“แฟรนไชส์” แซนวิชชื่อดังตกเป็นข่าวใหญ่ เมื่อพบกรณีร้องเรียนมากมายเกี่ยวกับคุณภาพของอาหาร จนทางแบรนด์ต้องชี้แจงเบื้องหลังการเกิด “แฟรนไชส์ปลอม” ที่หมดสัญญาไปแล้ว แต่ยังดำเนินการอยู่เป็นจำนวนมาก
Thai PBS ชวนถอดบทเรียน หากเจอปัญหา “แฟรนไชส์ปลอม” ผู้บริโภคสามารถทำอะไรได้บ้าง ?
“แฟรนไชส์ไม่ได้มาตรฐาน” กรณีใดบ้างสามารถร้องเรียนได้
ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายธุรกิจแฟรนไชส์โดยตรง ยังใช้กฎหมายในลักษณะสัญญาประเภทหนึ่งที่มีผลบังคับตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพการใช้บริการกับผู้บริโภค หลัก ๆ จึงเป็นกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอย่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้น ๆ ของแฟรนไชส์
ทั้งนี้ กระบวนการร้องเรียนตามกรณีที่เกิดได้ โดยเฉพาะกรณีเกี่ยวกับบริการด้านอาหาร มีดังนี้
1. กรณีคุณภาพของบริการไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย เช่น อาหารหรือวัตถุดิบปนเปื้อน ถือเป็นกรณีร้อนแรงที่สามารถร้องเรียนได้หลายหน่วยงาน มีความผิดตามกฎหมายหลายข้อด้วยกัน
2. กรณีทำให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพอาหาร เข้าข่าย “อาหารปลอม” ที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือลักษณะพิเศษอื่น ๆ มีความผิดตาม พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522
3. กรณีเข้าใจผิดเรื่องเครื่องหมายการค้า เช่น มีการใช้แบรนด์สินค้าต่าง ๆ ให้ผู้คนเข้าใจผิดทั้งเรื่องคุณภาพและบริการ มีความผิดตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
ผู้ใช้บริการต้องเก็บรายละเอียดหลักฐานการใช้บริการต่าง ๆ ลักษณะของอาหารที่ต้องสงสัยว่าไม่ได้มาตรฐาน เพื่อใช้ในการร้องเรียนเอาผิด
“แฟรนไชส์ไม่ได้มาตรฐาน” ร้องเรียนที่ไหนได้บ้าง ?
หน่วยงานที่รับร้องเรียนเกี่ยวกับด้านอาหาร มีอยู่หลายหน่วยงาน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหลายประเด็น ทั้งประเด็นผู้บริโภครวมถึงกระทบในด้านของสุขภาพ
1. สำนักงานคณะรรมการอาหารและยา (อย.) มีอำนาจหน้าที่สำคัญตามกฎหมายทั้งเกี่ยวกับอาหาร ยา เครื่องสำอาง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน โดยมีกองควบคุมอาหารที่ทำหน้าที่ดูแลการเอารัดเอาเปรียบ หรือความไม่ปลอดภัยในการบริโภคอาหารของประชาชนด้วย
ช่องทางติดต่อ สายด่วน อย. 1556 เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th
2. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีหน้าที่หลักในการรับเรื่องร้องทุกข์ความเสียหายเกี่ยวกับผู้บริโภคเป็นหลัก
ช่องทางติดต่อ สายด่วน สคบ. 1166 เว็บไซต์ www.ocpb.go.th
3. หน่วยงานภาคประชาชน มีหลายหน่วยงานที่สามารถช่วยเหลือประสานงานในด้านต่าง ๆ ได้ เช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมผู้บริโภคตามจังหวัดต่าง ๆ
ช่องทางติดต่อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 02-248-3737 เว็บไซต์ www.consumerthai.org
นอกจากนี้ การดำเนินการร้องเรียนยังมีสิทธิตาม พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ที่เรียกกันว่า “กฎหมายช่วยฟ้อง” ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถดำเนินการต่าง ๆ ได้ง่าย ขึ้น ไม่มีค่าธรรมเนียมรวมถึงไม่จำเป็นต้องมีทนายความในการเอาผิด และมีการกำหนดให้ดำเนินการอย่างรวดเร็วอีกด้วย
เหตุใดแฟรนไชส์ปลอมจึงระบาด ?
เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับแฟรนไชส์โดยเฉพาะ จึงมีการใช้กฎหมายสัญญาเป็นหลัก ที่รวมไปถึงกฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า และความลับทางการค้า อย่างไรก็ตาม ยังมีกฎหมายอื่น ๆ อย่าง พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ที่ในแง่ของธุรกิจแฟรนไชส์มีขึ้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการทำสัญญาต่อกันระหว่าง เจ้าของแฟรนไชส์ กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ จึงยังมีรายละเอียดที่ยังคงต้องมีการดำเนินการทางกฎหมายระหว่างกันอยู่
อ้างอิง
- สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
- มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค