แอนแทรกซ์ (Anthrax) เป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย Bacillus anthracis ที่อาศัยในดินทั่วโลก และชอบติดเชื้อในสัตว์เคี้ยวเอื้องอย่างวัว ควาย แพะ แกะ กวาง รวมถึงสัตว์ป่าในทุ่งหญ้า สัตว์จะติดเชื้อเมื่อสูด กิน หรือดื่มสปอร์ซึ่งปนเปื้อนในดิน น้ำ หรือพืช เมื่อสัตว์ตายลง เชื้อจะเปลี่ยนเป็นสปอร์ปลิวกลับสู่ดิน จึงเกิดวงจรโรคซ้ำ ๆ กินเวลานานเป็นสิบปี สปอร์นี้ทนต่ออัลตราไวโอเลต ความร้อน ความเย็น และสารเคมีได้สูง จึงได้ชื่อว่าเป็นสปอร์สุด “อึด ถึก ทน” ในโลกแห่งจุลชีพ ซึ่งอาจอยู่รอดได้นานเกิน 40 ปี
ในพื้นที่ที่นิยมรับประทานลาบเลือด ซอยจุ๊ หรือเนื้อวัวแบบกึ่งดิบกึ่งสุก หากวัวตายกะทันหันแต่ถูกชำแหละกินโดยไม่ตรวจโรคก่อน อาจทำให้เชื้อแอนแทรกซ์ที่ปนเปื้อนอยู่ในเนื้อสัตว์เข้าสู่คนผ่านทางปาก (Gastro‑intestinal Anthrax)
กระทรวงสาธารณสุขระบุว่าการติดเชื้อแอนแทรกซ์ในไทยมักเชื่อมโยงกับการกินเนื้อสัตว์ต้องสงสัยหรือซากสัตว์ตายผิดปกติ โดยเฉพาะในภาคอีสานที่มีวัฒนธรรมอาหารเนื้อดิบ กรณีล่าสุดเดือน พฤษภาคม 2568 ที่จังหวัดมุกดาหารทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกว่า 600 คน จากการสอบสวนโรค และต้องรับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
กลไกติดเชื้อในมนุษย์มีหลัก ๆ ที่พบได้บ่อย 3 ทาง
ผิวหนัง (Cutaneous): เกิดตุ่มแดงคัน ด้านในแผลมีสีดำเหมือนถ่าน (Black Eschar) ถ้ารักษาช้า มีโอกาสเสียชีวิตราว 20%
สูดหายใจ (Inhalational): สปอร์ของเชื้อแอนแทรกซ์มีขนาด 1–5 ไมครอน มันจึงลงไปถึงถุงลมได้ เมื่อเชื้อแตกตัว มันจะปล่อยพิษจนผู้ป่วยแน่นหน้าอก หายใจลำบาก มีโอกาสเสียชีวิต 75–85% แม้ให้ยาครบ เป็นชนิดของการติดเชื้อที่รุนแรงที่สุด
ทางเดินอาหาร (Gastrointestinal): จากเนื้อดิบหรือเลือดดิบ ทำให้ปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด หากไม่ได้รับยาทันท่วงที มีโอกาสเสียชีวิตได้ 50%
สปอร์ (Spore) คือรูปแบบการพักตัวของ B. anthracis เมื่อสภาวะแวดล้อมไม่อำนวย แบคทีเรียจะสร้างผนังหนาเป็นเกราะป้องกันและหยุดกิจกรรมทางเคมี (Metabolism) แทบทั้งหมดเพื่อรักษาพลังงาน สปอร์จะ “ฟัก” (Germinate) ทันทีเมื่อเข้าเนื้อเยื่อสัตว์เลือดอุ่น กลายเป็นเซลล์แบ่งตัวเร็วและปล่อยพิษ
พิษของเชื้อแอนแทรกซ์หลัก ๆ มีสามองค์ประกอบ คือ Protective Antigen (PA) Lethal Factor (LF) และ Edema Factor (EF) หาก PA จับคู่ กับ LF จะเกิดเป็น “พิษสังหาร” ทำลายผนังหลอดเลือด ตับ ม้าม แต่ถ้าจับคู่กับ EF จะได้ “พิษบวมน้ำ” รบกวนสมดุลเกลือแร่จนเนื้อเยื่อบวม
นอกจากนี้ เชื้อแอนแทรกซ์จะสร้างแคปซูล (Capsule) ขึ้นมาเพื่ออำพรางตัวและป้องกันตัวเองจากเม็ดเลือดขาว ซึ่งจะต้องอาศัยยีนจากสารพันธุกรรมขนาดเล็กในเซลล์ หรือ พลาสมิด (Plasmid) ชื่อ pXO2 เป็นคำสั่งตั้งต้น
การวินิจฉัยแอนแทรกซ์จะอาศัยการเพาะเชื้อจากเลือดหรือสารคัดหลั่งบนอาหารเลี้ยงเชื้อที่ผสมเลือด (Blood Culture) เพื่อดูกลุ่มแบคทีเรีย (Colony) ที่มีลักษณะเป็น “หัวเมดูซา” ก่อนยืนยันด้วยเทคนิคปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส (PCR) ตรวจหายีน pagA หรือ capB รวมถึงการตรวจแอนติเจน PA ในเลือดด้วยเทคนิคทางภูมิคุ้มกันที่เรียกว่าอีไลซา (ELISA) ซึ่งมีความไวและแม่นยำสูง ซึ่งจะยืนยันผลได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง
กรณีชนิดสูดหายใจ จะวินิจฉัยจากภาพถ่ายรังสีทรวงอก (CXR) ซึ่งมักพบเงาดำในช่องกลางทรวงอก (Widened Mediastinum) เป็นจุดสังเกตสำคัญก่อนการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
หากสงสัยผู้ป่วยต้องรับยาปฏิชีวนะกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolone) เช่นซิโพรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) หรือ กลุ่มเทตระไซคลีน (Tetracycline) เช่น ดอกซีไซคลีน (Doxycycline) ร่วมกับคลินดาไมซินหรือลิเนโซลิด (Clindamycin/Linezolid) อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อลดการสร้างพิษ ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ระบุว่า จำเป็นต้องทานต่อเนื่อง 60 วัน เพราะสปอร์บางส่วนอาจยังไม่ฟักตัวในร่างกาย ในรายที่อาการหนักต้องใช้แอนติบอดีต่อต้านพิษ (Anti-toxin Monoclonal Antibody) เช่นราซิบาคูแมบ (Raxibacumab) หรือโอบิลโทซาซิแมบ (Obiltoxaximab) ที่จับกับ PA โดยตรง และช่วยลดความรุนแรงของโรค
แนวทางป้องกันระยะยาวคือวัคซีน Anthrax Vaccine Adsorbed (AVA; BioThrax) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคราว 90%
วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงการซากสัตว์ที่ตายผิดปกติและเนื้อดิบ เพราะแม้อัตราเจอโรคจะต่ำ แต่สปอร์เพียงอณูเดียว ก็อาจทำให้เกิดโรคได้ หากจำเป็นต้องชำแหละสัตว์ตาย ให้ใส่ถุงมือ ถุงเท้า รองเท้า และหน้ากาก เพื่อป้องกันเชื้อเข้าสู่ร่างกาย หากพบซากสัตว์ที่ตายผิดปกติ ให้แจ้งปศุสัตว์ตรวจโรคทันที
เรียบเรียงโดย
โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์
Department of Biomedical Sciences
College of Biomedicine
City University of Hong Kong
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech