที่ทันท่วงที มิฉะนั้นอาจส่งผลถึงแก่ชีวิตได้

     • โรคพยาธิเม็ดเลือด Babesiosis ซึ่งเป็นโรคที่มีอุบัติการ์ณสูงและมีความสำคัญกับสัตว์เศรษฐกิจของไทย สามารถติดได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หมา แมว หนู วัวหรือควายส่งผลต่อคุณภาพการผลิตทางด้านปศุสัตว์เป็นอย่างมาก

     • โรคที่ติดต่อสู่คน เช่น Lyme disease เป็นโรคที่เกิดจากการโดนเห็บที่มีเชื้อกัด อาการจะไม่จำเพาะ มีผื่นคันแดงขยายเป็นวงกว้าง หรือรุนแรงถึงมีไข้ ปวดตัวปวดศีรษะ เมื่อยล้า ซึ่งปัจจุบันพบการแพร่ระบาดแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ในเอเชียพบที่ จีน มองโกเลีย เกาหลีใต้ ยังไม่พบรายงานโรคนี้ในไทย

ส่วนหมัดมักก่อให้เกิดความยุ่งยากเพราะการจัดการที่ยาก ต้องทำการป้องกันตลอดปี เพราะวงชีวิตส่วนมากจะอยู่ในสิ่งแวดล้อม ตัวเต็มวัยสามารถอยู่โดยไม่ดูดเลือดจาก Host (หมาและแมว) ได้นาน 3-4 วัน โอกาสเจอบนตัวน้องหมาและแมวนั้นน้อยมาก ๆ จึงทำให้เจ้าของมองข้ามความสำคัญ หมัดมักก่อปัญหาเรื่องของอาการทางผิวหนัง เริ่มจากหมัดกัดและดูดเลือดของน้องหมาและแมวทำการผสมพันธุ์และวางไข่ ทำให้เกิดการระคายเคือง, คัน, เกา หรือมีอาการรุนแรงในรายที่แพ้น้ำลายหมัด จะคันรุนแรงและคันเป็นวงกว้าง ขนร่วงจนโล้น จนบางทีไม่สามารถกินหรือเล่นได้ตามปกติ เพราะคันตลอดเวลา

ซึ่งเจ้าของมักจะไม่พบหรือเห็นตัวหมัดเลยก็เป็นไปได้ หากน้องแมวเผลอเลียตัว และกลืนหมัดเข้าไปก็มีโอกาสติดพยาธิทางเดินอาหาร Dipylidium caninum หรือที่เรียกว่า “พยาธิตืดแตงกวา” (ลักษณะปล้องจะคล้ายเมล็ดแตงกวา) ซึ่งสามารถส่งต่อมาสู่คนได้ นอกจากนี้หมัดยังเป็นพาหะนำโรคติดเชื้อรุนแรงที่สำคัญในคน คือกาฬโรค (Plague) เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ติดเชื้อโดยการโดนหมัดที่มีเชื้อกัด อาการจะมีไข้ หนาวสั่น และต่อมน้ำเหลืองโต หรืออีกโรคที่พบได้มาก คือโรค cat scratch disease โดยน้องแมวจะได้รับเชื้อมาจากหมัด และไม่แสดงอาการป่วยใด ๆ เลย แต่ส่งต่อสู่คนโดยผ่านการกัด/ข่วน/เลียบริเวณแผล ทำให้บริเวณที่โดนกัดมีตุ่มหนองเกิดขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโต ทำให้สับสนกับโรคอื่น โดยมากจะหายได้ใน 2-4 สัปดาห์ แต่อาจมีอาการรุนแรงได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

แนวทางป้องกันน้องหมาน้องแมวจากเห็บหมัด

สำหรับเรื่องนี้ “หมอจอย” กล่าวว่า ควรเลี้ยงระบบปิด ดูแลสุขภาพ และตรวจสอบความผิดปกติของสัตว์เลี้ยง เช่น หมา แมว อยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือไปสถานที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาด เช่น pet park/สวนสาธารณะ/โรงพยาบาล/โรงแรม หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สามารถเจอเพื่อนขาจร เลี้ยงหลายตัวหรือแชร์พื้นที่ร่วมกับตัวอื่น ให้หมั่นตรวจสอบและทำความสะอาดบริเวณที่เลี้ยง และบริเวณตัวสัตว์อย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะเมื่อออกไปข้างนอกหรือสถานที่สาธารณะ อาบน้ำทำความสะอาด/ตรวจสอบบริเวณง่ามเท้า ขา ที่ตัว ใบหูว่ามีเห็บติดกลับมาหรือไม่

ป้องกันเห็บและหมัดแพร่กระจายในครัวเรือน โดยใช้ยาป้องกันเห็บหมัดที่มีประสิทธิภาพ และใช้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยหลากลายรูปแบบ ทั้งแบบกิน/แบบหยดหลัง หรือแบบปลอกคอ เจ้าของสามารถเลือกใช้ได้ตามสะดวก แต่ละแบบก็มีข้อดีและข้อเสียต่างกัน ควรปรึกษาสัตวแพทย์ เพื่อพิจารณาเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสมและปลอดภัยกับน้อง ๆ แต่ละตัว

สิ่งที่อยากฝากถึงคนเลี้ยงหมา-แมว

ส่งท้าย “หมอจอย” ฝากถึง ทาสหมา ทาสแมวว่า ปัจจุบันเราเลี้ยงสัตว์เลี้ยง เช่น หมา แมว เป็นครอบครัว ต้องดูแลทั้งเรื่องอาหาร การรักษา และการเข้าสังคม การดูแลและให้ความสำคัญของแต่ละบ้านนั้น เข้มงวดต่างกัน เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงทั้งของตัวสัตว์และเจ้าของ อยากให้การป้องกันเห็บหมัดเป็นหนึ่งในพื้นฐานการดูแลสัตว์เลี้ยงของบ้านเรา

เพราะในปัจจุบันประเทศไทยยังถือว่าเป็นพื้นที่ที่ยังมีปัญหาเห็บหมัด และตรวจเจอโรคที่ได้รับมาจากเห็บและหมัดไม่น้อย การดูแลป้องกันความเสี่ยงจึงสำคัญมาก และยังช่วยลดจำนวนการแพร่กระจายของเห็บและหมัดได้ในทางอ้อมด้วย หากทุก ๆ คนให้ความสำคัญและดูแลป้องกันเห็บหมัดเป็นประจำสม่ำเสมอ เชื่อว่าในอนาคตโรคร้ายที่มากับเห็บจะลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งคนเลี้ยงและสัตว์เลี้ยง

นอกจากนี้การดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงพื้นฐาน ต้องมีการทำวัคซีนให้ครบ และกระตุ้นภูมิคุ้มกันอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะวัคซีนพิษสุนัขบ้า ควรทำเป็นประจำทุกปี เนื่องจากเป็นโรคติดต่อร้ายแรง หากได้รับเชื้อและแสดงอาการ เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็วทั้งคนและสัตว์ เรื่องสุดท้ายที่อยากฝากคือ เรื่องโภชนาการอาหาร สัตว์เลี้ยง เช่น หมา แมว ก็เป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่ง สามารถอ้วนได้ ป่วยได้ ปัจจุบันนี้อาหารหลัก อาหารเสริม และขนมมีมากมายตอบสนองความต้องการผู้เลี้ยง แต่อย่างไรก็ดี สัตว์เลี้ยงทุกตัวควรได้รับสารอาหารที่เพียงพอและเหมาะสม ไม่มากไม่น้อยเกินไป และพาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การดูแลที่ถูกต้อง จะส่งผลให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพที่ดี ลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยได้มาก ๆ เลย

รู้จัก 3 เรื่อง ที่หลายคนอาจเข้าใจผิดเรื่องเห็บหมัดหมา-แมว

เปลี่ยนความเชื่อผิด ๆ เพราะอาจทำให้สัตว์เลี้ยงของคุณเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต ความรู้จากโรงพยาบาลสัตว์ปากเกร็ด

1. หมาก็มีเห็บหมัดเป็นธรรมดา มันเป็นของคู่กัน

ผิด ! เพราะน้องหมาน้องแมวที่แข็งแรง ไม่ควรมีเห็บหมัด เพราะมันเป็นพาหะนำโรคพยาธิในเม็ดเลือด ที่อาจทำให้เกิดภาวะเลือดจาง อวัยวะอักเสบ และถึงขั้นเสียชีวิตได้

2. คอยหยิบเห็บออกจากตัวให้หมาตลอด ไม่ต้องกินยาป้องกันหรอก

เข้าใจผิด ! ถึงดึงเห็บออก แต่ถ้ามันกัดไปแล้ว น้องหมาก็มีโอกาสได้รับเชื้อไปแล้ว เพราะฉะนั้น การป้องกันที่ดีที่สุดคือการให้ยากำจัดเห็บหมัดอย่างต่อเนื่อง + ดูแลสิ่งแวดล้อมให้สะอาด

3. เลี้ยงในบ้านตลอด ไม่เคยเห็นเห็บ แล้วจะติดโรคจากเห็บได้อย่างไร ?

อย่าเพิ่งวางใจ ! เพราะเห็บหมัดอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ถ้าพาน้องหมาน้องแมวไปเดินเล่น หรือมีสัตว์อื่นในบริเวณบ้าน ก็ยังมีโอกาสโดนกัดและติดเชื้อได้

เห็บ ภาพจาก กรมการแพทย์

เรื่องน่ารู้ : “เห็บ-หมัด-ไร” สามารถสร้างปัญหาให้กับคนด้วยนะ

     – เห็บ : ทำให้เกิดโรค Ehrlichiosis มีผลต่อปริมาณเกล็ดเลือดและเม็ดเลือดขาว ทำให้คนมีอาการไข้ ตัดซีดมีภาวะแทรกซ้อนถึงแก่ชีวิตได้

     – หมัด : ทำให้เกิดเป็นตุ่มแดงบนผิวหนังของคนและคันมาก ๆ

     – ไรขี้เรื้อนเปียก : ส่งผลกระทบด้านสุขอนามัย จากสารคัดหลั่งจากสุนัขที่เป็นโรคไร้ขี้เรื้อนเปียก และเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามาก เนื่องจากมักเป็นเรื้อรัง คือเป็น ๆ หาย ๆ รักษาหายแล้วหากไม่ดูแลเรื่องความสะอาดก็อาจกลับมาเป็นอีกซ้ำ ๆ

     – ไรขี้เรื้อนแห้ง : ติดต่อสู่คนจากการสัมผัส ทำให้เกิดผื่นแดงและคัน

     – ไรในหู : มีโอกาสติดต่อสู้คนได้


📌อ่าน : “เห็บกัด” อาจทำให้เสียชีวิตได้ จากโรคไข้สูงเกล็ดเลือดต่ำ (SFTS)


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ, Simple & Complete Protection, สพ.ญ.วริษฐา โตศักดิ์สิทธิ์

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เห็บหมัดเห็บหมัดหมาเห็บหมัดแมวเห็บเห็บสุนัขเห็บหมัดเห็บหมาหมัดแมวทาสแมวทาสหมาหมาสุนัขCatDogวิทย์น่ารู้วิทยาศาสตร์น่ารู้วิทยาศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Scienceสัตว์เลี้ยงหน้าฝนฤดูฝนฝนตกฝนตกหนักโรคหน้าฝนป่วยหน้าฝน
จิราภพ ทวีสูงส่ง

ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

"เซบา บาสตี้" เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส คนทำงานด้านการเขียน : Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphobT@thaipbs.or.th)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด