ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทุจริตทางวิชาการ? ใช้ AI เขียนแทนผู้เรียน กับจริยธรรมการศึกษาในมหาวิทยาลัย


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

19 พ.ค. 68

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

ทุจริตทางวิชาการ? ใช้ AI เขียนแทนผู้เรียน กับจริยธรรมการศึกษาในมหาวิทยาลัย

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2689

ทุจริตทางวิชาการ? ใช้ AI เขียนแทนผู้เรียน กับจริยธรรมการศึกษาในมหาวิทยาลัย
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

การแพร่หลายของโมเดลปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขนาดใหญ่ อาทิ ดีปซีก (DeepSeek) และแชตจีพีที (ChatGPT) ทำให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยมีเครื่องมือที่สะดวกในการปรับแต่งและเพิ่มคุณภาพงานวิชาการด้วยความช่วยเหลือของเครื่องมือเอไอเหล่านี้ ซึ่งช่วยให้นักเรียนนักศึกษาสามารถผลิตงานที่ดูดีได้ภายในไม่กี่นาที

Case Study จากประเทศจีน โดยนักศึกษาแซ่ไช่คนหนึ่ง ซึ่งกำลังจะศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยอู่ฮั่นทางตอนกลางของจีน ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าได้ใช้ปัญญาประดิษฐ์ขณะเขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาตรีของตน พร้อมระบุว่านักศึกษาในรุ่นเดียวกับตนใช้เอไอกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในการเขียนวิทยานิพนธ์และงานวิชาการอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดเวลา

การศึกษาในปี 2024 ที่ริเริ่มโดยมายคอส (MyCOS) บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านข้อมูลและที่ปรึกษาการจัดการอุดมศึกษา แสดงให้เห็นว่าเกือบร้อยละ 30 ของนักศึกษาในจีนใช้ปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ (Generative AI) ในการเขียนรายงานหรือทำการบ้าน

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษากังวลว่าการใช้ความช่วยเหลือจากปัญญาประดิษฐ์ทำให้ผลงานมี “กลิ่นอายของปัญญาประดิษฐ์” อย่างชัดเจน ไม่เพียงแค่ในงานวิชาการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงงานวิชาอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในการป้องกันการทุจริตทางวิชาการ

ศาสตราจารย์ผู้สอนภาษาอังกฤษแซ่หลิวจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน กล่าวว่าตนสังเกตเห็นร่องรอยของเนื้อหาที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์อย่างชัดเจนในวิทยานิพนธ์ของนักเรียนนักศึกษาของตน ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ขาดความลื่นไหลและไม่สอดคล้องกัน

การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เพิ่มขึ้นในหมู่นักศึกษา ส่งผลให้มหาวิทยาลัยทั่วจีนออกกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยฟู่ตั้นในเซี่ยงไฮ้ที่ได้ออกแนวปฏิบัติห้ามใช้เอไอ (AI) โดยตรงในการสร้างเนื้อหาหลัก ส่วนคำขอบคุณ หรือส่วนอื่น ๆ ของวิทยานิพนธ์ โดยมีสถาบันอื่น ๆ หลายแห่งออกคำแนะนำลักษณะคล้ายกัน

ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยปัญญาประดิษฐ์ (AI) แห่งมหาวิทยาลัยชิงหัวในกรุงปักกิ่ง เน้นย้ำความสำคัญของการแยกแยะขอบเขตระหว่างความช่วยเหลือจากเอไอ กับการเขียนโดยเอไอ (AI) พร้อมระบุว่าเอไอสามารถจัดระเบียบวรรณกรรมวิจัย ให้แนวคิดในการเขียน และทำงานที่ซ้ำซากหรือง่ายแทนมนุษย์ได้ แต่ไม่สามารถใช้สร้างเนื้อหาของวิทยานิพนธ์ทั้งฉบับได้ เพราะถือเป็นการทุจริตทางวิชาการ

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยทั่วจีนกำลังประเมินสัดส่วนของเนื้อหาที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในโครงการจบการศึกษา ขณะที่วารสารวิชาการหลายฉบับได้กำหนดแนวทางการใช้เอไออย่างเฉพาะเจาะจงในการส่งบทความ

