Secret Story | How it Feels to be Free 6 ศิลปินหญิงผิวสีกับเส้นทางต่อสู้สู่เสรีภาพ


Lifestyle

20 พ.ย. 66

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Logo Thai PBS
Secret Story | How it Feels to be Free 6 ศิลปินหญิงผิวสีกับเส้นทางต่อสู้สู่เสรีภาพ

ฉันหวังจะได้รู้สึก
ถึงความรู้สึกของการมีเสรี
ฉันหวังจะได้กำจัด
โซ่ตรวนที่ตรึงรัดฉันนี้

ฉันเฝ้าหวังเฝ้าฝัน
ได้เป็นนกนั้นบนฟากฟ้า
จะแสนสุขเพียงใดกัน
ถ้าฉันโบยบินกลางนภา

ฉันจะทะยานสู่อาทิตย์
แล้วก้มมองผืนปฐพี
ร่ำร้องว่าบัดนี้ฉันรู้สึก
นี่ล่ะความรู้สึกของการมีเสรี

เมื่อบทเพลง ‘I Wish I Knew How It Would Feel to Be Free’ ของ นีน่า ซีโมน ดังขึ้นในตอนท้ายของสารคดีเรื่องนี้ หลายคนอาจจะพบว่าตัวเองกำลังหลั่งน้ำตา

ซึ่งไม่แปลกเลย เพราะสารคดีสามารถสื่อสารออกมาได้อย่างกินใจ แม้เรื่องราว 2 ชั่วโมงอาจเรียกได้ว่าสั้นเกินกว่าจะเก็บข้อมูลเข้มข้นในประวัติศาสตร์ออกมาบอกเล่าให้ครบถ้วนได้ทั้งตัวเรื่อง และตัวบุคคล อีกทั้งหลาย ๆ ประเด็นน่าสนใจที่มีคนในหนังเปิดขึ้นมาก็ปรากฏเพียงคร่าว ๆ จนน่าเสียดาย แต่กระนั้นเราก็ยังกล่าวได้ว่า

 ลำพังเพียงเรื่องของผู้หญิง 6 คน ที่หนังเลือกมาก็เขย่าความคิดและความรู้สึกได้มากมายทีเดียว

How It Feels to Be Free เป็นหนึ่งในซีรีส์ American Masters ของ PBS กำกับโดย โยรูบา ริชเชน ซึ่งดัดแปลงจากหนังสือที่มีชื่อเต็ม ๆ ว่า “How It Feelings to Be Free: Black Women Entertainers and the Civil Rights Movement” ของ รูธ เฟลด์สตีน มาอีกที โดยริชเชนเสนอความคิดเห็นของนักเคลื่อนไหวทางสังคม นักสตรีนิยมผิวสี นักวิจารณ์ สลับกับเรื่องราวของศิลปินผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ให้เกิดการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของผู้หญิงผิวสีในอุตสาหกรรมบันเทิงฮอลลีวูด ผ่านทั้งการทำงานศิลปะ และการเคลื่อนไหวทางการเมือง

สารคดีเรื่องนี้เริ่มสร้างในปี ค.ศ. 2014 แต่เสร็จสิ้นออกฉายในปี ค.ศ. 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่ตรงกับกระแสความขัดแย้งทางสีผิวครั้งใหม่ในสหรัฐอเมริกาพอดี สิ่งที่เราเห็นในหนังจึงแสดงถึงความอยุติธรรมทางสีผิวและเพศสภาพที่เกิดขึ้นมาเนิ่นนานและยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง 

ริชเชนให้สัมภาษณ์ไว้ว่า แม้สารคดีเรื่องนี้จะเล่าประวัติบุคคล แต่เธอไม่ได้วางมันไว้ในฐานะ ‘หนังชีวประวัติ’ เพราะเธอไม่ได้สนใจจะเล่ารายละเอียดชีวิตของผู้หญิงเหล่านี้ในระดับส่วนตัว ขณะเดียวกันเธอก็ไม่ต้องการให้มันเป็นหนังที่นำเสนอภาพลักษณ์คนแอฟริกันอเมริกันในมุมโศกนาฏกรรมแบบที่หนังคนผิวสีจำนวนมากนิยมเล่า 

ฉันอยากให้เห็นว่าผู้หญิงเหล่านี้เป็นผู้บุกเบิก ผู้นำเทรนด์ และพวกเธอฝ่าฟันอุปสรรคในแต่ละช่วงเวลาและในสาขาอาชีพของตนมาอย่างไรจึงสามารถกำหนดนิยามใหม่ของ ‘ผู้หญิงผิวสีบนเวทีและบนจอ’ ขึ้นมาได้ นอกจากนั้นฉันยังอยากนำเสนอด้วยว่า พวกเธอแต่ละคนสร้างความสำเร็จ และเรียนรู้จากความล้มเหลวของผู้หญิงที่สู้มาก่อนหน้าอย่างไรบ้าง เพื่อให้ตนเองค้นพบเส้นทางที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อไปได้” เพราะสำหรับริชเชนแล้ว มุมนี้ต่างหากที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกันปัจจุบันมากที่สุด

ริชเชนเลือกเล่าถึง ลีนา ฮอร์น (Lena Horne) นักร้อง นักเต้น และนักแสดงหญิงผิวสีคนแรก ที่ได้เซ็นสัญญากับสตูดิโอใหญ่ ฮอร์นมาถึงฮอลลีวูดในช่วงต้นทศวรรษที่ 40 พร้อมคำประกาศว่าจะไม่ยอมรับบทสาวใช้แบบที่นักแสดงผิวสีเคยได้รับมาตลอด ความสามารถและความงามทำให้เธอได้แสดงนำในหนัง 2 เรื่องคือ Cabin in the Sky กับ Stormy Weather แต่แล้วจุดยืนอันแข็งกร้าวของเธอก็สร้างความไม่พอใจแก่นักแสดงหญิงผิวสีคนอื่น ๆ จนทำให้สตูดิโอไม่อยากมอบงานให้เธออีกต่อไป

อีกอุปสรรคหนึ่งที่ฮอร์นพบซึ่งอาจทำให้หลายคนต้องแปลกใจ ก็คือการที่เธอถูกมองว่า ‘ดำไม่พอ’ สีผิวอ่อน ๆ ของเธอไม่ตรงกับความคาดหวังของเหล่าผู้ชมและส่งผลให้บรรดาผู้สร้างหนังไม่รู้ว่าจะจัดเธอไว้ในตำแหน่งใดดี ทางออกของพวกเขาจึงเป็นการมอบบทตัวละครเอกผิวสีให้แก่ดาราผิวขาวที่ถูกแต่งเติมด้วยเครื่องสำอางให้ ‘ดำ’ แทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดูเหมือนว่าสังคมจะเข้าใจได้มากยิ่งกว่า

ลีนา ฮอร์น (Lena Horne)
ลีนา ฮอร์น (Lena Horne)

หนังยังเล่าถึง แอบบี ลินคอล์น (Abby Lincoln) นักร้อง นักแต่งเพลง ผู้เคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองในทศวรรษ 1960, นีน่า ซีโมน (Nina Simone) อัจฉริยะทางดนตรีผู้ใช้บทเพลงแสดงความรู้สึกแค้นเคืองต่อความอยุติธรรมที่คนผิวสีได้รับ, ไดแอนน์ คาร์โรลล์ (Diahann Carroll) ผู้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นคนแอฟริกันอเมริกันคนแรกที่คว้ารางวัลโทนี่ (Tony Awards) สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม และ ซิเซลี ไทสัน (Cicely Tyson) ที่มาพร้อมภาพลักษณ์นักแสดงหญิงผู้แข็งแกร่งและไม่ต้องการให้สีผิวเป็นเครื่องตัดสินโอกาสอีกต่อไป

แอบบี ลินคอล์น (Abby Lincoln)
 นีน่า ซีโมน (Nina Simone)
ไดแอนน์ คาร์โรลล์ (Diahann Carroll)
ซิเซลี ไทสัน (Cicely Tyson)

หนังปิดท้ายด้วยเรื่องราวของ แพม เกรียร์ (Pam Grier) ราชินีแห่งหนังกลุ่ม blaxploitation หรือ ‘หนังขายความเป็นคนผิวสี’ ในทศวรรษ 1970 ซึ่งตัวละครนางเอกของเธอมีทั้งฉากแอ็กชั่น ฉากรุนแรง และฉากเซ็กซี่แบบที่ผู้หญิงผิวสีแทบไม่เคยได้แสดงมาก่อน แม้หนังเหล่านี้อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าผลิตซ้ำภาพคนผิวสีในฐานะนักเลงหรือขี้ยา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันได้ช่วยเปิดประตูบานใหม่ ๆ บนจอให้แก่ตัวละครหญิงผิวสีไม่น้อย

แพม เกรียร์ (Pam Grier)

การต่อสู้ของพวกเธอเหล่านี้ไม่ได้จำกัดขอบเขตแค่ด้านอาชีพการงาน ไม่ใช่แค่การเรียกร้องให้ตัวเองได้รับบทบาทในจอหรือบนเวทีที่ดีขึ้น แต่เป็นดังที่บางคนในหนังกล่าวไว้ว่า “การปรากฏตัวของผู้หญิงผิวสีในทีวี และหนังนั้นมีนัยยะของการประท้วงเสมอ” เพราะทุกครั้งที่โลกได้เห็นเธอแต่ละคนบนตำแหน่งอันโดดเด่น มันสะท้อนให้เห็นความจริงไปพร้อมกันด้วยว่า พวกเธอทุกคนต้องสู้ยาวนานเพียงใด กว่าจะได้มาซึ่งเสรีภาพทีละน้อยนิด

และสารคดีเรื่องนี้ก็ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ในการตอกย้ำให้เราเห็นว่า ศิลปิน และการเมืองสามารถหลอมรวมกันจนการสร้างงานศิลปะ กลายเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอันทรงพลังได้อย่างไร

🎬VIPA ชวนดู เรื่องจริงของ 6 ดาราสาวแอฟริกันอเมริกันผู้บุกเบิกศิลปะ และกิจกรรมทางสังคม ซึ่งยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้สตรีผิวสีจนทุกวันนี้ เผยเบื้องหลังการต่อสู้ เพื่อบุกเบิกเส้นทางในวงการบันเทิงอเมริกา ให้พวกเธอได้มีโอกาสทำงานและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “How it Feels to be Free เปิดตำนานศิลปินหญิงผู้บุกเบิก” ทาง  www.VIPA.me และ VIPA Application

▶ คลิกเพื่อรับชม : https://watch.vipa.me/3vOCGSziSEb

“ Secret Story ” คือคอลัมน์น้องใหม่จาก VIPA ที่มาพร้อมเรื่องราวเจาะลึก มุมมองในมิติที่คุณอาจไม่เคยรู้ ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังของผลงานสารคดีคุณภาพ ที่เราไม่อยากให้คุณพลาดใน www.VIPA.me

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Secret Storyสารคดี VIPAVIPAVIPAdotMeสารคดีต่างประเทศศิลปินหญิงผิวสีสารคดี How it Feels to be Free เปิดตำนานศิลปินหญิงผู้บุกเบิกคนผิวสีดาราผิวสีการเหยียดสีผิวฮอลลีวูดอเมริกาลีนา ฮอร์นRacismRacism
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เขียน: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ก่อตั้ง Documentary Club คลับของคนรักสารคดี และหนังนอกกระแส

บทความ NOW แนะนำ