ไม่จริง ! หลอกคุย 2 นาที ดูดเงินหมดบัญชี


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

16 ก.พ. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
ไม่จริง ! หลอกคุย 2 นาที ดูดเงินหมดบัญชี

จากประเด็น “หลอกคุย 2 นาที ดูดเงินหมดบัญชี” ด้วยความห่วงใยไม่อยากให้มีใครต้องตกเป็นเหยื่อ “มิจฉาชีพ” Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลพยานหลักฐาน และคำแถลงการณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคดีนี้มาให้ได้ทราบว่า เพียงการรับสายหรือกดลิงก์ พวกเรายังปลอดภัยไม่โดนดูดเงินออกจากบัญชี

โดยจากการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลพยานหลักฐานในคดีที่เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกันก่อนหน้านี้ รวมไปถึงคำแถลงการณ์ของศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) ภายใต้สมาคมธนาคารไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอยืนยันว่า แค่การรับโทรศัพท์ หรือการกดลิงก์เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้มิจฉาชีพดูดเงินในบัญชีของเราได้

แต่ที่ต้องกล่าวในอีกทางคือ การรับโทรศัพท์ การกดลิงก์นั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นให้ “มิจฉาชีพ” สามารถ “หลอกลวง”  เราได้ โดยต้องมีพฤติการณ์อื่นร่วมนั้นเอง

หลัก ๆ มิจฉาชีพมักจะใช้ 3 วิธีในการหลอกลวงเหยื่อ

1. พูดให้เหยื่อโอนเงินให้เอง
2. พยายามหลอกถามข้อมูลเหยื่อเพื่อนำข้อมูลไปใช้เข้าถึงบัญชีบน Application ของเหยื่อ
3. หลอกล่อให้เหยื่อติดตั้งโปรแกรมควบคุมมือถือเพื่อโอนเงินออกเอง
4. หลอกล่อให้เหยื่อเผลอกดรหัสนิรภัย หรือ ข้อมูลสำคัญสำหรับโอนเงิน

ดังนั้นสิ่งที่ “มิจฉาชีพ” จะกระทำกับ “เรา” เมื่อ “รับสายโทรศัพท์” คือ

1. พยายามสร้างความน่าเชื่อถือให้ตนเอง
2. พยายามสนทนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ท่านไม่มีสมาธิจดจ่อกับข้อความที่ปรากฏขึ้นบนโทรศัพท์
3. เมื่อท่านเริ่มเคลิ้มตามไปกับมิจฉาชีพ มิจฉาชีพจะใช้จังหวะนี้ในการหลอกถามข้อมูลส่วนบุคคลของท่านเพื่อใช้ในการเข้าถึงแอปฯ บัญชีธนาคารของเราอีกที

จากกรณีก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น “สายชาร์จดูดเงิน”, “ลิงก์ดูดเงิน“, “QR Code ดูดเงิน” และในกรณีล่าสุดบนหน้าข่าวในช่วงนี้คือ “รับสายเพื่อดูดเงิน” ล้วนไม่เป็นความจริง มิจฉาชีพต้องดำเนินการอีกหลายขั้นตอนกว่าที่จะสามารถขโมยบัญชีของเหยื่อได้

แนวทางการป้องกัน

1. ไม่ดาวน์โหลดติดตั้ง รวมถึงกดลิงก์ใด ๆ โดยเฉพาะจากแหล่งที่ไม่รู้จักพร้อมให้ตรวจสอบลิงก์ก่อนกดทุกครั้ง
2. ไม่สแกนใบหน้ากับโปรแกรมจากแหล่งอื่น ๆ นอกเหนือจากแหล่งที่ได้รับการควบคุมและรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็น Official Store (App Store สำหรับ iOS และ Play Store สำหรับ Android เป็นต้น)
3. เมื่อรู้ตัว หรือสงสัยว่ากำลังคุยกับมิจฉาชีพ ไม่แนะนำให้คุยต่อ เพราะอาจจะหลงเชื่อมิจฉาชีพ เนื่องจากมิจฉาชีพอาจจะมีข้อมูลจริงทำให้พูดคุยแล้วยิ่งหลงเชื่อ รวมไปถึงอาจเสี่ยงต่อการถูกนำเสียงไปใช้ปลอมเพื่อหลอกลวงผู้อื่นต่อ
4. หลีกเลี่ยงการใช้รหัสเดียวกันในการปลดล็อกอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะรหัสเข้าแอปพลิเคชัน Mobile Banking เพื่อป้องกันการเผลอกดรหัสโอนเงินโดยไม่ตั้งใจ
5. หากมีข้อสงสัยใด ๆ ให้โทรสอบถามที่เบอร์ทางการของหน่วยงานนั้นโดยตรง หรือโทร.ปรึกษาสายด่วนศูนย์ AOC 1441

หากพี่น้องประชาชนท่านใดตกเป็นเหยื่อโจรออนไลน์ สามารถแจ้งความผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ (เฉพาะคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) ที่เว็บไซต์นี้เท่านั้น www.thaipoliceonline.go.th

🎬ดูคลิป รู้ทันกันได้ : ไขข้อข้องใจ คุย 2 นาที โดนมิจฉาชีพดูดเงินได้จริงหรือ ?

 

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.)

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เตือนภัยหลอกคุยหลอกลวงดูดเงินดูดเงินหมดบัญชีแอปดูดเงินแอปฯ ดูดเงินแอปฯ หลอกดูดเงินตำรวจไซเบอร์มิจฉาชีพThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Cyber Security Cybersecurity
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (เซบา บาสตี้)

บทความ NOW แนะนำ