ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไม่อยากให้ “อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล” ควรทำอย่างไร?


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

20 พ.ค. 68

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

ไม่อยากให้ “อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล” ควรทำอย่างไร?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2697

ไม่อยากให้ “อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล” ควรทำอย่างไร?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

หัวร้อน ! เคยสังเกตตัวเองไหมว่า ในบางครั้ง เราอาจระเบิดอารมณ์หรือตอกกลับคำพูดแรง ๆ ใส่หน้าบุคคลอื่นโดยไม่คิดให้รอบคอบ แล้วทำให้ต้องมานั่งเสียใจภายหลัง หรือข่าวสังคมออนไลน์ที่ได้อ่านพบเจอในแต่ละวัน ล้วนมีแต่เรื่องที่ทำให้เราระเบิดอารมณ์ ทนไม่ได้ต้องตอบโต้กลับบนคีย์บอร์ดทันที หรือแม้แต่บุคคลในหลาย ๆ ข่าว ขาดความยับยั้งชั่งใจจนทำให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นบานปลายใหญ่โตเลยเถิดไปจนแก้ไขได้ยาก

สถานการณ์ลักษณะนี้มีชื่อเรียกว่า Amygdala Hijack แต่เอ๊ะ “Hijack” เป็นเรื่องการจี้เครื่องบินไม่ใช่หรือ ?

ในเรื่องนี้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ให้ความรู้ว่า Amygdala Hijack (อะมิกดะลา ไฮแจ็ก)นิยามขึ้นโดย แดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) นักจิตวิทยาผู้โด่งดังเรื่อง ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) คำนี้ใช้อธิบายถึงปรากฏการณ์ที่ความสามารถในการตัดสินใจของมนุษย์เกิดขึ้นจากอารมณ์ หรืออาการที่สมองส่วนอื่นหยุดทำงาน อะมิกดาลาจะทำงานส่วนเดียวเพื่อให้มนุษย์เอาตัวรอดในยามคับขัน คล้าย ๆ กับที่อะมิกดาลาไม่ยอมให้สมองส่วนอื่น ๆ ทำงาน เช่นเดียวกับสถานการณ์การจี้เครื่องบินที่เครื่องบินจะโดนควบคุมโดยบุคคลหรือกลุ่มคนกลุ่มเดียว เมื่ออะมิกดาลาทำงานเพียงส่วนเดียว สมองสั่งการส่วนเหตุผลโดนกดทับไว้ ปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นจึงรุนแรงและฉับพลันอย่างเกินกว่าเหตุ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เมื่อคนเราเกิดอาการฟิวส์ขาด หรืออารมณ์พาไปพัง

อะมิกดาลาเป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งของสมองที่มีรูปร่างคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ มีอยู่สองข้างในสมอง แม้จะมีขนาดเล็กแต่มีหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้สมองส่วนอื่น ๆ ความกลัวเป็นอารมณ์หลักที่เกี่ยวข้องกับอะมิกดาลา เพราะอะมิกดาลาจะประมวลผลเพื่อความอยู่รอด อะมิกดาลารับรู้ถึงอันตราย ภัยคุกคาม หรือความรู้สึกที่รุนแรงอื่น ๆ อีกด้วย เช่น ความวิตกกังวล ความโกรธ

โดยทั่วไป เมื่อเรารับรู้ถึงอันตรายหรือสิ่งเร้าอื่น ๆ ร่างกายจะมีกระบวนการในการตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้น ๆ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้สิ่งมีชีวิตสามารถปรับตัวให้อยู่รอดในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ เมื่อมนุษย์รับรู้สิ่งเร้า (Stimulus) ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย สิ่งเร้าภายในร่างกาย เช่น ความดันเลือด แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด และสิ่งเร้าภายนอกร่างกาย เช่น แสง สี เสียง สิ่งเร้าต่าง ๆ จะทำให้ร่างกายรับรู้และตอบสนองในรูปแบบที่แตกต่างกันไป

ปัจจัยด้านอารมณ์ที่นอกเหนือจากความกลัวที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิด Amygdala Hijack ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีก เช่น ความก้าวร้าวรุนแรง ความอับอายขายหน้าหรือโดนดูถูก และความสับสน อย่างไรก็ตาม เราไม่จำเป็นต้องพ่ายแพ้ต่อเจ้าต่อมเล็ก ๆ นี้เสมอไป เพราะในสมองของมนุษย์ยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ ที่จะทำให้เราบังคับไม่ให้ Amygdala นี้ทำงานในลักษณะที่ไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ เช่น สมองส่วนหน้า ทำหน้าที่ในเชิงตรรกะ เหตุผล การควบคุมอารมณ์ และเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่เราสามารถพัฒนาสมองส่วนนี้ให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น นี่เองจึงทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์ที่สามารถควบคุมอารมณ์ มีเหตุมีผล ตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้อย่างเหมาะสม

5 วิธีการฝึกฝนตนเองเพื่อไม่ให้เกิด Amygdala Hijack

1. หาให้เจอว่าอะไรทำให้เกิด Amygdala Hijack

เมื่อเจอเรื่องแย่ ๆ เรามักโฟกัสที่ตัวเอง และตัดสินใจโดยอ้างอิงจากความรู้สึกของตัวเรา พฤติกรรมนี้ทำให้เราควบคุมตัวเองได้ยาก ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด Amygdala Hijack เราเลยจำเป็นที่ต้องระบุให้ได้ว่าอะไรที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ พร้อมหาวิธีรับมือ เช่น การบ้านยังไม่เสร็จเลย แล้วยังมีรายงานที่ต้องทำอีก แม่ก็เรียกไปล้างจานข้าวที่กินไว้เมื่อตอนเย็น แทนที่จะโกรธแม่ เราลองค่อย ๆ จัดลำดับของงาน ไปล้างจานก่อนไหม แล้วค่อยกลับมาทำงานต่อ หรือบอกแม่ว่า ขอช้านิดหนึ่ง เพราะอยากทำการบ้านที่ติดพันอยู่ให้เสร็จเรียบร้อยก่อนค่อยไปล้างจาน แล้วจะกลับมาทำรายงานก่อน เพราะเมื่อเรารู้สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาแล้ว เรามักจะคิดวิธีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น

2. หยุดคิดเสียหน่อย

เวลาที่ทุกคนเครียด และกำลังจะสูญเสียความสามารถในการควบคุมตัวเอง ให้ลองสูดหายใจเข้าลึก ๆ แล้วค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกมา หรือลองนับเลขในใจ 1 – 10 เพราะสัญญาณเคมีที่เกิดขึ้นจากการทำงานของ Amygdala มักหายไปในเวลา 6 วินาที การนับเลขหรือกระทำการใด ๆ ที่จะชะลอการตอบสนองอย่างทันทีจึงใช้ได้ผล

3. อย่าพยายามตัดสินคนอื่นในเรื่องที่ไม่จำเป็น

การตัดสินคนอื่นในทุกที่ทุกเวลา เป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ ทำให้เรารับฟังความเห็นต่างได้น้อยลง และยังทำให้เรารับรู้เกี่ยวกับคนอื่นแบบผิด ๆ อีกด้วย เมื่อเราตัดสินคนอื่นว่าเป็นลบ เราก็จะยิ่งเกิดอารมณ์ลบ ๆ กับคนที่เราตัดสิน และเจอกับ Amygdala Hijack ได้ง่ายกว่าเดิม ดังนั้น จะดีกว่าถ้าเราสนใจแต่เรื่องของตนเอง เพราะบริบทต่างกันและเราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับคนที่เรากำลังตัดสินเขาอยู่นั่นเอง

4. เอาใจเขามาใส่ใจเรา

ความเห็นอกเห็นใจคนอื่น (Empathy) เป็นทักษะที่ช่วยป้องกันการถูกอารมณ์ครอบงำได้ดี เพราะเมื่อเราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น เราจะเกิดความรู้สึกแง่ลบกับคนอื่นน้อยลง และมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการฝึกความเห็นอกเห็นใจสามารถทำได้โดยการตั้งคำถาม และการสวมบทบาทเป็นคนอีกฝ่าย อาจเริ่มจากการลองคิดเรื่องเหล่านี้ดู พวกเขารู้สึกอย่างไรที่ได้ทำแบบนั้นกับเรา ทำไมพวกเขาถึงทำแบบนั้น ถ้าเราอยู่ในสถานะเดียวกับเขาเราจะทำแบบเดียวกันหรือไม่ การตั้งคำถามในเรื่องเหล่านี้อาจช่วยให้เราพบเหตุผลที่ฟังขึ้น และตัดสินพวกเขาในแง่ลบน้อยลง

5. ใช้ชีวิตให้ช้าลง อย่ารีบเร่งในทุก ๆ เรื่อง

การตัดสินใจอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการตัดสินจากอารมณ์มากกว่าเหตุผล มักไม่ส่งผลดีต่อตัว เมื่อเราให้เวลาตัวเองคิดและตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ การระงับการทำงานของ Amygdala Hijack ก็จะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเราอีกต่อไป

ถึงแม้จะมีงานวิจัยค้นพบอะมิกดะลาของเราเป็นหนึ่งในส่วนแรกของสมองที่ตอบสนองต่ออันตราย ซึ่งทำให้มันเป็นส่วนสำคัญในการเอาชีวิตรอดและปกป้องตัวเองจากอันตราย นอกจากนี้ยังมีบทบาทในอารมณ์เชิงบวก การเรียนรู้ ความทรงจำ และอื่น ๆ อีกมากมายการทำความเข้าใจว่าอะมิกดะลาทำงานอย่างไร สามารถช่วยให้เรารู้ได้หากมีปัญหาเกี่ยวกับสมองหรือสุขภาพจิต ด้วยวิธีนี้ เราจะสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องกังวลว่าความกลัวจะเข้ามาครอบงำและขัดขวางไม่ให้เราทำสิ่งที่เรารัก


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : นางสาวพรหทัย สืบสุทธา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), severnclinics

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลอารมณ์เหตุผลAmygdala HijackAmygdalaHijackจิตวิทยาสมองวิทย์น่ารู้วิทยาศาสตร์น่ารู้วิทยาศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphobT@thaipbs.or.th หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด