เทคโนโลยี AI ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่เห็นบ่อย ๆ และนิยมอย่างมากก็จะเป็น AI แต่งภาพการ์ตูน Anime วาดรูป สร้างภาพขึ้นมาใหม่ หรือออกแบบโลโก้ รวมทั้งแปลภาษา ทำให้หลายอาชีพต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน ไม่เว้นแม้กระทั่งวงการข่าว
สื่อหลายสำนักทั้งไทยและต่างประเทศ ใช้โอกาสนี้ นำนวัตกรรมมาปรับใช้ในการผลิตสื่อ ด้านหนึ่งเป็นการปรับตัว แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโจทย์ที่ผู้เผยแพร่สื่อต้องหาแนวทางในการทำงานให้ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสูงสุด
ภายในงานเสวนา “Thai PBS World Forum 2023” หัวข้อ “AI and the Future of Newsroom อนาคตของห้องข่าวกับเอไอ” ตัวแทนสื่อหลายสำนักร่วมแชร์นวัตกรรมที่เริ่มใช้จริงกันแล้ว ในองค์กรของตนเอง รวมทั้งแผนการทำงานในอนาคตที่น่าสนใจหลายอย่าง
CGTN ของจีน เจ้าพ่อวงการเทคฯ ใช้ AI ทุกมิติ
หยาง เฉิงซี ผู้สื่อข่าวอาวุโสจากสถานีโทรทัศน์ CGTN ของจีน กล่าวว่า จีนถือเป็นแถวหน้าในการใช้ AI มาร่วมทำงาน ซึ่งช่วยให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ได้แก่
• การสร้าง AI ที่เป็นร่างอวตารของผู้ประกาศข่าว และสามารถใช้เสียงของผู้ประกาศเจ้าของเสียงได้ และสามารถเปลี่ยนเป็นเสียงคนอื่นได้เช่นกัน วิธีนี้จะช่วยทดแทนกรณีที่เป็นข่าวด่วนที่ผู้ประกาศไม่ได้อยู่ในสถานี ขณะที่อีกมุมหนึ่งยังช่วยลดอาการเหนื่อยล้าจากการอ่านข่าวในสตูดิโอเป็นเวลาหลายชั่วโมง
• การสรุปข่าว ทำให้ช่วยลดระยะเวลาในการทำงานของผู้สื่อข่าว โดยเฉพาะงานแถลงข่าวที่มีเนื้อหารายละเอียดของเรื่องราว และใช้ระยะเวลาในการแถลงยาวนาน ทางสถานีฯ ได้ใช้ ChatGPT เข้ามาช่วยสรุปงานแถลงข่าวทั้งหมดมาให้อย่างง่ายดาย และใช้เวลาไม่นาน
• การสรุปการประชุม ทุกวันนี้การทำงานข่าวย่อมต้องเจอการประชุมหลายวง หลายวาระ ดังนั้น เราสามารถบันทึกวิดีโอการประชุม และใช้ AI ช่วยสรุปการประชุมออกมาเป็นหัวข้อ และถอดรายละเอียดที่เป็นประเด็นสำคัญออกมาเป็นข้อความได้
• การใช้ AI ใส่ Voice Over ทำให้คำพูดของแหล่งข่าวชัดเจนมากขึ้น เรื่องเสียงและภาพ เป็นสิ่งสำคัญในการนำเสนอข่าวโทรทัศน์ แต่ก็มีบางครั้งเกิดปัญหาเช่นกัน เช่น เสียงไม่ชัด ภาพไม่ชัด รวมทั้งกรณีที่เก็บฟุตภาพเป็นเวลานาน หรือซีรีส์จีนยุคเก่า ทางสถานีฯ ได้ใช้ความฉลาดของ AI เข้ามาช่วย Generated ภาพและเสียง ทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
• การสร้างคำบรรยายเสียงแบบอัตโนมัติ ปัจจุบันเราพบเห็นคำบรรยายอัตโนมัติในแพลตฟอร์ม Social Media หลายแห่ง ทางสถานีฯ ข่าวก็นำเครื่องมือนี้มาช่วยลดเวลาการทำงานด้วยของทีมตัดต่อด้วย
“ผมคิดว่าจีนก็เป็นผู้นำในการใช้ AI เช่นกัน ทั้งในแง่ของกระบวนการหลังการผลิต การรวบรวมข่าว และการเขียนบท เราใช้และทดลอง AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอย่างแท้จริง และมันเป็นกระบวนการที่น่าทึ่งมาก” หยาง เฉิงซี กล่าว
