นักรัฐศาสตร์มองกระแส "ส.ส.ย้ายพรรค" ชี้สุดท้ายสู้กันด้วยเงิน

การเมือง
14 ธ.ค. 65
15:18
295
Logo Thai PBS
นักรัฐศาสตร์มองกระแส "ส.ส.ย้ายพรรค" ชี้สุดท้ายสู้กันด้วยเงิน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักรัฐศาสตร์มองกระแส "ส.ส.ย้ายพรรค-ย้ายขั้ว" ชี้การเมืองยังเป็น "Money in Politics" ระบุ "เงิน-ผลประโยชน์ตำแหน่ง" ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการย้ายพรรค เชื่อ ส.ส.ยังอยู่กับ "พล.อ.ประยุทธ์" เหตุ 250 ส.ว.ยังหนุนปัจจัยสำคัญตั้งรัฐบาลสมัยหน้า

วันนี้ (14 ธ.ค.2565) รศ.พรชัย เทพปัญญา นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส ถึง กรณีกระแสข่าวการย้ายพรรคของ ส.ส.และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ในขณะนี้ โดยระบุว่า กรณีนี้มาจาก 2 สาเหตุ คือ 1.ปรากฏการณ์ที่ ส.ส.ย้ายพรรคไปจำนวนมากจนถึงขั้นผิดสังเกต ซึ่งเรียกว่า "Money in Politics" หรือ ประชาธิปไตยที่ต้องใช้เงิน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการย้ายพรรค 2.กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ เนื่องจากยังเชื่อในตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และยังรอดูว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะย้ายไปพรรคการเมืองใด

ทั้งนี้ กลุ่มที่ยังไม่ติดสินใจ คาดว่ายังเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีความนิยมอยู่ สามารถเป็นรัฐบาลได้ รวมถึงยังมีเสียง ส.ว.จำนวน 250 เสียงสนับสนุนอยู่ และในการเลือกตั้งครั้งหน้าแม้ว่าจะเพลี่ยงพล้ำในการเลือกตั้งได้เป็นพรรคอันดับ 3 - 4 แต่ยังเชื่อว่าโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะยังคงเป็นรัฐบาลมีโอกาสสูงกว่าพรรคอื่น ๆ และ ส.ส.ก็คิดว่า การเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ย่อมดีกว่าเป็นพรรคฝ่ายค้าน

บริบทการเมืองไทย มันคือ Money in Politics มันสะท้อนหายนะการเมืองไทยที่เกิดขึ้น ตราบใดที่ใช้เงินในการกว้านซื้อ ส.ส.หรือระดม ส.ส. ซึ่งไม่ได้หมายถึงพรรคภูมิใจไทย นะ แต่หมายถึงพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง ที่ใช้เงินในการซื้อ ส.ส.จะนำมาสู่ การคอรัปชันในอนาคต เพราะลงทุนไปแล้วก็ต้องถอนทุนคืน

รศ.พรชัย ยังกล่าวว่า ถ้าพูดถึงเรื่องการเมือง เรื่องของอุดมการณ์ หรือ เรื่องการย้ายพรรคโดยไม่ดูปัจจัยประกอบ คงจะเป็นไปไม่ได้ ซึ่งปัจจัยประกอบเห็นเพียงประเด็นเดียวเท่านั้นคือ เงินตรา ผลประโยชน์ ทรัพย์สิน ตำแหน่งรัฐมนตรี

ขณะที่ กรณีพรรคเพื่อไทยจะสกัดอย่างไร หาก ส.ส.ของพรรค ย้ายไปร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการ "แลนด์สไลด์" ของพรรคเพื่อไทยได้ โดย รศ.พรชัย ระบุว่า ก็ต้องประมูลกัน ผลสุดท้ายต้องสู้กันด้วยเงิน ดูดไป ก็ต้องดูดกลับ ระหว่างพรรคต่าง ๆ ซึ่งใครมี ส.ส.มาก ก็ถือว่ากุมความได้เปรียบในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้า และเป็นหัวหน้ารัฐบล และเป็นนายกฯได้

ขณะที่กรณีพรรคประชาธิปัตย์ ที่ย้ายไปพรรครวมไทยสร้างชาติ รศ.พรชัย ระบุว่า ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.และคงเป็นแนวคิดทางการเมืองที่จะไปร่วมงานทางการเมือง กับ พล.อ.ประยุทธ์ ประกอบกับการที่ไม่มีที่ยืนในพรรคประชาธิปัตย์ เช่นไม่ได้ลง ส.ส.หรือ ทางพรรคดูแลไม่ดี ดังนั้นทางเลือกที่ดีกว่าคือ การย้ายไปพรรครวมไทยสร้างชาติ

เชื่อ "พล.อ.ประวิตร" พูดเล่น ปมปิดพรรคหากถูกดูด ส.ส.เยอะ

ด้านพรรคพลังประชารัฐ ที่มีกระแสข่าวย้ายพรรคออกไปจำนวนมาก โดยที่ พล.อ.ประวิตร เคยกล่าวว่า หาก ส.ส.ย้ายออกไปเป็นจำนวนมาก ก็จะปิดพรรค และ ท่าทีที่ กล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์ ว่า จะออกจากพรรคไปนั้นสามารถตีความได้อย่างไร โดย รศ.พรชัย กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ประวิตร พูดนั้น แสดงว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไปแน่นอน เนื่องจากมีนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่ย้ายเข้ามา ซึ่งทั้ง 2 คนนั้นอยู่ตรงข้ามกับ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่แล้ว ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่เห็นจุดยืนของพรรคพลังประชารัฐ

ขณะที่กรณี พล.อ.ประวิตร พูดถึงการ "ปิดพรรค" นั้น เชื่อว่า พล.อ.ประวิตร พูดเล่น เพราะเชื่อว่า พล.อ.ประวิตร มีกำลังภายในสูง และมีผู้ที่จะเข้ามาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ ค่อนข้างมาก และย้ายออกก็ไม่มี แต่นี่คือความคับข้องใจว่า "เป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันทำไมจึงแย่งคนไปเยอะ พวกเดียวกันมาตกปลาในบ่อเพื่อน ไม่มีใครเขาทำกัน"

นอกจากนี้ กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ชัดเจนถึงการย้ายพรรค นั้นมองว่า พรรคพลังประชารัฐ ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ มากกว่า แต่ก็เชื่อว่า พรรคพลังประชารัฐ ยังไม่ปิดประตู พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะกลับมาพรรคพลังประชารัฐ อีกก็ได้ เนื่องจากหาก 2 พี่น้องแยกกันออกเป็น 2 ฝ่าย จะทำให้กำลังหลักนั้นลดลง และการจัดตั้งรัฐบาลอาจลำบาก

แม้ว่าจะมีโอกาสเพียง 0.05% ก็ยังมีโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาพรรคพลังประชารัฐ ไม่ถึงกับขาดเลยเพราะการเลือกตั้งยังไม่เกิดขึ้น การเสนอชื่อแคนดิเคตนายกฯยังไม่ชัดเจน ผมยังไม่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไปพรรครวมไทยสร้างชาติได้ในขณะนี้

ขณะที่ กรณีกระแสข่าว ส.ส.ย้ายพรรค จะเกิดปัญหาสภาล่มฯ อีกหรือไม่ เชื่อว่า เรื่อง สภาล่ม กับยุบสภา ไม่ใช่เรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ สนใจ แต่ที่คิดว่าจะทำอย่างไรให้อยู่ในตำแหน่งนายกฯ นานที่สุด

ถ้าจะยุบสภาฯเชื่อว่าจะเกิดขึ้นปลายเดือน ก.พ.และ มี.ค. เพราะฉะนั้นถึงสภาฯจะไม่ครบองค์ประชุม ปิดก่อนกำหนด กฎหมายพิจารณาไม่ได้ ส.ส.ลาออก ตราบใดที่ยังมี ส.ส.เกินครึ่ง เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่นำเรื่องนี้มาเป็นเกณฑ์ในการยุบสภาฯ ซึ่งไม่ใช่เป็นเกณฑ์ปัจจัย

นอกจากนี้ พ.ร.บ.กัญชา-กัญชง ที่จะผ่านการพิจารณาหรือไม่นั้น ส่วนหนึ่งพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่เห็นด้วย รวมถึงยังมีปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น พรรคพวกไม่ชอบที่พรรคหนึ่งทำกับอีกพรรคหนึ่ง ดังนั้นปัจจัยเรื่องการผ่านร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ จึงอยู่ที่เรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

 ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“พิชาย” วิเคราะห์ "เพื่อไทย" มาแน่ 230 เสียง ภูมิใจไทย 120 ประเมินเกินจริง

"พิธา" กั๊กหนุนกฎหมายกัญชา ยืนยันค้านเสรีแบบสุดโต่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง