กล้องโทรทรรศน์อวกาศ NEOWISE กล้องโทรทรรศน์อวกาศตรวจจับเทหวัตถุใกล้โลกกำลังเข้าใกล้ช่วงเวลาสุดท้ายของมัน หลังจากที่มันทำงานยาวนานเกินกว่าที่ออกแบบไว้ถึง 18 เท่า ในบทความนี้จะชวนไปสำรวจและทำความรู้จักกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศตรวจจับเทหวัตถุนอกโลกตัวนี้กัน
กล้องโทรทรรศน์อวกาศ NEOWISE เริ่มต้นการทำงานของมันในฐานะกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Wide-field Infrared Survey Explorer (WISE) หรือ กล้องโทรทรรศน์อวกาศถ่ายภาพกว้างในช่วงคลื่นอินฟราเรด มีหน้าที่ของถ่ายภาพรังสีอินฟราเรดให้ครอบคลุมทั้งท้องฟ้า กล้องโทรทรรศน์อวกาศได้รับการพัฒนาโดย Jet Propulsion Laboratory หรือ JPL ในช่วงแรกมันถูกออกแบบให้ปฏิบัติภารกิจหลักเพียง 6 เดือนเท่านั้นในวงโคจรรอบโลก
มันถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในเดือนธันวาคมปี 2009 หลังจากที่มันปฏิบัติภารกิจหลักเสร็จสิ้นแล้ว ทาง NASA อนุมัติขยายอายุภารกิจไปจนถึงปี 2011 เนื่องจากตัวอุปกรณ์ยังมีศักยภาพที่สามารถทำงานในการสำรวจอวกาศได้อยู่
ในช่วงนี้กล้อง WISE ยังคงสำรวจอวกาศที่ห่างไกล ทั้งดาวแคระขาวที่กำลังระเบิด ดาวแคระน้ำตาล และหลุมดำมวลยิ่งยวดที่กำลังกลืนกินหลุมดำอีกหลายสิบดวงพร้อม ๆ กัน นอกจากนี้ด้วยศักยภาพของกล้อง WISE มันยังทำหน้าที่ศึกษาเทหวัตถุในระบบสุริยะของเราอย่างกลุ่มเทหวัตถุโทรจันในวงโคจรของดาวพฤหัสบดีอีกด้วย
จนกระทั่งภายหลังระบบก๊าซทำความเย็นของตัวกล้องโทรทรรศน์ก็หมดลง ทำให้มันไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ตามเดิม แต่ตัวกล้องก็ยังสามารถทำความเย็นได้มากพอสำหรับการตรวจจับเทหวัตถุในอวกาศ ในปี 2013 NASA ตัดสินใจขยายช่วงเวลาภารกิจของ WISE ออกไปเพิ่มเติมและเปลี่ยนเป้าหมายภารกิจจากการสำรวจอวกาศลึกสู่การทำหน้าที่ศึกษาและตรวจจับเทหวัตถุภายในระบบสุริยะ และเปลี่ยนชื่อภารกิจใหม่เป็น Near Earth Object Wide-field Infrared Survey Explorer (NEOWISE) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการการปกป้องโลกจากดาวเคราะห์น้อยของสหรัฐอเมริกา
ตลอดระยะเวลากล้องโทรทรรศน์อวกาศ NEOWISE ได้ทำการตรวจวัดเทหวัตถุในอวกาศรวมทั้งสิ้น 1,450,000 ครั้ง ตรวจจับวัตถุในระบบสุริยะไปทั้งหมด 44,000 วัตถุ ตรวจวัดเทหวัตถุในกลุ่มใกล้โลกทั้งหมดมากกว่า 3,000 วัตถุ มีวัตถุที่พบใหม่จากการตรวจจับของ NEOWISE ทั้งหมด 215 วัตถุ รวมไปถึงดาวหางคาบยาวดวงหนึ่งที่ถูกค้นพบและเดินทางเข้าสู่ระบบสุริยะชั้นในในช่วงปี 2020 นั้นคือดาวหาง NEOWISE ที่โด่งดังนั้นเอง
แต่ด้วยอายุการทำงานของมันที่ค่อนข้างมากและเชื้อเพลิงที่ใช้ในการปรับวงโคจรหมดลงไปแล้ว ตัว NEOWISE ที่โคจรอยู่ในวงโคจรของโลกก็จะถูกชั้นบรรยากาศของโลกค่อย ๆ ลากตัวของมันลงมา ในตอนแรก NASA ได้กำหนดเวลาในการยุติภารกิจมาหลายครั้งแล้ว แต่ตัว NEOWISE ก็ยังคงตอบสนองต่อการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการยืดอายุของภารกิจอยู่เรื่อย ๆ แต่ในจากการคำนวณของทีมวิศวกร NEOWISE จะมีความเร็วลดลงจนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกในช่วงปลายปี 2024 ถึงช่วงตลอดปี 2025 ดังนั้นหมายความว่าเราสามารถเสีย NEOWISE ไปได้ทุกเมื่อ
ดังนั้น NASA จึงมีแผนปลดการปฏิบัติการของ NEOWISE ในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ และในวันที่ 8 สิงหาคมจะสั่งให้จำศีลตัวอุปกรณ์ภายใน NEOWISE เป็นการสิ้นสุดการทำงานของกล้องโทรทรรศน์อวกาศตรวจจับเทหวัตถุใกล้โลกไปอย่างตลอดกาล
NASA มีแผนในการส่งกล้องโทรทรรศน์ที่ทำหน้าที่ในการตรวจจับเทหวัตถุใกล้โลกขึ้นไปเพิ่มเติมหลังจากภารกิจ NEOWISE ในปี 2027 เพื่อเป็นการสานต่อและเป็นระบบแจ้งเตือนภัยของเทหวัตถุใกล้โลกต่อไป
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech