นับหนึ่ง MOU ร่วมรัฐบาล “ไทย” เทียบ “เยอรมนี” จุดเริ่มต้นการเมืองใหม่ ต่อรอง “นโยบาย” แทน “เก้าอี้รัฐมนตรี”


เลือกตั้ง 66

22 พ.ค. 66

ชาลี นวธราดล

Logo Thai PBS
นับหนึ่ง MOU ร่วมรัฐบาล “ไทย” เทียบ “เยอรมนี” จุดเริ่มต้นการเมืองใหม่ ต่อรอง “นโยบาย” แทน “เก้าอี้รัฐมนตรี”

การลงนาม MOU ร่วมรัฐบาล ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกล โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และอีก 7 พรรค รวมจำนวน ส.ส. ฝั่งรัฐบาล ทั้งสิ้น 313 เสียง (ณ วันที่ 22 พ.ค. 66) เป็นปรากฏการณ์ที่คนไทยหลายคนไม่เคยได้เห็นมาก่อน แน่นอนเพราะนี่คือครั้งแรกของการเมืองไทย

หลายคนอาจสงสัยว่าทำ MOU ร่วมรัฐบาลไปเพื่ออะไร มีประโยชน์อะไร ไทยพีบีเอส ในรายการตรงประเด็น สัมภาษณ์ ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด หากเป็นในต่างประเทศ ยกตัวอย่างการเมืองเยอรมนีและหลายประเทศในยุโรป มีการทำข้อตกลงก่อนร่วมรัฐบาลมานานแล้ว

ทำไมต้องลงนาม MOU ร่วมรัฐบาล
ผศ.ปริญญา กล่าวว่า ถ้าพรรคชนะเลือกตั้งอันดับ 1 เสียงไม่เกินครึ่ง ก็จะชวนพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาลด้วย เพื่อจะเป็นรัฐบาลที่เสียงมากพอจะผ่านกฎหมายต่าง ๆ ในสภาฯ หรือเรียกว่ารัฐบาลผสม นี่เป็นเรื่องปกติ รัฐบาลผสมจึงมีความจำเป็น แต่ที่ผ่านมาของไทย การตั้งรัฐบาลผสม คือการตกลงเรื่องการแบ่งเก้าอี้กัน ใครได้กระทรวงไหน ต่อรองกัน แต่ไม่เคยได้ยินว่ามีการตกลงนโยบายหาเสียงกัน ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติของการเมืองในยุโรป

“กรณี MOU จัดตั้งรัฐบาลของไทย เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่ผมหวังว่าจะเป็นสิ่งที่เริ่มต้นการเมืองใหม่ของประเทศไทยอย่างแท้จริง”

ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เยอรมนีใช้เวลา 2 เดือน ทำ “ข้อตกลง” ก่อนร่วมรัฐบาล
ผศ.ปริญญา อธิบายการเป็นรัฐบาลผสมว่า แต่ละพรรคมีนโยบายที่เหมือนและต่างกัน ในส่วนนโยบายที่ต่างกันต้องมาพูดคุยตกลงกัน ยกตัวอย่างรัฐบาลเยอรมนีชุดปัจจุบัน ที่มี นายโอลาฟ โชลซ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาลผสมจาก 3 พรรคการเมือง เขาใช้เวลากว่า 2 เดือน กว่าจะโหวตนายกฯ เพราะต้องตกลงกันก่อน เขาไม่เรียก MOU แต่เรียกว่า “สัญญาพรรคร่วมรัฐบาล” มีความยาว 144 หน้า แต่ของไทยใช้เวลา 8 วัน

“อย่างตอนนี้มี 8 พรรคร่วมรัฐบาล ส่วนตัวคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมาตกลงนโยบายกันอย่างรวดเร็ว แต่ของเยอรมนีและประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ อย่างมากรวมกัน 3 พรรคตั้งรัฐบาล ยังต้องใช้เวลาเป็นเดือน ๆ หรือนานกว่านี้ก็เป็นเรื่องปกติ เช่น นางอังเกลา แมร์เคิล อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนี ในสมัยสุดท้ายใช้เวลาตกลงนโยบายกัน 6 เดือนเต็ม ถือว่านานที่สุดในประวัติศาสตร์ ฉะนั้นการตั้งรัฐบาลกัน 8 พรรค ในเวลา 8 วัน ให้ได้นโยบายออกมา คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะตกลงกันให้หมด”

ผศ.ปริญญา มองว่า นี่คือมิติใหม่และการเริ่มต้น ก็เข้าใจว่าต้องการความเร่งด่วน เนื่องจาก ส.ส. 313 เสียง เป็นนายกฯ ไม่ได้ เพราะต้องการเสียง ส.ว. 63 เสียง หรือเสียงจากพรรคอื่นที่ไม่ได้ชวนเข้ามา ให้ถึง 376 เสียง ฉะนั้นก็ต้องมีอะไรบางอย่างไปขอเสียงต่อ

MOU ร่วมรัฐบาลต้องประกาศเป้าหมายทำให้ได้ใน 4 ปี
ผศ.ปริญญา กล่าวอีกว่า สำหรับ MOU ต้องกำหนดเป้าหมายว่า 4 ปี จะผลักดันเรื่องไหนร่วมกัน ส่วนจะบรรลุด้วยวิธีไหน ยังไม่ต้องคุยกันตอนนี้ เพราะจะยิ่งเสียเวลา ส่วนวาระเฉพาะที่ยังตกลงไม่ได้ เช่น มาตรา 112 ที่มีคนตั้งแง่และตั้งคำถามเยอะ จริง ๆ ใน MOU สามารถบอกได้ว่า ข้อใดวาระใดที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ จะหารือต่อในสภาฯ ได้  

คนที่ต้องทำงานกันมากหน่อยคือ พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ที่มี ส.ส. รวมกัน 293 เสียง ควรให้ 2 พรรคนี้ เป็นหลักในการตั้งนโยบาย แล้วค่อยให้พรรคร่วมอื่น ๆ มาร่วม 

“อย่างเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ก้าวไกลบอกว่า ต้องทุกจังหวัด เพื่อไทยบอกว่าเริ่มจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน จริง ๆ ตรงนี้ไปด้วยกันได้ เพราะหากจะเลือกทุกจังหวัด ก็ต้องมีจังหวัดที่พร้อมก่อน นี่คือตัวอย่างว่า เราอย่าเพิ่งลงรายละเอียดมาก เพราะเพิ่ง 8 วัน หากเป็นการตกลงว่าจะทำอะไรที่เป็นเป้าหมายร่วมกัน แล้วคุยรายละเอียดต่อวิธีการบรรลุเป้าหมาย หรือตัวโครงการจะเป็นอย่างไร ค่อยตามมา”

แถลงข่าวจัดตั้งรัฐบาล
 

MOU ร่วมรัฐบาล สะท้อนเสียงประชาชนกำหนดประเทศ
ผศ.ปริญญา กล่าวต่ออีกว่า สัญญาพรรคร่วมรัฐบาลเยอรมนีปัจจุบัน มี 9 หมวด 9 ข้อ ข้อสุดท้ายระบุถึงวิธีการทำงาน การทำงานในสภา เขาตกลงกันถึงขนาดนั้น แต่ของไทยคิดว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เป็นการเริ่มต้นที่จะมีการผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้มาเป็นนโยบายรัฐบาลร่วมกัน

“สิ่งนี้สำคัญมาก เพราะหมายถึงว่าประชาชนจะมีเสียงดังมากขึ้น ในการกำหนดนโยบายประเทศ เพราะเมื่อพรรคการเมืองเป็นรัฐบาลแล้วมาดำเนินการ จะผูกพันไปถึงครั้งหน้าและครั้งต่อไป นี่เป็นสิ่งที่ประชาชนจะกำหนดนโยบายประเทศ”

MOU ของไทย กับสัญญาพรรคร่วมรัฐบาลของเยอรมนี ผศ.ปริญญามองว่า ยังเทียบกันไม่ได้ เพราะของเยอรมนีใช้เวลา 2 เดือน ของไทย 8 วัน แต่ในปกสัญญาพรรคร่วมรัฐบาลของเยอรมนีระบุไว้ 3 ข้อหลัก ๆ ที่จะร่วมมือกันใน 4 ปี คือ
1. สิทธิและเสรีภาพประชาชน 
2. ความยุติธรรมและความเป็นธรรมในสังคม
3. ความยั่งยืน 
ก่อนแยกเป็น 9 ข้อ

MOU พื้นที่ต่อรองนโยบาย
ผศ.ปริญญา ยกตัวอย่างนโยบายหาเสียงเรื่องพลังงานหมุนเวียน ว่า พรรคกรีนหาเสียงว่าจะเลิกพลังงานฟอสซิล ถ่านหิน แก๊สให้หมด มาเป็นพลังงานหมุนเวียน แสงอาทิตย์ ลม อย่างเดียว สุดท้ายตกลงกัน 80% คือผลักดันใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 80% คือ ยังไม่เลิกหมด เพราะหากเลิกหมด แล้วโรงงานไฟฟ้าพลังฟอสซิลจะทำอย่างไร พรรคร่วมในรัฐบาลผสมไม่ยอม ก็ต้องมาตกลงกันและเป็นข้อสรุปร่วมกันคือ 80% พลังงานในประเทศเยอรมนี ภายใน 4 ปี ต้องเป็นพลังงานหมุนเวียน

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

อีกเรื่องคือ ชั่วโมงทำงาน พรรคกรีนอยากให้เหลือ 7 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่พรรคเอฟดีพีที่ร่วมรัฐบาลเช่นกันบอกว่าไม่ได้ บอกว่าเดี๋ยวค่าต้นทุนการผลิตจะเพิ่ม จึงตกลงกันว่ายังคงวันละ 8 ชั่วโมง ต่อไป 5 วันต่อสัปดาห์ แต่จะช่วยกันทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป อย่างนี้คือตัวอย่างการรวมนโยบายหาเสียงของแต่ละพรรค มากลายเป็นนโยบายรัฐบาล เพราะหากพรรคมีเสียงเกินครึ่งมันก็จบ แต่ถ้าเสียงไม่เกินครึ่ง ก็ต้องใช้แนวทางนี้

เมื่อเป็นอย่างนี้ประชาชนเขาเข้าใจนะ อย่างกรณีพรรคกรีนมีเสียง 14.8% ไม่ถึง 50% ของฝั่งรัฐบาล ดังนั้นนโยบายคือการไปต่อรองเท่าที่ทำได้ ก็ต่อรองกับอีก 2 พรรค เขาจึงเข้าใจการเมืองคือการต่อรอง 

“ฉะนั้นคิดว่าแฟน ๆ แต่ละพรรคก็ต้องเข้าใจข้อนี้ ว่าเมื่อไม่มีใครได้คะแนนเกินครึ่ง ก็ต้องเข้าหากัน ไม่งั้นเป็นรัฐบาลไม่ได้” ผศ.ปริญญา กล่าว

ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

📖 อ่านข่าวเพิ่มเติม :

• เยอรมนีตั้งรัฐบาลผสมดัน "โอลาฟ โชลซ์" ขึ้นนั่งนายกฯ

• เลขาฯก้าวไกล ยัน MOU เป็นไปด้วยดี ลงตัวตามข้อเสนอพรรคร่วม

• ย้อนศร "รัฐประหาร" 22 พ.ค. ถือฤกษ์ 16.30 น.ลงนาม MOU ตั้งรัฐบาล
 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

MOU ร่วมรัฐบาลพิธา ลิ้มเจริญรัตน์พรรคก้าวไกล
ชาลี นวธราดล
ผู้เขียน: ชาลี นวธราดล

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส

บทความ NOW แนะนำ