ใครชอบ “กดเลื่อนนาฬิกาปลุก” น่าจะถูกใจสิ่งนี้ เมื่อมีงานวิจัยค้นพบว่า การกดเลื่อน “นาฬิกาปลุก” อาจส่งผลดีต่อ “สมอง” ช่วยให้เตรียมพร้อมสำหรับวันใหม่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรับรู้ของสมองได้มากขึ้นอีกด้วย
โดยงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Sleep Research ได้ระบุว่า การงีบหลับหรือการใช้นาฬิกาปลุกเป็นระยะเพื่อนอนหลับต่ออีกไม่กี่นาทีในตอนเช้าอาจมีประโยชน์ ทั้งนี้ได้มีการศึกษาผู้ใหญ่ 1,732 คน จากทั่วโลก พบว่า 69% ได้ใช้ฟังก์ชันเลื่อนหรือตั้งปลุกหลายครั้งอย่างน้อย “1 ครั้ง” โดยมีเวลาการเลื่อนปลุกเฉลี่ย 22 นาทีหลังนาฬิกาปลุกดังครั้งแรก ขณะที่การเลื่อนปลุกทั้งหมดอยู่ระหว่าง 1-180 นาที
จากนั้นทีมวิจัยได้ทำการทดสอบ โดยการให้คนที่ “กดเลื่อนปลุก” ตื่นขึ้นมาตอบคำถามเกี่ยวกับคณิตศาสตร์พื้นฐานง่าย ๆ รวมถึงอาจมีการให้จำคำศัพท์ แล้วนำมาเทียบผลลัพธ์ระหว่างตอน “กดเลื่อนปลุก” กับตอน “ตื่นทันที” ซึ่งผลจากการทดสอบ พบว่า การกดเลื่อนปลุกครั้งแรกไป 30 นาที ไม่ส่งผลให้ประสิทธิภาพเกี่ยวกับการคิด การรับรู้ รวมถึงอารมณ์ลดลง ในทางตรงกันข้ามบางคนอาจทำได้ดีขึ้นในตอนที่ “กดเลื่อนปลุก” อีกต่างหาก โดยทีมวิจัยได้สรุปการทดลองนี้ว่า
การที่เรากำลังหลับลึกอยู่ดี ๆ แล้วโดนปลุกให้ตื่น จะทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะเฉื่อยจากการนอนหลับ เนื่องจากยังรู้สึกมึนงง ง่วงนอน สมองช้า ส่งผลให้ทำอะไรไม่ค่อยถูกหลังโดนปลุกทันที แต่การ “เลื่อนปลุก” จะช่วยให้ “สมอง” ได้เตรียมพร้อมสำหรับการตื่นจริง ส่งผลให้เกิดความตื่นตัวที่มากกว่า
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การทดลองครั้งนี้กลุ่มตัวอย่างยังเป็นกลุ่มขนาดเล็ก ต้องมีการทำวิจัยขนาดใหญ่มากขึ้นเพื่อยืนยันผลการทดสอบอีกครั้ง
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ ThaiPBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : neurosciencenews