EN

แชร์

Copied!

ตรวจสอบพบ: “มิจฉาชีพ” ปลอมข่าว “Thai PBS” อ้าง “ชาคริต” ถูกจับ

22 พ.ค. 6809:23 น.
1
หมวดหมู่#ข่าวปลอม
ตรวจสอบพบ: “มิจฉาชีพ” ปลอมข่าว “Thai PBS” อ้าง “ชาคริต” ถูกจับ

Thai PBS Verify พบคลิปจาก TikTok แอบอ้างใช้ภาพโลโก้ "Thai PBS" ลงคลิปอ้าง "ชาคริต แย้มนาม" นักแสดงจากซิตคอม "เป็นต่อ" ถูกจับพร้อมภรรยาในคดีฟอกเงิน เตือนอย่าหลงเชื่อ

พบมิจฉาชีพปลอมแปลงช่อง TikTok โดยใช้โลโก้ Thai PBS ลงคลิปอ้าง “ชาคริต แย้มนาม” นักแสดงจากซิตคอม “เป็นต่อ” ถูกจับพร้อมภรรยา ตรวจสอบพบแอบลวงแอดไลน์เว็บพนันออนไลน์ เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ เสี่ยงตกเป็นเหยื่อหลอกลวง

Thai PBS Verify พบแหล่งที่มาจาก : TikTok

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงคลิปปลอมอ้าง “ชาคริต แย้มนาม” ถูกจับกุม พร้อมเงิน 100 ล้านบาท โดยใช้โลโก้ปลอมของ “Thai PBS”

Thai PBS Verify พบคลิปจากช่อง TikTok ชื่อ “kaeww.9823” ทำคลิปใช้ภาพโลโก้ “Thai PBS” โดยไม่ได้รับอนุญาต ระบุข้อความว่า “รวบแล้ว ชาคริต นักแสดงดังเป็นต่อ” ซึ่งภายในคลิปมีความยาว 8 วินาที เป็นภาพวิดีโอขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เข้าจับกุมชายรายหนึ่ง โดยอ้างว่า พระเอกซิตคอมชื่อดังอย่าง “เป็นต่อ” หรือ ชาคริต แย้มนาม ถูกเจ้าหน้าที่คุมตัวพร้อมกับภรรยา หลังเพิ่งถ่ายละครเสร็จ เบื้องต้นพบเงินสดที่หลังรถมากกว่า 100 ล้านบาท” โดยคลิปดังกล่าวมีผู้เข้าชมกว่า 561,000 ครั้ง และถูกโพสต์เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 68 ที่ผ่านมา (ลิงก์บันทึก ที่ นี่ และ นี่)

เมื่อตรวจสอบภายในช่องดังกล่าวพบว่า บัญชีดังกล่าวมียอดผู้ติดตามจำนวน 2,062 คน มีการโพสต์คลิปในลักษณะเดียวกัน โดยใช้ภาพของดารานักแสดงคนอื่น ๆ เช่น ดีเจนุ้ย, ไก่ วรายุทธ และ แร็ปเปอร์ชื่อดัง 4bang และอ้างว่าบุคคลเหล่านี้ถูกจับกุมในต่างประเทศ หรือประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต พร้อมกับแอบอ้างโลโก้ของ Thai PBS นำมาโพสต์สร้างความเข้าใจผิดอีกด้วย (ลิงก์บันทึก ที่ นี่, นี่ และ นี่)

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงบัญชี TikTok ที่โพสต์ภาพของดารา-นักร้อง พร้อมเนื้อหาปลอม

ปัจจุบัน “Thai PBS” มีช่อง TikTok ทางการเพียงช่องเดียว ซึ่งใช้ชื่อว่า “thaipbs” โดยสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ ได้จากเครื่องหมายถูกสีฟ้า หรือ ติ๊กถูก ข้างชื่อช่อง ซึ่งเป็นเครื่องหมายยืนยันสถานะของช่องว่า TikTok ได้ยืนยันช่องดังกล่าวแล้ว รวมถึงยังสามารถสังเกตได้ว่า ช่องจริงของ Thai PBS มียอดผู้ติดตามเกือบ 3.7 ล้านคน ในขณะนี้ (ลิงก์บันทึกที่ นี่ และ นี่)

นอกจากนี้เมื่อเรานำภาพที่คลิปดังกล่าวอ้างถึงไปทำการตรวจสอบด้วยการค้นหาภาพย้อนหลัง โดยใช้คีย์เฟรมจากเครื่องมือตรวจสอบดิจิทัล InVid-WeVerify และการค้นหาด้วยเครื่องมือตรวจสอบภาพ Google Lens เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของภาพบุคคล พบว่า ภาพดังกล่าวถูกนำมาจากรายงานข่าว “รวบนายกฯ บางแก้ว คาสินบน 1.5 ล้าน” ของสถานีโทรทัศน์ PPTV แต่มีการตัดภาพบางส่วนออกเพื่อเลี่ยงโลโก้ของช่อง และนำเอาโลโก้ของ Thai PBS เข้าไปใส่ในคลิปวิดีโอดังกล่าวแทน (ลิงก์บันทึก)

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงการค้นหาภาพต้นฉบับด้วย เครื่องมือตรวจสอบดิจิทัล InVid-WeVerify 

ทั้งนี้ Thai PBS ก็มีการรายงานข่าวการจับกุม นายกฯ เทศบาลเมืองบางแก้ว จ.สมุทรปราการ ด้วยเช่นกัน โดยเป็นรายงานข่าวในช่วง “วันใหม่ ไทยพีบีเอส” ซึ่งออกอากาศเมื่อเวลา 05.13 น. ของวันที่ 22 ก.ย. 66 แต่ภาพวิดีโอการจับกุมดังกล่าว ไม่ได้เหมือนกับมุมภาพในวิดีโอที่ได้มีการปลอมขึ้นแต่อย่างใด (ลิงก์บันทึก)

อย่างไรก็ตาม Thai PBS Verify พบข้อสังเกตจากข้อความภายในคลิป ที่มีการระบุถึงข้อความ Allstar.23 โดยอ้างว่า ชาคริต มีการโอนเงินผ่าน Allstar.23 มาตั้งแต่ปี 2022 หรือ เคยเห็นชาคริตเคยพูดว่ามีทุกวันนี้ได้เพราะ Allstar.23 เป็นต้น ซึ่งเมื่อนำข้อความดังกล่าวไปแอดไลน์ พบว่า ข้อความดังกล่าวเป็นไอดีไลน์ของเว็บไซต์พนันออนไลน์เว็บไซต์หนึ่ง

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงบัญชีชักชวนเล่นพนัน ซึ่งแสดงขึ้นมาหลังจากมีการเพิ่มเพื่อนด้วยไอดีไลน์ที่มีการกล่าวอ้าง

กระบวนการตรวจสอบ

  1. วิเคราะห์คลิปวิดีโอ : ตรวจสอบชื่อช่อง โลโก้ และรูปแบบเนื้อหา
  2. เปรียบเทียบกับช่องจริง : ตรวจสอบข้อมูลทางเทคนิค เช่น วันสร้างช่อง และเครื่องหมายยืนยัน
  3. ใช้เครื่องมือ InVid-WeVerify และ Google Lens : ตรวจสอบภาพคีย์เฟรมจากวิดีโอ เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของภาพบุคคล

ผลกระทบจากการได้รับข้อมูลเท็จ

  1. สร้างความเข้าใจผิดแก่สาธารณชน : ทำให้ประชาชนเชื่อว่าบุคคลมีชื่อเสียงกระทำผิด ทั้งที่ไม่เป็นความจริง
  2. บั่นทอนความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชน : โดยเฉพาะการแอบอ้างโลโก้ Thai PBS ซึ่งอาจทำให้ประชาชนสับสนว่าข่าวมาจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้
  3. ล่อลวงผู้ชมไปสู่เว็บไซต์ผิดกฎหมาย : เว็บไซต์พนันออนไลน์ ที่อาจเป็นช่องทางของการฉ้อโกงหรือขโมยข้อมูลส่วนตัว
  4. เสี่ยงต่อคดีความทางกฎหมาย : การแชร์ข่าวปลอมอาจถือเป็นการหมิ่นประมาทหรือละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น

ข้อแนะนำเมื่อได้ข้อมูลเท็จนี้ ?

  1. อย่าแชร์หรือส่งต่อ หากไม่ได้ตรวจสอบแหล่งข่าว
  2. ใช้เครื่องมือออนไลน์ เช่น InVID, Google Reverse Image Search เพื่อตรวจสอบที่มาของภาพหรือวิดีโอ
  3. หลีกเลี่ยงการกดลิงก์หรือแอดไลน์ที่แนบมากับคลิป
  4. ตรวจสอบกับ ช่องทางทางการ ของบุคคลที่ถูกกล่าวอ้าง
  5. เปรียบเทียบกับสื่อหลัก ดูว่ามีสื่อที่เชื่อถือได้รายงานเหตุการณ์นี้หรือไม่
  6. ระวังอารมณ์ ถ้าคลิปกระตุ้นอารมณ์แรง ๆ อาจเป็นการจงใจหลอก
  7. กดรายงาน เพื่อป้องกันไม่ให้คลิปปลอมเหล่านี้ถูกเผยแพร่ต่อไป

สามารถติดตามและรับชมเนื้อหาจาก Thai PBS ผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้

เว็บไซต์ทางการ

TikTok

LINE Official Account

Instagram

YouTube

X (Twitter)