ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชนิดใหม่ของโลก! ค้นพบ “กระเจียวเทพอัปสร” พืชวงศ์ขิง สกุลขมิ้น จากเมืองสามหมอก


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

จิราภพ ทวีสูงส่ง

แชร์

ชนิดใหม่ของโลก! ค้นพบ “กระเจียวเทพอัปสร” พืชวงศ์ขิง สกุลขมิ้น จากเมืองสามหมอก

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2735

ชนิดใหม่ของโลก! ค้นพบ “กระเจียวเทพอัปสร” พืชวงศ์ขิง สกุลขมิ้น จากเมืองสามหมอก

นักวิจัยหน่วยวิจัยความหลากหลายพืชวงศ์ขิงและพืชที่มีท่อลำเลียงเพื่อการประยุกต์ (Diversity of Family Zingiberaceae and Vascular Plant for Its Applications: DZVA) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) วิจัยพืชวงศ์ขิงอย่างต่อเนื่อง ค้นพบ “กระเจียวเทพอัปสร” (Curcuma borealis Saensouk, P.Saensouk & Boonma sp. nov.) พืชวงศ์ขิง–สกุลขมิ้น ชนิดใหม่ของโลก จากจังหวัดแม่ฮ่องสอน

“กระเจียวเทพอัปสร” พืชวงศ์ขิง สกุลขมิ้น ชนิดใหม่ของโลก ภาพจาก พยุงศักดิ์ จ้อยประดิษฐ์

โดยทีมวิจัยใช้องค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุรพล แสนสุข หัวหน้าหน่วยวิจัยฯ และเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย, รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะพร แสนสุข จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนายธวัชพงศ์ บุญมา นิสิตปริญญาเอกหลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยนักวิจัยทั้งสามเป็นสมาชิกของหน่วยวิจัยความหลากหลายพืชวงศ์ขิงและพืชที่มีท่อลำเลียงเพื่อการประยุกต์ (DZVA) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศึกษาวิจัยร่วมกับ ดร.จรัญ มากน้อย หัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์บ้านร่มเกล้า พิษณุโลกในพระราชดำริ จังหวัดพิษณุโลก

ผลงานพืชชนิดใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ Horticulturae (ISI Q1, Scopus Q1) ปีที่ 10 ฉบับที่ 8 หน้า 787 โดยเผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรกในวันที่ 25 กรกฎาคม 2567

ที่มาของการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ “Curcuma borealis” คำระบุชนิด “borealis” มาจากภาษาละตินว่า “borealis” ซึ่งแปลว่า “ทางเหนือ” โดยชื่อนี้ถูกตั้งขึ้นเพื่อสะท้อนถึงการกระจายพันธุ์ของกระเจียวเทพอัปสรที่พบเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยเท่านั้น

“กระเจียวเทพอัปสร” พืชวงศ์ขิง สกุลขมิ้น ชนิดใหม่ของโลก ภาพจาก พยุงศักดิ์ จ้อยประดิษฐ์

ชื่อสามัญ: “เทพอัปสร” ชื่อนี้ได้แรงบันดาลใจจาก “นางอัปสรา” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นนางฟ้าที่มีความสวยงามในตำนานของศาสนาฮินดูและพุทธ เพื่อให้สอดคล้องกับความสวยงามโดดเด่นของช่อดอกและดอกไม้ของพืชชนิดนี้ โดยเฉพาะเวลาที่ดอกบานพร้อมกันจากใบประดับด้านล่างในขณะที่ใบประดับด้านบนยังไม่มีดอก การบานของดอกในลักษณะนี้ดูคล้ายกับภาพของนางอัปสราที่มักสวมชุดพลิ้วไหวปกคลุมเฉพาะส่วนล่างและเผยให้เห็นเรือนร่างช่วงบนอย่างอ่อนช้อยและงดงาม

“กระเจียวเทพอัปสร” พืชวงศ์ขิง สกุลขมิ้น ชนิดใหม่ของโลก ภาพจาก พยุงศักดิ์ จ้อยประดิษฐ์, ธวัชพงศ์ บุญมา

“กระเจียวเทพอัปสร–Curcuma borealis” มีลักษณะคล้ายกับ กระเจียวสุเทพ–C. ecomata มากที่สุด แต่มีความแตกต่างกันหลายลักษณะ เช่น กระเจียวเทพอัปสรมีเหง้าสีขาวอมเหลืองอ่อน ใบรูปรี ขนาด 29–43 × 13–17 เซนติเมตร, ผิวใบเกลี้ยง ยกเว้นตามแนวเส้นใบมีขน ช่อดอกโดยตรงจากเหง้าแยกจากลำต้นเทียม ใบประดับรูปไข่กลับ มีขน กลีบดอกมีขนประปราย เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันหรือสเตมิโนดรูปรีแกมรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ขนาด 1.7–1.9 × 0.8–0.9 เซนติเมตร ก้านชูอับเรณู ขนาดยาว 5.5–6 มิลลิเมตร และกว้างกว่าขนาดประมาณ 4 มิลลิเมตร เดือยอับเรณูไม่มีเมือก และไม่มีส่วนยื่นออกมาที่ฐานเดือยอับเรณู เดือยอับเรณูชี้ออกมาด้านหน้าจากอับเรณู และมีต่อมน้ำหวาน ยาว 8–8.5 มิลลิเมตร

ในขณะที่กระเจียวสุเทพมีเหง้าสีน้ำตาลอ่อน ใบรูปหอกกลับ ขนาด 15–45 × 5–12 เซนติเมตร ผิวใบมีขน ช่อดอกเกิดได้สองแบบคือโดยตรงจากเหง้าแยกจากลำต้นเทียมและเกิดระหว่างกาบใบ ใบประดับรูปไข่ ผิวเกลี้ยง กลีบดอกไม่มีขน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันหรือสเตมิโนดรูปไข่เบี้ยวไม่สมมาตร ขนาด 1.3–1.6 × 0.6–0.9 เซนติเมตร ก้านชูอับเรณู ขนาดยาว 5–7 มิลลิเมตร และกว้างประมาณ 2.5–3 มิลลิเมตร เดือยอับเรณูชี้ออกด้านข้าง มีเมือกเหลวใส มีส่วนนูนยืนออกมาบริเวณฐานเดือยอับเรณู และมีต่อมน้ำหวานที่สั้นกว่า ยาวประมาณ 7–8 มิลลิเมตร

“กระเจียวเทพอัปสร” พืชวงศ์ขิง สกุลขมิ้น ชนิดใหม่ของโลก ภาพจาก พยุงศักดิ์ จ้อยประดิษฐ์

ปัจจุบันพบ “กระเจียวเทพอัปสร–Curcuma borealis” พบในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เขตพรรณพฤกษชาติภาคเหนือของไทย ในป่าเบญจพรรณ เติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายที่มีกรวดปะปน และชอบพื้นที่ที่มีความชื้นสูง พบที่ระดับความสูง 300–600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล เจริญเติบโตอยู่ใต้ร่มเงาของไม้ผลัดใบ

กระเจียวเทพอัปสร จะเข้าสู่ระยะพักตัวในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงเมษายน และจะเริ่มเตรียมออกดอกอีกครั้งหลังจากฝนแรกตก โดยช่อดอกจะเกิดโดยตรงจากตาข้างของเหง้าหลัก จากนั้นจึงแตกหน่อเป็นลำต้นเทียมขึ้นมาพร้อมกันหรือหลังจากที่ช่อดอกโผล่พ้นดินไม่นาน สามารถพบช่อดอกของพืชชนิดนี้ได้ในช่วงปลายเดือนเมษายนเป็นต้นไปจนถึงเดือนกรกฎาคม โดยดอกจะบานในตอนเช้า และพบติดผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม

เนื่องจากมีพิสัยการกระจายพันธุ์น้อยกว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร และมีพื้นที่การกระจายพันธุ์น้อยกว่า 100 ตารางกิโลเมตร จากการสำรวจพบน้อยกว่า 5 แหล่งการกระจายพันธุ์ และมีจำนวนประชากรที่โตเต็มที่ไม่ถึง 250 ต้น ผู้วิจัยจึงเสนอให้กระเจียวเทพอัปสร จัดอยู่ในสถานะ ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered: EN B1B2ab(iv,v); C2a(i)) ตามหลักเกณฑ์ของ IUCN Red List Version 16 สถานะดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์

ซึ่งเกิดจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศที่รุนแรงขึ้นจากภาวะโลกร้อน และภัยคุกคามที่อาจเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าพบพืชชนิดนี้ถูกนำไปจำหน่ายในตลาด ซึ่งยิ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการอนุรักษ์ มาตรการสำคัญในการปกป้องพืชชนิดนี้ ควรรวมถึงการกำหนดพื้นที่ที่พบที่อยู่นอกเหนือเขตอุทยานแห่งชาติ เป็น “พื้นที่อนุรักษ์ตามมาตรการอื่นที่มีประสิทธิผล” (Other Effective Area-Based Conservation Measures: OECMs) และการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการรักษาพันธุ์พืชนี้ให้คงอยู่ และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่จำกัดอย่างยั่งยืน


Thai PBS Sci & Tech พรรณไม้น่ารู้

📌อ่าน : เรื่องกล้วย ๆ ที่ไม่กล้วย EP3 : “กล้วยมูสัง” กล้วยของชะมด ที่ไม่ใช่พืชวงศ์กล้วย

📌อ่าน : กล้วยไม้เข็มม่วง อัญมณีแห่งผืนป่าไทย

📌อ่าน : เรื่องกล้วย ๆ ที่ไม่กล้วย ! EP2 : “กล้วยน้ำบราซิล” ไม่ใช่พืชวงศ์กล้วย

📌อ่าน : เรื่องของ “กล้วย” ที่ไม่กล้วย  EP1 “กล้วยพัด” ไม่ใช่กล้วยแต่ก็เป็นเครือญาติกับกล้วย


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ธวัชพงศ์ บุญมา นิสิตปริญญาเอก หลักสูตรความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช ม.มหาสารคาม

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

กระเจียวเทพอัปสรพืชวงศ์ขิงสกุลขมิ้นพืชสกุลขมิ้นนักพฤกษศาสตร์พฤกษศาสตร์พฤกษศาสตร์น่ารู้วิทย์น่ารู้วิทยาศาสตร์น่ารู้วิทยาศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง

ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphobT@thaipbs.or.th)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด