ความสำเร็จทางด้านสุขภาพของไทย จากที่ประเทศไทยสามารถผลิต “อิมคราบิม 100” ยารักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้าได้สำเร็จ ส่งผลให้การรักษามะเร็งทำได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เมื่อผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาชนิดนี้ การยังต้องนำเข้า หรือผลิตได้เองบางส่วน ยังคงไม่เพียงพอ การที่ไทยสามารถผลิตยากลุ่มนี้ได้เพิ่ม ถือเป็นความสำเร็จที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มากมาย
Thai PBS ชวนทุกคนมารู้จัก “ยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า” (Targeted therapy) กันให้มากขึ้น ยาชนิดนี้สามารถช่วยอะไรได้บ้าง ? ต่างจากการรักษาอื่น ๆ อย่างไร ? ใช้ช่วยรักษามะเร็งอะไรได้บ้าง ?
การรักษาด้วยยามุ่งเป้าคืออะไร ?
การรักษามะเร็งมีการรักษา (Treatment) หลายแบบด้วยกัน ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของมะเร็งโดยมีเป้าหมายสำคัญคือการกำจัดหรือควบคุมไม่ให้มะเร็งทำอันตรายต่อร่างกาย
การรักษามะเร็ง หลัก ๆ มีด้วยกัน 3 วิธี ได้แก่
1.การรักษาด้วยการผ่าตัด (Surgery) มักทำในระยะแรก ๆ มีทั้งเพื่อตรวจพิสูจน์ และเพื่อรักษาด้วยการตัดเอามะเร็งออกจากร่างกายทั้งหมด
2.การกินยาเคมีบำบัดหรือการทำคีโม (Chemotherapy)
3.การฉายรังสีหรือฉายแสง (Radiotherapy)
นอกจากนี้ยังมีการรักษาทางเลือกอื่น ๆ และการรักษามะเร็งด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ทั้งนี้ แต่ละการรักษามีข้อดี – ข้อเสียรวมถึงข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป
การรักษามะเร็งด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) มีหลักการมาจากการศึกษาที่พบว่าเซลล์มะเร็งมีคุณสมบัติเฉพาะตัว ซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีน ทำให้สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกัน สามารถเจริญเติบโตด้วยตัวเองได้ ทั้งนี้ มะเร็งแต่ละชนิดมีกลไกการกลายพันธุ์ที่ไม่เหมือนกัน นักวิจัยจึงศึกษาและพัฒนายาที่สามารถยับยั้งกลไกการทำงานของยีนกลายพันธุ์นั้น ๆ ทำให้เซลล์มะเร็งถูกทำลาย ยาจึงออกฤทธิ์เฉพาะเจาะลงไปรบกวนการทำงานของเซลล์มะเร็ง จึงมีชื่อเรียกว่า “ยามุ่งเป้า” นั่นเอง
การรักษาด้วยยามุ่งเป้าใช้รักษามะเร็งชนิดไหนได้บ้าง ?
การรักษามะเร็งด้วยยาแบบมุ่งเป้ายังคงมีข้อจำกัด ยากลุ่มนี้จะใช้ได้ดีเฉพาะมะเร็งที่มีเป้าจำเพาะต่อการออกฤทธิ์ของยาเท่านั้น มะเร็งบางประเภทจึงตอบสนองกับการรักษานี้ได้ดี และบางชนิดตอบสนองได้น้อยกว่า ทำให้การรักษาใช้เวลาต่างกันได้ โดยมะเร็งที่สามารถรักษาด้วยยาแบบมุ่งเป้ามีดังนี้
- มะเร็งปอดชนิดยีนกลายพันธุ์ EGFR หรือชนิด ALK
- มะเร็งเต้านมบางชนิด
- มะเร็งกระเพาะอาหารชนิดยีน HER2 amplification
- มะเร็งลำไส้
- มะเร็งจิสต์ (GIST)
- มะเร็งต่อมลูกหมาก
- มะเร็งตับ
- มะเร็งต่อมไทรอยด์
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด
ทั้งนี้รูปแบบการรักษา เป็นลักษณะการตรวจการกลายพันธุ์และโปรตีนจากชิ้นเนื้อมะเร็งหรือเลือดของผู้ป่วย เพื่อประเมินความเหมาะสมหรือก็คือหา “เป้า” นั่นเอง จากนั้นจึงใช้ยามุ่งเป้าที่เหมาะสมกับการรักษาผู้ป่วยคนนั้น ๆ ไป
การรักษาด้วยยามุ่งเป้า ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างไร ?
การรักษามะเร็งด้วยยาแบบมุ่งเป้ามีจุดเด่นคือการที่ยามุ่งเป้าทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรง ส่งผลให้เซลล์ปกติได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย ขณะที่การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดจะทำลายทั้งเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็ว ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้รับการรักษา
ผลข้างเคียงของการรักษาด้วยยามุ่งเป้ามีค่อนข้างน้อย ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยและชนิดของยา ส่วนใหญ่ที่มักพบคือ อาการทางผิวหนัง เช่น ผื่นลักษณะคล้ายสิว ผิวหนังแห้ง คัน อาการทางเล็บ เช่น จมูกเล็บอักเสบ อ่อนเพลีย ปาก/คออักเสบ ความดันโลหิตสูง
เมื่อผลข้างเคียงน้อย ทำให้ผลการรักษาดี ทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น
การรักษาด้วยยามุ่งเป้า ราคาที่ยังคงสูงแต่สามารถเข้าถึงได้
การรักษาด้วยยามุ่งเป้ามีข้อดีที่เห็นได้ชัด แต่ในมุมกลับกัน ก็มีข้อจำกัดสำคัญ นั่นคือ ราคาของยาที่สูง และการตอบสนองต่อการรักษามะเร็งมีความแตกต่างกันไป ดังนั้น หากเป็นมะเร็งที่มีลักษณะการตอบสนองต่อการรักษาน้อย ค่าใช้จ่ายก็จะยิ่งสูงมากขึ้นตามไปด้วย
ค่าใช้จ่ายของการรักษาด้วยยามุ่งเป้า เริ่มตั้งแต่การตรวจหาโปรตีนเพื่อประเมินยามุ่งเป้าที่จะใช้ร่วมกับค่ายา ราคาอยู่ที่ 300,000 – 500,000 ต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้มียามุ่งเป้าที่อยู่ในสิทธิสุขภาพ ทั้งประกันสังคมและบัตรทอง โดยสามารถเข้าถึงได้ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง และข้อบ่งชี้ในการใช้ยานั้น ๆ ด้วย
ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยสามารถผลิตยามุ่งเป้าเองได้ ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดการเข้าถึงยากลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น
การรักษามะเร็งมีหลายวิธี การวิจัยและพัฒนาให้ประเทศไทยสามารถผลิตยา “อิมคราบิม 100” มาใช้เองได้ คือหัวใจหนึ่งของการรักษาที่ช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากยิ่งขึ้น
อ้างอิง
- ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์