17 พฤษภาคม วันความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension Day) ความเสี่ยงเสียชีวิตของผู้คนในโลกยุคใหม่ ลดได้ง่าย ๆ แค่ใช้ชีวิตให้เป็น


Thai PBS Care

17 พ.ค. 66

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
17 พฤษภาคม วันความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension Day) ความเสี่ยงเสียชีวิตของผู้คนในโลกยุคใหม่ ลดได้ง่าย ๆ แค่ใช้ชีวิตให้เป็น

“ความดันโลหิตสูง” ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโลก องค์การอนามัยโลกเผยว่าในปี 2556 มีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูงถึง 7.5 ล้านคนทั่วโลก และคาดการณ์ด้วยว่าในปี 2568 จะมีผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากความดันโลหิตสูงถึง 1.56 พันล้านคนทั่วโลก สาเหตุมาจากปัจจัยการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป กิจกรรมทางกายที่น้อยลง การบริโภคอาหารที่มีโซเดียมและไขมันมากขึ้น รวมถึงการดื่มแอลกอฮอร์และการสูบบุหรี่ ถือเป็นความเสี่ยงด้านสุขภาพของผู้คนในโลกยุคใหม่ที่ควรระวัง
ในโอกาสที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันความดันโลหิตโลก (World Hypertension Day) ก่อตั้งโดย สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) ตั้งแต่ปี 2548 เพื่อสร้างความตระหนักรู้โรคจากความดันโลหิตสูง โดยในปี 2566 นี้ มีธีมหลักคือ “วัดความดันอย่างไร สูงเกินไปคุมให้ดี ช่วยยืดชีวีให้ยืนยาว” (Measure Your Blood Pressure Accurate, Control it, Live Longer !)
วันนี้ Thai PBS care ขอเสนอเหตุผลที่คุณควรวัดความดัน และวิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยควบคุมความดันของคุณกัน

 

เหตุผลที่คุณควรตรวจวัดความดัน

ความดันโลหิตสูงมักเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ก็สามารถเกิดได้ในทุกช่วงวัย จึงควรตรวจวัดความดันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะความดันโลหิตสูงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของหลายโรคหากไม่มีการควบคุมความดันไว้ เช่น โรคหัวใจ โรคไต และอัมพฤกษ์ เป็นต้น นอกจากนี้คนไทยยังมีแนวโน้มเสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคจากความดันโลหิตสูงกันมากขึ้นอีกด้วย
 

ความดันสูงเป็นได้ทุกช่วงวัย
เสี่ยง หากปล่อยไว้ไม่กินยา
ไทยมีแนวโน้มผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น

 

พฤติกรรมที่ควรปรับเมื่อความดันสูง

ผู้ที่พบว่าตัวเองมีความเสี่ยงเกี่ยวกับความดันโลหิตสูง ควรปรับพฤติกรรมทั้งการกินและการออกกำลังกาย ลดการรับประทานโซเดียมลง โดยองค์การอนามัยโลก แนะนำไว้ว่า ไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชาต่อวัน นอกจากนี้ยังควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และลดการหยุดยาโดยปรึกษาแพทย์ที่ดูแลเพื่อปรับยาแทน ขณะที่การออกกำลังกายยังคงเป็นสิ่งที่ทำได้เพื่อช่วยควบคุมความดันในระยะยาว โดยควรงดเว้นเฉพาะในช่วงที่ระดับความดันโลหิตพุ่งสูงเกินไป (ค่าสูงเกินกว่า 160 เป็นต้นไป) 
 

ความดันสูงคุมได้ลดนอนดึก ลดเครียด ลดการหยุดยา

 

อาหารที่ควรกิน – ควรหลีกเลี่ยง

โพแทสเซียมถือเป็นสารอาหารที่มีส่วนช่วยลดผลกระทบจากการรับประทานโซเดียมในร่างกายลงได้ อาหารที่มีโพแทสเซียมจึงช่วยให้ความดันโลหิตลดลงได้ เช่น ผักใบเขียว ผลไม้สด ถั่ว ธัญพืช ในส่วนของเครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำมะพร้าวและโยเกิร์ต มีการศึกษาพบว่ากลุ่มคนที่รับประทานผัก ผลไม้ หรือกลุ่มมังสวิรัติ มักจะมีดันโลหิตน้อยกว่ากลุ่มที่รับประทานเนื้อแดง ในส่วนของอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ อาหารที่มีโซเดียมสูง อาหารที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ เช่น ชา กาแฟ เพราะคาเฟอีนมีผลต่อการบีบของหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานหนักยิ่งขึ้น จากเดิมที่ต้องทำงานหนักจากความดันสูงอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีอาหารจำพวกขนมปังที่มีส่วนผสมของผงฟูซึ่งเป็นโซเดียมแฝงที่ควรระมัดระวัง
 

อาหารควรกิน-เลี่ยงสำหรับคนเป็นความดันโลหิตสูง 

ความดันโลหิตสูงถือเป็นภัยเงียบต่อสุขภาพ จัดอยู่ในกลุ่มโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มักเกิดจากพฤติกรรม ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตลอดจนลดความเสี่ยงตั้งแต่วันนี้ จะมีส่วนช่วยป้องกันสุขภาพได้ในอนาคต

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
รู้สู้โรค : อาหารต้านความดันโลหิตสูง
อาหารควรกิน-เลี่ยง สำหรับคนเป็นความดันโลหิตสูง

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันความดันโลหิตสูงโลกความดันสูงคุมได้อาหารคุมความดัน
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่