NHK ของญี่ปุ่น ใช้ AI ให้เป็น Image Journalism
ทาคาฮิโระ มูชิซากิ วิศวกรอาวุโส ห้องปฏิบัติการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี NHK ระบุว่า ทางสถานีฯ มีหน่วยงานที่เรียกว่า Research Lab และ Media Lab ในการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและหาวิธีการผลิตสื่อที่เหมาะสม โดยมองว่าปัจจุบัน Generative AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างข้อมูลชุดใหม่ยังมีข้อจำกัด เป็นสิ่งที่ยังคงต้องร่วมทำงานเพื่อพัฒนาต่อไปในอนาคต
• สำหรับทางสถานีฯ แล้ว จะเน้นใช้ AI ในการสร้างทั้งภาพ เนื้อหา และตัดคลิปวิดีโอได้โดยเสร็จสรรพ คล้ายกับการเป็น Image Journalism สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ภาพใดเหมาะกับสิ่งที่ผู้ประกาศกำลังอ่านข่าวอยู่ โดยใช้วิธีการเก็บคำ “Keywords” สำคัญ ก่อนที่จะเข้ากระบวนการตัดภาพออกมารวมกัน และสร้างเป็นคลิปข่าวขึ้นมา
• การเซนเซอร์ ปรับภาพให้เหมาะสม อย่างกรณีเมื่อต้องเผยแพร่ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ก็สามารถคัดแยกเป็นเฟรมแต่ละเฟรม และปรับเฉพาะส่วนที่ไม่สามารถเผยแพร่ได้ หรือผิดลิขสิทธิ์ได้ด้วย
“ห้องปฏิบัติการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ Media Lab จะทำงานร่วมกัน ดังนั้นเราจึงมุ่งเป้าที่จะนำเทคโนโลยี AI หลายรูปแบบมาช่วยในการทำงาน” ทาคาฮิโระ มูชิซากิ กล่าว
KBS ของเกาหลีใต้ ใช้ AI ช่วยเทคนิคการออกอากาศ-หนุนทำงานด้านภัยพิบัติ
ซองโฮ จีออน ผู้อำนวยการฝ่ายระบบ UHD ภาคพื้นดิน สถานีโทรทัศน์ KBS ของเกาหลีใต้ ระบุว่า สำหรับ KBS ใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วย เช่น
• การวิเคราะห์ข่าว การรวบรวมและวิเคราะห์รูปแบบผู้ชม การวิเคราะห์ความผิดปกติในการตรวจสอบระยะไกล
• การผลิตสื่อที่ขับเคลื่อนด้วย AI ทั้งโปรแกรมตัดต่อวิดีโอ การปรับสีภาพที่ไม่ต้องใช้จินตนาการของมนุษย์ว่าควรเป็นสีโทนไหนดี แต่ให้ AI ช่วย Generate สีที่เหมาะสมกับภาพนั้น
• การสร้างคำบรรยาย VOD ในจังหวะที่ถูกต้องและเหมาะสม แน่นอนว่าบางครั้งทีมตัดต่ออาจจะเกิด Human Error ขึ้นคำบรรยายผิดจังหวะ แต่เมื่อใช้ AI เข้ามาช่วยจะทำให้แม่นยำขึ้น โดยซองโฮ ระบุว่า แม่นยำแบบ 99% เลย
• หลายประเทศเผชิญเหตุภัยพิบัติ หรือข่าวด่วนอยู่บ่อยครั้ง การนำ AI เข้ามาช่วยในบริการ “แจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน” ทั้งการสร้างสคริปต์ข่าว การแปลงข้อความเป็นคำพูด การสร้างภาษามืออวตารตามข้อความแจ้งเตือนภัยพิบัติ รวมทั้งออกอากาศโดยอัตโนมัติ
ไทยพีบีเอส ใช้ AI หนุนคอนเทนต์เพื่อเข้าถึงคนทุกกลุ่ม
นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส เปิดเผยว่า ได้นำปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีอีกหลายด้านมาพัฒนาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้หลากหลายกลุ่ม ซึ่งในอนาคตเตรียมเปิดตัวผู้ประกาศ AI โดยจำลองผู้ประกาศข่าวของสถานีมาอ่านข่าวในภาษาต่าง ๆ
• AI Voice ไทยพีบีเอสมีบริการอ่านให้ฟัง หรือ “Text to Speech” ที่สามารถให้เลือกฟังเสียงได้ถึง 3 เสียง และกำลังพัฒนาให้ผู้ใช้สามารถควบคุมระดับเสียง รวมทั้งความเร็วได้ด้วย นอกจากนี้ สามารถเชื่อมต่อ API กับ Alexa ได้ด้วย ( สัมผัสประสบการณ์บริการอ่านให้ฟัง ได้ที่ www.thaipbs.or.th/ai-audio-news )
• กำลังพัฒนานวัตกรรม AI Visual โดยใช้ผู้ประกาศข่าวของทางสถานีมาอ่านข่าวให้ฟังและดูไปพร้อม ๆ กัน ทั้งยังสามารถเลือกให้อ่านข่าวในภาษาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษาเวียดนาม ภาษาเมียนมา ภาษาอังกฤษ
• กำหนด Playlist ตรงใจผู้ชม แพลตฟอร์ม VIPA ซึ่งเป็น OTT Streaming สามารถกำหนด Playlist ตรงใจผู้ชม มีระบบวิเคราะห์ว่าช่วงเวลาไหนที่คนชอบดูมากที่สุด และมีแผนว่าจะนำไปใช้กับเว็บไซต์ข่าวในอนาคตด้วย เพื่อดูเอนเกจเมนต์ว่าผู้ชมชอบคอนเทนต์ลักษณะใด โดยวิเคราะห์จากประชากรศาสตร์ และภูมิศาสตร์ เพื่อการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุด ( ชม VIPA ทุกความสุข... ดูฟรี ไม่มีโฆษณา http://www.VIPA.me )
• Live Auto ReZone แน่นอนว่าปัญหาของผู้ที่รับชมการถ่ายทอดสดออนไลน์ผ่านทางหน้าจอโทรศัพท์มือถือ จำเป็นต้องหมุนโทรศัพท์เพื่อความสะดวกในการรับชม แต่ในปีหน้านี้ ไทยพีบีเอสจะเน้นการเผยแพร่ Live Streaming ที่เป็น Auto ReZone หลากหลายขนาด ผู้ชมสามารถรับชมข่าวและรายการได้ง่ายขึ้นด้วย ในรูปแบบที่เหมาะสมกับอุปกรณ์
ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส มองว่าการปรับตัวเพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่เป็นเรื่องสำคัญ แต่ขณะเดียวกันต้องดูบริบทการใช้งาน และไม่สร้างผลกระทบอื่น ๆ ตามมา
“อย่าพุ่งตรงกับการหานวัตกรรมาต่อยอดอย่างเดียว ต้องศึกษาบริบทโดยรอบ เช่น ภัยอันตราย มีมุมดี ไม่ดีอะไรบ้าง เรื่องลิขสิทธิ์ การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมาย เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาด้วยเหมือนกัน เพื่อทำให้การใช้ AI หรือเทคโนโลยีไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ผิดไปจากที่เราตั้งใจจะพัฒนาให้ดี" ผอ. สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส ฝากทิ้งท้าย
ดังที่กล่าวมานี้ สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของอุตสาหกรรมสื่อที่พยายามหาแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาช่วยทำงาน โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ที่ปรากฏการใช้ AI หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน.
อ่านต่อ :
ว้าวุ่นกันทั้งโลก ! มนุษย์ หรือ AI ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ?
งานศิลปะจาก AI ลิขสิทธิ์เป็นของใคร ศิลปินปรับตัวอย่างไรเมื่อ AI ครองโลก
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ #ThaiPBSSciAndTech