รายงานจากการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 67 ที่ผ่านมา ระบุว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” อาจส่งผลให้ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมกว่า 14.5 ล้านคน และเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 12.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 444 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2050 (ปี พ.ศ. 2593)
คำแถลงจากการประชุมข้างต้นระบุว่า รายงานฉบับนี้ร่วมรวบรวมโดยการประชุมฯ และโอลิเวอร์ ไวแมน (Oliver Wyman) บริษัทที่ปรึกษา อ้างอิงแบบจำลองที่พัฒนาโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยวิถีความเป็นไปได้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม 2.5-2.9 องศาเซลเซียส
รายงานฉบับนี้วิเคราะห์ผลกระทบที่ตามมาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำนวน 6 รายการ ได้แก่ อุทกภัย ภัยแล้ง คลื่นความร้อน พายุโซนร้อน ไฟป่า และระดับน้ำทะเลหนุนสูง โดยอุทกภัยเพียงอย่างเดียวอาจส่งผลให้ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิต 8.5 ล้านคน ภายในปี 2050 ซึ่งเป็นความเสี่ยงเสียชีวิตเฉียบพลันสูงสุดอันมีต้นตอจากสภาพภูมิอากาศ
ภัยแล้งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันเกี่ยวพันกับสภาพภูมิอากาศอันดับ 2 ที่อาจคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกราว 3.2 ล้านคน ส่วนคลื่นความร้อนอาจก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากที่สุด คิดเป็นมูลค่าราว 7.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 252 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2050
รายงานฉบับนี้เตือนว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศจะทวีคูณความไม่เท่าเทียมทางสุขภาพทั่วโลกและประชากรกลุ่มเปราะบางที่สุดจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยภูมิภาคอย่างแอฟริกาและเอเชียใต้จะยังคงเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมาก เพราะมีทรัพยากรจำกัด ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น
ทั้งนี้ การประชุมสภาเศรษฐกิจโลกเรียกร้องผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วโลกดำเนินการเชิงยุทธศาสตร์ขั้นเด็ดขาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซมลพิษและลดทอนผลกระทบเชิงลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อสุขภาพ
ชายัม บิเชน หัวหน้าศูนย์สุขภาพและการดูแลสุขภาพ และสมาชิกคณะกรรมการบริหารการประชุมฯ กล่าวว่าความคืบหน้าที่สร้างมาก่อนหน้านี้จะสูญเปล่า หากไม่มีการลดปล่อยก๊าซมลพิษและดำเนินมาตรการลดทอนผลกระทบอย่างจริงจังเพิ่มขึ้น รวมถึงดำเนินการสร้างระบบสุขภาพที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นปรับตามสภาพภูมิอากาศในระดับโลก
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : Xinhua