ภายหลังจากการปล่อยขึ้นสู่อวกาศมาได้เกือบสองเดือน ขณะนี้ SPHEREx ได้พร้อมส่งข้อมูลภาพแผนที่จักรวาลกลับมายังโลกแล้ว ด้วยความสามารถตรวจวัดได้มากกว่า 96 ย่านแสง กล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวนี้จะช่วยตามหาสอดส่องจัดทำแผนที่วัตถุในจักรวาลด้วยความละเอียดที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2025 องค์การนาซา (NASA) ได้ปล่อยภาพถ่ายกล้องโทรทรรศน์อวกาศ SPHEREx ที่ได้ส่งข้อมูลภาพถ่ายท้องฟ้ากลับมายังโลก คุณสมบัติที่โดดเด่นของกล้อง SPHEREx คือการที่มันสามารถบันทึกข้อมูลย่านแสงได้มากกว่า 96 ย่านเฉดสี ครอบคลุมในย่านของอินฟราเรดใกล้ (Near Infrared) ซึ่งตามปกติทั่วไปกล้องโทรทรรศน์อวกาศจะตรวจจับย่านสีอยู่ที่ประมาณ 5-10 ย่านสี

ภาพถ่ายสำหรับการปรับเทียบภาพแรกของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ SPHEREx
แม้ 96 ย่านแสงจะดูเหมือนเป็นภาพถ่ายสีที่ต่อเนื่องและสวยกว่ากล้องตัวอื่น แต่ด้วยคุณสมบัติที่สามารถถ่ายครอบคลุมในหลายย่านแสงทำให้มันสามารถมองเห็นในสิ่งที่เราไม่คาดคิด ภาพถ่ายแรก ๆ ที่ NASA ได้รับกลับมานั้นเป็นภาพเปรียบเทียบระหว่างแสงของดาราจักรที่ความยาวคลื่น 3.29 ไมครอน (สีส้ม) กับความยาวคลื่น 0.98 ไมครอน (สีฟ้า) ซึ่งจะเห็นว่าแสงจากฝุ่นและจากดวงดาวบางดวงเห็นได้ชัดที่ย่านแสงหนึ่งแต่กลับหายไปจากภาพจากอีกย่านแสงหนึ่ง ทำให้ความต่อเนื่องของข้อมูลนั้นจะช่วยทำให้เราพบปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมากกว่าเดิม
กล้องโทรทรรศน์อวกาศ SPHEREx (Spectro-Photometer for the History of the Universe, Epoch of Reionization and Ices Explorer หรือ สเปกโตรโฟโตมิเตอร์เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์เอกภพยุคแรกเริ่มและน้ำแข็งในอวกาศ) ที่เพิ่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2025 เป็นกล้องโทรทรรศน์ประเภทส่องสำรวจเพื่อทำแผนที่วัตถุในเอกภพ ประเภทเดียวกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศโรมันที่มีแผนกำลังจะส่งขึ้นไป หรือ กล้อง TESS ที่ส่งขึ้นไปเมื่อปี 2018 กล้องส่องสำรวจเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญกับการสำรวจปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก เพราะหากไม่มีกล้องโทรทรรศน์อวกาศจำพวกนี้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศประสิทธิภาพสูงที่ใช้ในการถ่ายเจาะเข้าไปในห้วงอวกาศลึก เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล หรือกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ จะไม่มีข้อมูลเป้าหมายที่น่าสนใจจะสำรวจ อีกทั้งเทคโนโลยีการถ่ายภาพดวงดาวแบบทั่วทั้งท้องฟ้าเป็นเทคโนโลยีที่ทำได้ยากมากเนื่องจากต้องมีเทคโนโลยีขั้นสูง เพราะจับการเปลี่ยนแปลงของแสงดาวเพียง 1% ได้ และต้องสามารถจับภาพการเปลี่ยนแปลงที่เล็กน้อยบนท้องฟ้าได้

ภาพถ่ายของกล้องโทรทรรศน์ SPHEREx ในห้องประกอบก่อนการปล่อย
SPHEREx มีทั้งหมดสามภารกิจหลักคือ ศึกษาวิวัฒนาการของเอกภพในยุคแรกเริ่ม (Epoch of Reionization) เข้าใจการกระจายตัวของกาแล็กซีเพื่อทดสอบทฤษฎีอินเฟลชัน (Inflation Theory) และตามหาน้ำแข็งและโมเลกุลอินทรีย์ในเมฆก๊าซและบริเวณกำเนิดดาว ซึ่งตามภารกิจหลักของ SPHEREx นั้นจะอยู่ที่ 25 เดือน
จากภาพชุดแรกที่ส่งกลับมานั้นทำให้ทราบว่าการมองเห็นผ่านย่านแสงที่แตกต่างกันมากมายหลายช่วงคลื่นนั้นจะช่วยทำให้เราสามารถมองเห็นสิ่งที่คลาดสายตาเราไปได้มากขึ้นและอาจจะเป็นองค์ความรู้ใหม่ ๆ อีกมากมายให้กับงานด้านดาราศาสตร์ได้เพิ่มมากอีกยิ่งขึ้น ซึ่งในอนาคตจะมีกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ทำหน้าที่สำรวจส่องกราดวัตถุในท้องฟ้าเพิ่มเติมอีกมากมาย ซึ่งจะช่วยเพิ่มองค์ความรู้และสิ่งที่น่าสนใจต่อได้อีกมากมาย อันจะช่วยชี้เป้าหมายที่น่าสนใจให้กับนักดาราศาสตร์อีกมาก
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : spaceth
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech