ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดเรื่องราว “ดาวตก” ในประวัติศาสตร์


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

18 ธ.ค. 66

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

เปิดเรื่องราว “ดาวตก” ในประวัติศาสตร์

https://www.thaipbs.or.th/now/content/587

เปิดเรื่องราว “ดาวตก” ในประวัติศาสตร์
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เก็บตกปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา Thai PBS Sci & Tech ขอนำเรื่องราวของ “ดาวตก” ในประวัติศาสตร์ มาให้ได้รู้จัก

ในสมัยโบราณ วัตถุท้องฟ้ายามค่ำคืนนั้นมีความเชื่อมโยงกับความเชื่อด้านผีสางเทวดา และคนโบราณมองว่ามีความเกี่ยวข้องกับเทพเจ้า ศาสนา และความเชื่อ ซึ่งกว่ามนุษย์จะมีความเข้าใจเกี่ยวกับอุกกาบาตที่ถูกต้อง ก็เพิ่งจะเกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 นี้เอง

คนสมัยโบราณเคยมองว่า “อุกกาบาต” เป็นสิ่งที่มีนัยทั้งเชิงบวกและเชิงลบ คือ “ของขวัญจากเทพเจ้า” หรือ “ความโกรธเกรี้ยวของเทพเจ้า” บ้างก็เชื่อว่าอุกกาบาตตกลงมาจาก “พายุฝนฟ้าคะนอง” จนเคยมีชื่อเล่นในภาษาอังกฤษว่า “Thunderstone” อย่างเช่น "Thunderstone of Ensisheim” อุกกาบาตหินที่ตกถึงพื้นโลกในทวีปยุโรป เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1492 ซึ่งเป็นอุกกาบาตที่เก่าแก่ที่สุด ที่เคยมีการจดบันทึกเหตุการณ์เอาไว้ ทั้งนี้ ในช่วงเวลานั้นนักวิทยาศาสตร์หลายคนไม่เชื่อว่าอุกกาบาตเป็นสิ่งที่ร่วงตกลงมาจากเมฆหรือสวรรค์ (ตามความเชื่อ) หรือแม้กระทั่งไม่เชื่อในคำกล่าวอ้างของผู้พบเห็นว่ามีวัตถุตกลงมาจากท้องฟ้าจริง

จากข้อมูลของสมาคมประวัติศาสตร์นิวอิงแลนด์ (New England Historical Society) กล่าวว่าในปี ค.ศ. 1807 มีลูกไฟระเบิดเหนือรัฐคอนเนคทิคัต (Connecticut) ทางชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ และมีอุกกาบาตหลายชิ้นร่วงตามลงมา ก่อนมีการค้นพบอุกกาบาตที่ตกลงมาถึงพื้นแล้วมีการนำไปศึกษาต่อ จนเกิดทฤษฎีใหม่ว่าอุกกาบาตเป็นส่วนที่แตกออกมาจากดาวเคราะห์น้อย หรือดาวเคราะห์ดวงอื่น ก่อนตกลงมายังโลก ซึ่งทฤษฎีนี้ก็ได้วิวัฒนาการมาสู่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุกกาบาตของนักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน

การพุ่งชนโลกของ “อุกกาบาต”

ปกติแล้ว อัตราเร็วของอุกกาบาตขณะที่อุกกาบาตร่วงลงมาถึงพื้นโลกจะเหลือเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของอัตราเร็วอุกกาบาตขณะเริ่มปะทะบรรยากาศโลก และการปะทะของอุกกาบาตกับพื้นโลก จะสามารถทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตที่มีขนาดความกว้างราว 12 - 20 เท่าของขนาดตัวอุกกาบาต ซึ่งหลุมอุกกาบาตที่ขนาดแตกต่างกัน จะมีรูปร่างลักษณะต่างกันด้วย

- หลุมอุกกาบาตขนาดเล็ก : จะมีรูปร่างคล้ายชามอ่าง
- หลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ : จะมียอดเขาตรงกลางที่เกิดจากการยกตัวสะท้อนกลับขึ้นมาของเปลือกดาว และผนังหลุมมักจะถล่มตัวลงมาจนมีลักษณะคล้ายขั้นบันไดลดหลั่นเป็นชั้น ๆ
- ที่ราบจากการพุ่งชน : มีขนาดใหญ่กว่าหลุมอุกกาบาตโดยทั่วไปมาก และเปลือกดาวมีการยกตัวสะท้อนกลับขึ้นมาจากเช่นกัน แต่จะปรากฏยอดเขาข้างในเป็นชั้น ๆ หลายวง

การเก็บกู้อุกกาบาตลูกใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1948 มีอุกกาบาตตกลงมาในทุ่งข้าวสาลี ทางตอนใต้ของรัฐเนแบรสกา มีผู้พบเห็นลูกไฟลูกใหญ่เคลื่อนที่ไปบนท้องฟ้าในช่วงบ่าย ตามมาด้วยเสียงครึกโครมดังสนั่น ก่อนตรวจพบอุกกาบาตหนัก 1,070 กิโลกรัมฝังอยู่ลึกลงไปใต้ผิวดินราว 3 เมตร

ส่วนหลุมอุกกาบาตที่มีชื่อเสียงที่สุดในสหรัฐฯ คือ หลุมอุกกาบาตบาร์ริงเกอร์ (Barringer Crater) ในรัฐแอริโซนา ซึ่งเป็นหลุมอุกกาบาตอายุราว 50,000 ปี ที่ถือว่าค่อนข้างใหม่ในสเกลเวลาทางธรณีวิทยา มีขนาดความกว้างเกือบ 1.2 กิโลเมตร และลึก 170 เมตร เกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตเหล็กขนาดประมาณ 30 - 50 เมตร

อย่างไรก็ดี ดาวตกที่ไม่ได้พุ่งตกลงถึงพื้นโลก ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ทำให้เกิดอันตรายใด ๆ ดาวตกขนาดใหญ่บางลูกสามารถเหลือรอดลงมาถึงระดับความสูงเหนือพื้นผิวโลกไม่มากนัก จากนั้นก็เกิดการระเบิดขึ้น ทำให้เกิดความเสียหายจากคลื่นกระแทก รวมถึงเพลิงไหม้ที่ตามมา เหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นใน “เหตุการณ์ตุงกุสคา” (Tunguska event) ในภูมิภาคไซบีเรียของรัสเซีย เมื่อปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1908 ซึ่งมีผู้สังเกตที่อยู่ห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตรพบเห็นลูกไฟลูกใหญ่พุ่งผ่านท้องฟ้า โดยวิถีของวัตถุพุ่งฝ่าบรรยากาศโลกเป็นมุมเฉียงมาก ก่อนเกิดการระเบิดกลางอากาศ ทำให้เกิดลมร้อนและเสียงดังแผ่ออกมาไกล รวมถึงคลื่นกระแทกจนแผ่นดินสั่นไหวและกระจกตามบ้านเรือนใกล้เคียงแตกเสียหาย

ทั้งนี้ มีการส่งทีมนักวิทยาศาสตร์ออกสำรวจเพื่อค้นหาชิ้นส่วนอุกกาบาตที่อาจพุ่งตกลงบริเวณใกล้เคียง แต่ก็ไม่มีรายงานการค้นพบใด ๆ ในช่วงนั้นนักวิทยาศาสตร์คาดว่าวัตถุดังกล่าวอาจเป็นชิ้นส่วนจากดาวหาง แต่ในปัจจุบันนี้ สมมติฐานที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด คือ เป็นลูกไฟหรือดาวตกลูกใหญ่มากที่เกิดระเบิดขึ้นกลางอากาศในระดับความสูงที่ค่อนข้างน้อย

เหตุการณ์ลูกไฟระเบิดกลางอากาศคล้ายกันนี้เกิดขึ้นบริเวณเหนือเมืองเชเลียบินสค์ (Chelyabinsk) ในรัสเซีย เมื่อก้อนหินขนาด 17 เมตรที่พุ่งมาจากอวกาศ เกิดระเบิดที่ระดับความสูงประมาณ 19 - 24 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวโลก เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2013 เกิดคลื่นกระแทกจากการระเบิด ทำให้อาคารหลายแห่งเสียหายและผู้คนบาดเจ็บมากกว่า 1,000 คน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าพลังงานจากการระเบิดของลูกไฟลูกนี้ เทียบเท่าพลังงานจากการระเบิดของ TNT มวล 470 กิโลตัน หรือประมาณ 30 - 40 เท่าของพลังงานจากการระเบิดนิวเคลียร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

แม้ว่าเหตุการณ์ลูกไฟระเบิดกลางอากาศในรัสเซีย จะทำให้ผู้คนได้เห็นถึงภัยอันตรายที่เกิดจากสะเก็ดดาวขนาดใหญ่ที่พุ่งเข้าหาโลก แต่ดาวตกเกือบทั้งหมดนั้นไม่ได้สร้างความเสียหายมากนัก โดยปัจจุบันมีหน่วยงานที่คอยเฝ้าระวังวัตถุในอวกาศที่อาจเป็นอันตรายต่อโลก เช่น องค์การนาซา (NASA) และองค์กรที่เกี่ยวข้องแห่งอื่น ๆ จนสามารถค้นพบวัตถุใกล้โลกหลายดวง ทั้งดาวหาง ดาวเคราะห์น้อย และสะเก็ดดาว ซึ่งจะมีการคำนวณเส้นทางวงโคจรของวัตถุเหล่านี้ เพื่อวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงต่อการพุ่งชนโลกในอนาคต โดยทางนาซาได้ลงข้อมูลของวัตถุใกล้โลกไว้ที่เว็บไซต์ "ฐานข้อมูลวัตถุขนาดเล็ก"

📌อ่าน ปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” ตื่นตาทั่วไทย

📌อ่าน :  "ฝนดาวตก" คืออะไร แตกต่างจาก "ดาวตก" อย่างไร ? 

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : space, พิสิฏฐ นิธิยานันท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดาวตกอุกกาบาตปรากฏการณ์ธรรมชาติปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ดาราศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphobT@thaipbs.or.th หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด