Secret Story | โยเดีย ที่คิด(ไม่)ถึง และเมื่อคิดถึง...‘เรา’ จึงมีอยู่


Lifestyle

17 ต.ค. 66

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Logo Thai PBS
Secret Story | โยเดีย ที่คิด(ไม่)ถึง และเมื่อคิดถึง...‘เรา’ จึงมีอยู่

7 ปีที่แล้ว ชาติชาย เกษนัส ผู้อยู่เบื้องหลังหนังไทยมากมายมายาวนาน ลงมือกำกับหนังขนาดยาวเรื่องแรกของเขาคือ “ถึงคน...ไม่คิดถึง” (From Bangkok to Mandalay) โดยเขาให้สัมภาษณ์ในช่วงหนึ่งไว้ว่า “...พม่าเป็นเหมือนซองจดหมายที่ไม่เคยถูกเปิดอ่านมา 50 ปี มันถูกเก็บไว้ในลิ้นชักใกล้ ๆ ตัวเราตลอดมา พอเปิดออกแล้วเราจะพบกับความปรารถนาดี ความคิดถึงกัน ความทรงจำที่หล่นหาย และลมหายใจของสายเลือดเดียวกันที่พลัดถิ่น”

แม้โครงหลักของหนังเรื่องนี้จะเป็น ‘หนังรัก’ ว่าด้วยความสัมพันธ์ของคู่หนุ่มสาวข้ามพรมแดนไทย - เมียนมาที่ลงเอยทั้งด้วยการพลัดพรากและความหวัง แต่เจตนาและสารสำคัญที่ชาติชายซ่อนไว้ใต้รูปลักษณ์ของหนังโรแมนติกนั้นก็เด่นชัดให้เราสัมผัสได้ นั่นคือการพยายามจะ ‘เปิดซองจดหมายที่ไม่เคยถูกเปิด’ ฉบับนี้ให้สังคมไทยได้อ่าน พินิจพิจารณา แล้วทบทวนเปลี่ยนแปลงอคติและความรู้สึกคลุมเครือที่มีต่อผู้คนเมียนมามายาวนานเสียใหม่

เจตนาเดียวกันนั้นยังปรากฏในงานของชาติชายต่อเนื่องมาอีกหลายเรื่อง ทั้งสารคดี ‘โยเดีย ที่คิด(ไม่)ถึง’, หนังสยองขวัญ ‘มาร-ดา’ (The Only Mom) และละครโทรทัศน์ซึ่งเป็นงานที่สร้างความฮือฮาที่สุดของเขาอย่าง ‘จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี’

ในจำนวนทั้งหมดนี้ ผลงานที่น่าจะถือเป็นรากแก้วคงหนีไม่พ้น ‘โยเดีย ที่คิด(ไม่)ถึง’ สารคดี 14 ตอนที่ทำให้เราได้เห็นว่า ความสัมพันธ์ของสยามกับพม่าไม่ได้มีแต่เรื่องราวความเป็นศัตรูและสงครามอย่างที่เราถูกพร่ำสอนผ่านประวัติศาสตร์นิพนธ์รุ่นเก่า แต่มันมีมิติหลากหลาย มีความผูกพันที่น่าอัศจรรย์ใจ และที่สำคัญที่สุดคือ เต็มไปด้วยเรื่องราวของสามัญชนตัวเล็ก ๆ ซึ่งแทบไม่เคยมีที่ทางบนหน้าตำราประวัติศาสตร์เลย

‘โยเดีย ที่คิด(ไม่)ถึง’ เริ่มด้วยการปูพื้นความเข้าใจต่อคำว่า ‘โยเดีย’ หรือ ‘โยดะยา’ ว่าหมายถึงชาวสยาม โดยเฉพาะชาวอยุธยานับแสนคนที่ถูกกวาดต้อนจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 ไปยังกรุงอังวะ (ก่อนจะกระจายตัวไปยังเมืองอื่น ๆ เช่น อมรปุระ มัณฑะเลย์ สะกาย) โดยมีทั้งขุนนาง ศิลปิน ช่างฝีมือ และเชื้อพระวงศ์ (อาทิ พระเจ้าอุทุมพร กษัตริย์องค์รองสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาที่ร่วมเดินทางไปด้วยขณะทรงดำรงสมณเพศ)

ใจความหลักที่สารคดีสื่อสารกับเราเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ช่วงตอนนี้ก็คือ ขณะที่เรามักได้รับการบอกกล่าวว่าคนสยามถูกต้อนไปเป็น ‘เชลย’ ซึ่งเป็นคำที่ชวนให้คิดถึงภาพผู้พ่ายแพ้ที่ต้องทนอยู่อย่างยากลำบากและถูกลิดรอนสิทธิตัวตน แต่ดูเหมือนว่าข้อเท็จจริงจะไม่ได้เป็นแบบนั้น ชาวสยามหรือชาวโยเดียได้รับพระราชทานที่ดินให้ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ช่างจำนวนมากได้งานตำแหน่งสูง อีกทั้งยังได้อยู่รวมตัวกันเป็นชุมชนภายใต้การดูแลของคนจากอยุธยาเองด้วย

ชุมชนหนึ่งที่ยืนยันการดำรงอยู่ของชาวโยเดียในพม่าก็คือ หมู่บ้านซุกา ซึ่งถูกบันทึกไว้ว่าเป็นหมู่บ้านของช่างทำพลุจากอยุธยาที่ทำพลุให้แก่พระราชวังมัณฑะเลย์ ผู้เขียนรู้สึกทึ่งมาก ๆ เมื่อได้เห็นว่าชาวหมู่บ้านนี้ซึ่งปัจจุบันมีราว 200 คนนั้น มีความหวงแหนเชื้อชาติอย่างยิ่ง พวกเขาไม่สนับสนุนให้คนในชุมชนแต่งงานกับคนนอก หลายคนยอมไม่แต่งงานเพื่อจะได้รักษาความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติโยเดียไว้ นอกจากนั้นพวกเขายังพยายามอนุรักษ์วัฒนธรรมที่ล้วนไม่ใช่ขนบนิยมของพม่า แต่เห็นได้ชัดว่าสืบทอดมาจากสยาม เช่น การก่อเจดีย์ทรายช่วงสงกรานต์ การอาศัยอยู่ในบ้านที่ปลูกแบบใต้ถุนสูง การบูชาพระรามพระลักษณ์ การใช้ศาลไม้เสาเดียวคล้ายศาลพระภูมิกลางหมู่บ้าน

งานสถาปัตยกรรมเป็นศิลปวัฒนธรรมส่วนถัดมาที่แสดงร่องรอยของโยเดียในพื้นที่แถบนี้ได้อย่างน่าตื่นเต้น เช่น วัดบากะยา ที่สร้างในสมัยพระเจ้าพะคยีดอ (ราวปี พ.ศ. 2386) โดยสร้างจากไม้สักทั้งหลัง เมื่อมองภายนอกจะเห็นเป็นศิลปะพม่า แต่ภายในกลับมีประติมากรรมไม้ ‘ครุฑยุดนาค’ ซึ่งทั้งท่วงทีการแสดงออกที่ดูคล้ายโขนเรือพระที่นั่งและรายละเอียดเครื่องแต่งองค์ล้วนมีกลิ่นอายศิลปะอยุธยาเด่นชัด

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ วัดยะดะนา ซึ่งมีลักษณะอาคารเหมือนวิหารหรืออุโบสถแบบอยุธยาหรือล้านนา โดยเฉพาะการมีโครงสร้างแบบใช้เสาร่วมใน การสร้างพระประธานที่ก่อฐานชุกชีต่อขึ้นตรงจากพื้นดิน ช่องหน้าต่างที่เป็นรูปแบบนิยมของอยุธยา และการก่อสร้างแบบก่ออิฐถือปูนซึ่งไม่ใช่ลักษณะของพม่าในยุคนั้น

ใครได้ชมละคร ‘จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี’ คงได้ตื่นตากับการแสดง ‘อิเหนา’ ที่เจ้าฟ้าหญิงกุณฑลและเจ้าฟ้าหญิงมงกุฎนำบทพระราชนิพนธ์ไปแสดงภายในราชสำนักพม่าอยู่นานถึง 22 ปี จนกระทั่งพระเจ้าปดุงทรงรับสั่งให้แปลเป็นภาษาเมียนมา โดยมีศิลปินใหญ่ 7 คน รวมถึง ‘เมียวดี มินจี อูสะ’ รับหน้าที่เขียนและเรียบเรียงให้กลายเป็นภาษาเมียนมาอันงดงาม ได้รับการยกย่องมาจนถึงปัจจุบัน

รายละเอียดของละครส่วนนี้แสดงให้เห็นว่าราชสำนักและชาวพม่าให้ความสำคัญแก่ศิลปะโยเดียอย่างยิ่ง อูแยทต อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปวัฒนธรรมย่างกุ้ง กล่าวในตอนหนึ่งของสารคดีว่า “ในยุคของอูจีอูและอูโปยางเป็นยุคทองของการละคร แต่หลังจากยุคนั้นไม่มีอะไรเลย การเข้ามาของชาวโยเดียจึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่พวกเราต้องจดจำไว้ เราไม่ได้ยึดครองอยุธยาแล้วนำศิลปวัฒนธรรมโยเดียมาทำลาย แต่เรานำมาศึกษาและพัฒนาต่อยอดนานนับร้อยปี ประเทศของคุณ...โยเดีย...อยู่ในหัวใจของเรา” ซึ่งยังเห็นได้จากการที่มัณฑะเลย์และย่างกุ้งมีสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนนาฏศิลป์และดนตรีโยเดียที่มุ่งส่งต่อให้แก่คนรุ่นใหม่อย่างจริงจัง

สาระสำคัญที่ ‘โยเดีย ที่คิด(ไม่)ถึง’ พยายามบอกกล่าวแก่เราคือ แม้เมื่อกว่าสองร้อยปีก่อน สยามกับพม่าเคยรบพุ่งแย่งชิงความเป็นใหญ่และอำนาจในการจัดการทรัพยากรกัน แต่หากเรามองเรื่องราวที่ผ่านพ้นไปแล้วนั้นด้วยความเข้าใจในบริบทของยุคสมัยและเปิดใจยอมรับข้อมูลใหม่อย่างต่อเนื่อง เราก็ย่อมจะเห็นมิติอื่นของมันได้กว้างขวาง และเกิดสายตาใหม่ในการมองปัจจุบันด้วยความรู้สึกเป็นมิตรกันได้อย่างแท้จริง

ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์สรุปประเด็นที่เป็นหัวใจไว้อย่างคมคายว่า นับตั้งแต่เราก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน เรามักกล่าวถึงคำคำนี้ในมิติทางเศรษฐกิจเป็นหลัก

 ทั้งที่ความจริงแล้วยังมีมิติด้านการเมืองและวัฒนธรรมที่ควรได้รับความสนใจศึกษาคู่เคียงกันไปด้วย และการสร้างความเข้าใจกันและกันทางวัฒนธรรมนี่เองจะเป็นเสาหลักต้นสำคัญที่สุดที่จะทำให้เสาต้นอื่น ๆ นั้นสามารถลงหลักปักฐานต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ชวนรับชม เปิดมุมมองมิติใหม่ที่ถูกปิดผนึกไว้ รอทุกคนเข้าไปทำความรู้จักกับมิตรภาพทางสายเลือด

 ▶สารคดี ‘โยเดีย ที่คิด(ไม่)ถึง’ รับชมได้ทาง www.VIPA.me และ VIPA Application
คลิกเพื่อรับชม : https://watch.vipa.me/NhXaH2wENDb
▶ละคร ‘จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี’  
คลิกเพื่อรับชม : https://watch.vipa.me/27L64TOFNDb 

“ Secret Story ” คือคอลัมน์น้องใหม่จาก VIPA ที่มาพร้อมเรื่องราวเจาะลึก มุมมองในมิติที่คุณอาจไม่เคยรู้ ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังของผลงานสารคดีคุณภาพ ที่เราไม่อยากให้คุณพลาดใน www.VIPA.me 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Secret StoryVIPAสารคดี VIPAVIPAdotMeละครจากเจ้าพระยาสู่อิรวดีสารคดีโยเดียที่คิด(ไม่)ถึงจากเจ้าพระยาสู่อิรวดีเมียนมาละครไทยละครไทยพีบีเอสวัดยะดะนามัณฑะเลย์ละครไทยเมียนมาชาวโยเดียชาติชาย เกษนัส
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เขียน: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ก่อตั้ง Documentary Club คลับของคนรักสารคดี และหนังนอกกระแส

บทความ NOW แนะนำ