ผลงานกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (JWST) ขององค์การนาซา (NASA) เมื่อนักดาราศาสตร์ ตรวจพบ “คาร์บอนไดออกไซด์” (CO2) บริเวณพื้นที่บางแห่งบนพื้นผิวน้ำแข็งของดวงจันทร์ยูโรปา (Europa) หนึ่งในบริวารดาวพฤหัสบดี โดยมีการประเมินว่า ดวงจันทร์นี้มีสภาพเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตมากที่สุด
ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์พบว่า สารประกอบคาร์บอนเหล่านี้น่าจะมีแหล่งที่มาจากมหาสมุทรใต้เปลือกน้ำแข็ง และไม่ได้มาจากอุกกาบาตหรือปัจจัยภายนอกอย่างอื่น นอกจากนี้ ยังพบว่าการทับถมสะสมตัวของสารประกอบคาร์บอนนี้ถือว่าเกิดขึ้นมาใหม่มาก (ในสเกลเวลาทางธรณีวิทยา) การค้นพบครั้งนี้จึงมีความสำคัญมากต่อการศึกษาความเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรของ “ดวงจันทร์ยูโรปา”
สำหรับการตรวจพบ CO2 นั้น ทำได้โดยใช้ข้อมูลจากอุปกรณ์วัดสเปกตรัมในรังสีอินฟราเรดช่วงใกล้ (NIRSpec) อุปกรณ์ตัวนี้ให้ข้อมูลสเปกตรัมด้วยความละเอียดพิกเซลละ 320 x 320 กิโลเมตรบนพื้นผิวดวงจันทร์ยูโรปา (ตัวดาวมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3,122 กิโลเมตร) ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถประเมินได้ว่าสารเคมีชนิดต่าง ๆ อยู่บนพื้นที่ใดของดวงจันทร์ยูโรปานั่นเอง
ด้วยความที่โลกของเรา สิ่งมีชีวิตมีความหลากหลายทางเคมี โดยมนุษย์เองก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสารคาร์บอนเป็นองค์ประกอบพื้นฐาน ดังนั้นการทำความเข้าใจเรื่องเคมีของมหาสมุทรของ “ดวงจันทร์ยูโรปา” จะช่วยให้เราประเมินสภาพได้ว่า ดวงจันทร์ดวงนี้เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตมากน้อยแค่ไหนอย่างไร
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ ThaiPBS
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
ที่มาภาพ : Geronimo Villanueva (NASA/GSFC), Samantha Trumbo (Cornell Univ.), NASA, ESA, CSA. Image Processing Credit: Geronimo Villanueva (NASA/GSFC), Alyssa Pagan (STScI
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.), NASA