10 ส.ค. 67
Thai PBS Sci & Tech
https://www.thaipbs.or.th/now/content/1487
SpaceX กำลังดำเนินการปรับเปลี่ยนฐานเก็บกู้ยาน Dragon และจุดลงจอดของยาน Dragon จากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกมายังฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกเนื่องจากพบว่า Truck หรือ Service Module ของยาน Dragon ที่ตกกลับเข้ามาในชั้นบรรยากาศด้วยนั้นเผาไหม้ไม่หมดและตกกลับลงมาสู่พื้นผิวโลก
Trunk ของยาน Dragon นอกจากจะมีหน้าที่ในการเป็นเหมือน Service Module ให้กับยาน Dragon แล้ว มันยังสามารถบรรทุกสัมภาระขนาดใหญ่ภายนอกยาน เช่น International Docking Adapter ของสถานีอวกาศนานาชาติได้อีกด้วย ซึ่ง Trunk นี้ขึ้นชื่อในเรื่องความแข็งแกร่งเป็นทุนเดิม เช่น จากเหตุการณ์ภารกิจ CRS-7 ที่จรวด Falcon 9 ระเบิด ในวิดีโอจะเห็น Trunk และยาน Dragon หลุดออกมาจากตัวจรวดโดยที่ในช่วงที่หลุดออกมาไม่ได้มีความเสียหายอะไร แต่น่าเสียดายที่ตัวยานที่หลุดออกมาตกกระแทกผิวน้ำและจมลงมหาสมุทรไป
หลังจากจบภารกิจและกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก Trunk จะแยกตัวออกจากยาน Dragon และจะถูกเผาไหม้จนหมดในชั้นบรรยากาศไม่ให้เป็นขยะกลับสู่โลก ส่วนยาน Dragon จะชะลอความเร็วด้วยการกางร่มและตกลงที่ผิวมหาสมุทร รอการเก็บกู้ของเจ้าหน้าที่ต่อไป
ในช่วงสมัยโครงการ Commercial Resupply Services (CRS) ที่ SpaceX ยังใช้งานยาน Dragon รุ่นแรก บริษัทได้เลือกจุดการลงจอดเป็นนอกชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก และมีฐานการปฏิบัติการอยู่ที่เมืองซานดิเอโก (San Diego) รัฐแคลิฟอร์เนีย ไม่ห่างจากสำนักงานใหญ่ของ SpaceX ที่ตั้งอยู่ในเมืองฮอว์ธอร์น (Hawthorne) ซึ่งอยู่บริเวณชานเมืองลอสแองเจลิส (Los Angeles) SpaceX ได้ใช้ลักษณะการเก็บกู้แบบนี้มาตลอดตั้งแต่ปี 2011-2020 แต่หลังจากที่ SpaceX ได้ทำภารกิจ Commercial Crew หรือการรับ-ส่งนักบินอวกาศขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ และใช้งานยาน Dragon 2 ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนจุดลงจอดจากนอกชายฝั่งแปซิฟิกมาเป็นนอกชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกและบริเวณอ่าวเม็กซิโกแทน จึงต้องย้ายฐานเก็บกู้มายังทางบริเวณท่าเรือแหลมคะเนเวอรัล (Port Canaveral) ตั้งแต่ปี 2020 เหตุผลก็เพื่อให้ทั้งนักบินอวกาศและสัมภาระทางวิทยาศาสตร์ที่กลับมากับยานสามารถกลับถึงศูนย์อวกาศเคเนดีของ NASA ในฟลอริดาได้อย่างรวดเร็วที่สุด
แต่หลังจากการเปลี่ยนมาใช้ยาน Dragon 2 และ Trunk รุ่นใหม่ เริ่มพบว่าตัว Trunk ที่พวกเขาจงใจให้มันถูกเผาไหม้จนหมดในชั้นบรรยากาศ กลับมีเศษชิ้นส่วนของ Trunk เหลือรอดกลับมาถึงบนโลก และมีชิ้นส่วนเหลือนี้ตกกลับมามากขึ้นเรื่อย ๆ ที่พบทั้งบนแผ่นดินและในทะเล เช่น การค้นพบชิ้นส่วนของ Trunk จากภารกิจ Crew-1 ที่ในประเทศออสเตรเลีย และจากภารกิจ Crew-7 ที่ประเทศเม็กซิโก ซึ่งนี่หมายความว่า Trunk ไม่ได้ถูกเผาไหม้จนหมดในชั้นบรรยากาศอย่างที่คาดการณ์ไว้และมีโอกาสที่มันจะตกลงใส่เขตที่อยู่อาศัยของประชาชนในประเทศต่าง ๆ ได้
SpaceX จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแผนการเดินทางกลับมาของยาน Dragon 2 จากที่ลงจอดบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกย้ายกลับมาลงจอดที่บริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกอีกครั้งหนึ่งเหมือนยุคของภารกิจ Dragon รุ่นแรก เพื่อป้องกันปัญหา Trunk ที่เผาไหม้ไม่หมดตกใส่เขตที่อยู่อาศัยซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ชิ้นส่วน Trunk ที่เหลือรอดจะได้ตกสู่มหาสมุทรแปซิฟิกที่กว้างใหญ่แทน
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends