เปิดภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศยูคลิด (Euclid) กับภารกิจศึกษาความลับของสสารและพลังงานมืด (dark matter/dark energy) ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นและเชื่อกันว่า เป็นองค์ประกอบ 95% ของจักรวาล หลังจาก “กล้องฯ ยูคลิด” ถูกปล่อยสู่อวกาศเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 66 โดยความร่วมมือระหว่างองค์การอวกาศยุโรป (ESA) และห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (Jet Propulsion Laboratory) ของ “องค์การนาซา” (NASA)
สำหรับภาพชุดดังกล่าวถือว่ามีความคมชัดที่สุดในหมู่ภาพประเภทเดียวกัน และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกล้องฯ ยูคลิด (Euclid) ที่สามารถมองเห็นกาแล็กซีนับล้านกาแล็กซี ซึ่งอยู่ห่างจากโลกออกไปได้ถึงหนึ่งหมื่นล้านปีแสง
ทั้งนี้ “องค์การอวกาศยุโรป” ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพชุดดังกล่าวครอบคลุม 4 พื้นที่ของจักรวาลที่อยู่ใกล้เคียงกันกับโลกของเรา โดยรวมถึงภาพของกาแล็กซีจำนวนกว่า 1,000 แห่ง ที่อยู่ในกระจุกกาแล็กซีเพอร์เซอุส (Perseus cluster) ซึ่งอยู่ห่างออกไป 240 ล้านปีแสง นอกจากนี้ยังมีพื้นหลังเป็นกาแล็กซีอีกมากกว่า 100,000 แห่งเลยทีเดียว
ด้าน “Carole Mundell” ผู้อำนวยการองค์การอวกาศยุโรป เผยว่า ในปัจจุบันเราอาจเข้าใจจักรวาลเพียงแค่ 5% เท่านั้น เพราะนั่นคือสิ่งที่เรามองเห็น (อีก 95% มองไม่เห็น) โดยส่วนที่เหลือของจักรวาลนั้นมืด เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่จะผลิตแสงในสเปกตรัมคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทั่วไป แต่เรารู้ว่าสิ่งเหล่านี้มีตัวตนจริง เนื่องจากเราเห็นผลกระทบของตัวมันจากสิ่งที่เรามองเห็น
อนึ่ง “กล้องโทรทรรศน์อวกาศยูคลิด” กับภารกิจศึกษาสสารมืดในจักรวาล เป็นภารกิจนำร่องสำหรับกล้องโทรทรรศน์อวกาศแนนซี เกรซ โรมัน ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา และมีกำหนดการปล่อยในปี 2570 (ค.ศ. 2027)
📌อ่าน ESA เริ่มต้นภารกิจยูคลิด เพื่อศึกษาสสารและพลังงานมืด ไขปริศนาการขยายตัวของจักรวาล
📌อ่าน องค์การอวกาศยุโรป (ESA) เผยภาพชุดแรกจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศยูคลิด
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ ThaiPBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : NASA