ข่งหลินเทา เจ้าหน้าที่ดูแลงานวิชาการที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเทียนจิน เปิดเผยว่านอกเหนือจากการตรวจสอบการคัดลอกผลงานตามปกติสำหรับโครงการจบการศึกษาแล้ว มหาวิทยาลัยยังได้เพิ่มมาตรการตรวจจับเนื้อหาที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อควบคุมการพึ่งพาเครื่องมือเหล่านี้มากเกินไป โดยกำหนดเพดานการคัดลอกผลงานไว้ที่ร้อยละ 30 และจำกัดการใช้เนื้อหาที่สร้างโดยเอไอไว้ไม่เกินร้อยละ 40 ซึ่งนักศึกษาที่มีผลงานเกินขีดจำกัดดังกล่าวจะได้รับคำเตือนอย่างเป็นทางการ

ข่งระบุว่าการกำหนดและจำกัดเหล่านี้สะท้อนถึงทัศนคติที่เปิดกว้างของมหาวิทยาลัยฯ ต่อยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยมีเป้าหมายเพื่อชี้แนะให้นักศึกษากลับมาเดินในเส้นทางของตนเอง

นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์การศึกษาแห่งกรุงปักกิ่ง เสนอแนวทางที่ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยระบุว่าสิ่งสำคัญคือการประเมินความคิดสร้างสรรค์ของผู้เขียนอย่างรอบคอบในตลอดกระบวนการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ พร้อมแนะนำให้มหาวิทยาลัยเพิ่มขั้นตอนการสัมภาษณ์กับผู้เชี่ยวชาญ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญตั้งคำถามจากวิทยานิพนธ์และสนทนากับผู้เขียนเพื่อประเมินระดับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในวิทยานิพนธ์ของพวกเขา

แม้กฎหมายเกี่ยวกับปริญญาของจีนจะไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าการเขียนโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นการทุจริตทางวิชาการ แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการให้ปัญญาประดิษฐ์เขียนเนื้อหาทั้งหมดถือเป็นการละเมิดจิตวิญญาณพื้นฐานของวงการวิชาการ เพราะไม่สะท้อนความคิดสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของผู้เขียน

จ้าวจิงอู่ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยเป่ยหาง เตือนว่าการให้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เขียนงานทางวิชาการทั้งฉบับ เปรียบเสมือนกับการจ้างผู้อื่นเขียนแทน ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายความซื่อตรงทางวิชาการและอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการรั่วไหลของข้อมูล

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังเน้นถึงบทบาทสำคัญของการแนะแนวโดยอาจารย์ในยุคเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยระบุว่ามหาวิทยาลัยควรให้ความสำคัญกับการสอนนักศึกษาให้ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่างมีความรับผิดชอบ เข้าใจข้อจำกัด และเน้นย้ำความสำคัญของการคิดวิเคราะห์

อาจารย์มหาวิทยาลัยแซ่เว่ยคนหนึ่งระบุว่าอาจารย์ควรมีปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษามากขึ้น และให้คำแนะนำในแต่ละขั้นตอนของการทำวิจัย ไม่ใช่แค่ถามคำถามไม่กี่ข้อตอนส่งผลงาน และควรทำให้นักศึกษาเข้าใจว่าการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นเหมือนการวิ่งมาราธอน และไม่สามารถพึ่งพาปัญญาประดิษฐ์ในการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วเพียงอย่างเดียว โดยการอ่านเอกสารประวัติศาสตร์ การลงพื้นที่ การรวบรวมข้อมูล และการทดลอง เป็นสิ่งที่มนุษย์ควรทำและจำเป็นต้องทำด้วยตนเอง


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : english.news, Xinhua

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ทุจริตทางวิชาการAIเอไอปัญญาประดิษฐ์เทคโนโลยีTechnologyInnovationนวัตกรรมThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Innovation Tech World
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphobT@thaipbs.or.th หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด