กามโรคหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถือเป็นโรคแห่งการตีตรา เพราะสาเหตุของการติดเชื้อที่มาจากพฤติกรรมทางเพศ
จนถึงทุกวันนี้การตีตราก็ยังคงอยู่ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ละครเรื่อง “นางฟ้าไร้นาม” พาทุกคนไปยังช่วงเวลาหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การแพทย์ที่ต้องต่อสู้กับการระบาดของกามโรค เพื่อเข้าใจถึงที่มาที่ไปของอคติที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มโสเภณีที่ป่วยไปจนถึงการไม่ให้การรักษาที่ควรได้รับ Thai PBS อยากชวนทุกคนย้อนไปสำรวจ กามโรคในสังคมไทย อคติก่อเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด และฉากหลังแท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้น ถึงปัจจุบันสถานการณ์เป็นอย่างไรแล้ว
ก่อนกาลของกามโรคในสยามประเทศ
กามโรคหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ครั้งแรกในโลกคือ “ซิฟิลิส” ซึ่งต้นกำเนิดไม่แน่ชัด มี 2 ทฤษฎีหลักได้แก่ 1 เป็นโรคในเขตร้อนที่มาจากการค้าทาสในแอฟริกาติดต่อไปยังอเมริกาและยุโรป และ 2 มาจากทวีปอเมริกาโดยลูกเรือของโคลัมบัสติดเชื้อแล้วระบาดไปยังยุโรป ก่อนจะแพร่มาสู่ประเทศไทยหรือสยามในเวลาต่อมา
“กามโรค” ปรากฏชื่อครั้งแรกในช่วงกรุงศรีอยุธยาราวต้นพุทธศตวรรษที่ 23 โดยมีบันทึกของลาลูแบร์ที่บรรยายว่า “กามโรคก็มีมิใช่น้อย แต่ไม่มีใครทราบว่าโรคชนิดนี้มีอยู่ตั้งแต่ดั้งเดิมแล้ว หรือว่าเพิ่งมีแพร่เข้ามาเมื่อไม่นานนี้”
ในช่วงเวลาดังกล่าว กามโรคยังไม่ได้มีการเชื่อมโยงกับโสเภณี และยังไม่แน่ชัดถึงการเชื่อมโยงกับการมีเพศสัมพันธ์สำหรับคนสยามนัก กระนั้นก็ปรากฏอคติต่ออาชีพโสเภณีแล้วโดยพบร่องรอยจากกฎหมายตรงสามดวงอันเป็นกฎหมายโบราณที่ใช้ในสมัยอยุธยา ถูกชำระขึ้นในปีพ.ศ. 2348 หรือสมัยรัชกาลที่ 1 โดยมีการระบุถึงความน่าเชื่อถือของพยานที่จะให้การในศาลโดยมีข้อห้ามบุคคลไว้ 33 จำพวกด้วยกัน ซึ่งมีตั้งแต่ คนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย คนเป็นสหายของคู่ความ เด็ก คนชราไปจนถึงคนไม่อยู่ในศีลธรม คนเป็นโจร และมีระบุไปถึง “กระเทย” และ “หญิงนครโสเภณี”
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24 พระสังฆราชปาลเลอกัวซ์ บาทหลวงจากฝรั่งเศส เป็นพระสหายสนิทกับรัชกาลที่ 4 ใช้ชีวิตอยู่สยามประเทศยาวนานกว่า 30 ปี สัมผัสวิธีชีวิตของชาวสหายและได้ทิ้งงานเขียนบันทึกถึงความเป็นไปไว้มากมาย โดยมีบันทึกถึงกามโรคไว้ว่า โรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของชาวสยามยังมีไม่มากนัก และไม่มีการมองทางศีลธรรมเข้ามาใช้ในการตีตราผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ตัวปาลเลอกัวซ์ได้บันทึกความเห็นของตนไว้ว่า “ดูเหมือนกามโรคจะระบาด มากในหมู่คนมั่งมี ก็เป็น การลงโทษอันเหมาะสมแล้วสำหรับคนที่มีเมียมากและหมกมุ่นอยู่ในกามคุณ”
ในส่วนที่เกี่ยวข้องของโสเภณีนั้น ปาลเลอกัวซ์ก็มีบันทึกไว้ด้วยว่า โสเภณีได้รับการจดเบียนเป็นที่มาของรายได้สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 4 มากถึง 50,000 บาท มากกว่าภาษีหลายประเภท เช่น ไม้สัก กระวาน น้ำตาลโตนด แม้ระทั่งงาช้าง
อย่างไรก็ตาม กามโรคยังมีอีกหลายชื่อเรียกที่ปรากฏขึ้นในตำราแพทย์โบราณตั้งแต่ชื่อโรคบุรุษ โรคสตรี โรคหงอนไก่และโรคคชราช ซึ่งได้มีการบรรยายถึงลักษณะอาการที่ตรงกับโรคซิฟิลิสนั่นเอง อาจสรุปได้ในช่วงเวลาดังกล่าว กามโรคมีการระบาดอยู่ในวงจำกัดของกลุ่มคนมีฐานะ ขณะที่โสเภณีหรือหญิงงามเมืองแม้จะมีอคติโดยดูถูกจากสังคม แต่ก็ถือเป็นอาชีพที่เฟื่องฟู สร้างรายได้เป็นภาษีให้กับรัฐเป็นมูลค่ามหาศาล
จุดเปลี่ยนจากยุคเฟื่องฟูสู่ตราบาปจากโรคร้าย
ในช่วงรัชกาลที่ 4 – 5 กิจการโสเภณีหรือในสมัยนั้นมีคำเรียกว่า “หญิงงามเมือง” เข้าสู่ยุคเฟื่องฟูโดยเฉพาะในเมืองหลวง ถึงขั้นมีวัดที่สร้างโดยเจ้าสำนักนางโลมเมื่อปี 2376 ที่ชื่อว่า “วัดคณิกาผล” ซึ่งคณิกาเป็นอีกคำที่ใช้เรียกโสเภณีนั่นเอง และตั้งอยู่ย่านเยาวราชที่เรียกกันว่าย่านโคมเขียวในยุคนั้น
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางยุคเฟืองฟูนั้น อีกด้านหนึ่งโสเภณีก็มีส่วนที่มาจากการถูกบังคับและมีอายุต่ำกว่า 14 ปี โดยลักษณะของกระบวนการค้ามนุษย์ที่มีระบบนายทาสและนายภาษีบีบบังคับให้ทำงานนี้อยู่เบื้องหลัง
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2420-2430 การเข้ามาของแพทย์แผนตะวันตกในไทยโดยหมอฝรั่งคนสำคัญ “หมอบรัดเลย์” ถือเป็นจุดเปลี่ยนของกามโรคและโสเภณีในสังคมไทย ช่วงเวลานี้เองเป็นจุดเริ่มต้นที่รัฐไทยเข้ามามีส่วนสำคัญในการจัดการเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนมากขึ้น สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของที่เรียกกันว่า “โรคห่า” ซึ่งได้แก่ อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษและกาฬโรค
การแพทย์แผนตะวันตกช่วยรักษาโรคได้จริง เริ่มเป็นที่ยอมรับ รัฐไทยมีการตั้งโรงพยาบาลศิริราชขึ้นในปี 2431 เพื่อทำงานป้องกันควบคุมโรคระบาดใหญ่เหล่านี้ ขณะกามโรคก็มีการแพร่ระบาดมากขึ้นตามความเจริญที่เข้ามา เมื่อย่านสำเพ็งอันเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญตั้งอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากย่านโคมเขียว การแพร่ระบาดของกามโรคจึงเกิดขึ้น ไม่ได้มีเอกสารยืนยันอย่างชัดเจน มีเพียงคำเล่าปากต่อปากเท่านั้นว่า ในนครชายไทยครึ่งนึงป่วยเป็นโรคบุรุษ
นั่นเองในทศวรรษที่ 2440 จึงมีการยกร่างกฎหมายควบคุมการค้าโสเภณีด้วยเหตุผลเกี่ยวกับการป้องกันโรคติดต่อทางเพศคือร่างพระราชบัญญัติคณิกาภิบาล ร.ศ. 117 สืบเนื่องจากสถานการณ์โรคดังกล่าว ในปี 2441 ก็มีการตั้ง “โรงพยาบาลหญิงหาเงิน” ขึ้นที่ถนนพลับพลาไชย ใกล้กันกับย่านโคมเขียว เพื่อรักษากามโรคที่แพร่ระบาดหนัก ซึ่งต่อมาโรงพยาบาลดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็น “โรงพยาบาลกลาง” และรักษาโรคทั่วไปจวบจนทุกปัจจุบัน
และแล้วการยกร่างกฎหมายป้องกันกามโรคใช้เวลายาวนานถึง 10 ปีก็ได้ประกาศใช้ในชื่อ “พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค ร.ศ. 127” ในปี 2451 นี่เองถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของกามโรคในสังคมไทย ถือเป็นครั้งแรกที่กามโรคมาจากการติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ผลที่ตามมาคือโสเภณีถูกมองว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค พร้อมกันนั้นผู้ที่ป่วยเป็นกามโรคก็ถูกตีตราทางศีลธรรมว่ามีความสำส่องทางเพศ
กฎหมายฉบับดังกล่าว มีการวิเคราะห์กันว่าด้านหนึ่งเป็นไปเพื่อป้องกันโรคโดยมีการระบุให้ตรวจในทุก 3 เดือน แต่อีกด้านก็เป็นไปเพื่อควบคุมบังคับให้โสเภณีมาลงทะเบียนกับรัฐกลาง เป็นการจ่ายภาษีตรง สิ่งนี้สะท้อนถึงว่า แม้สังคมจะเริ่มมองโสเภณีและกามโรคในแง่ร้าย แต่ก็ยังได้รับการรับรองจากรัฐ ทั้งยังคงสร้างรายได้จากภาษีให้เป็นจำนวนมาก
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่ “นางฟ้าไร้นาม” ปรากฏ
พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค ร.ศ. 127 เริ่มบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักรในปี 2456 หลังจากใช้เฉพาะในกรุงเทพมหานคร แสดงให้เห็นว่าโสเภณีมีการขยายตัวไปในหลากหลายพื้นที่
กระทั่งล่วงเข้าถึงปี 2475 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงก็มาถึง
ไม่ใช่เพียงระบอบการกฎครอง แต่สังคมและวัฒนธรรมก็มีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นตะวันตกมากขึ้น มีการนำค่านิยมเชิดชูผู้หญิงเข้ามาสู่ประเทศ โดยมีกฎหมายผัวเดียวเมียเดียวเกิดขึ้นในปี 2478 ทว่าค่านิยมดังกล่าวยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ผลที่ตามมากลับเป็นว่า ผู้หญิงที่เดิมทีเป็นเมียน้อยต้องหันมาประกอบอาชีพโสเภณีแทน ทำให้จำนวนโสเภณีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
อีกส่วนสำคัญที่เพิ่มขึ้นคือการค้ามนุษย์ มีการศึกษาพบว่า เกิดกระบวนการหลอกลวงผู้หญิงจากชนบทเข้ามาขายบริการในเมืองที่เพิ่มขึ้น โสเภณีจำนวนมากไม่ได้ยินยอมที่จะค้าบริการด้วยตัวเอง นอกจากนี้สงครามเวียดนามกลายเป็นอีกปัจจัยที่นอกจากทำให้สภาพเศรษฐกิจมีปัญหาแล้ว ทหารที่เข้ามาประจำการในไทยยังมาพร้อมความต้องการใช้บริการด้านนี้สูงขึ้น
ณ ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้เองที่เป็นฉากหลังของละครเรื่อง “นางฟ้าไร้นาม” ที่สร้างจากเหตุการณ์จริงของ แพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชกุล ที่ได้เรียนหมอจบจากฝรั่งเศส และกลับมาทำงานการแพทย์ที่ไทยในปี 2476
โสเภณีที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาพร้อมกับการแพร่ระบาดของกามโรค กระทรวงสาธารสุขมีรายการปัญหาดังกล่าวในปี 2493 ผ่านข้อเสนอความร่วมมือจากองค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ โดยระบุผลสำรวจพบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยกว่า 200,000 รายทั่วประเทศ พร้อมกันนั้นกระแสโลกมองการค้าประเวณีเป็นส่วนหนึ่งของการค้ามนุษย์ สหประชาชาติมีมติให้ประเทศต่าง ๆ ยกเลิกการค้าประเวณี การขึ้นทะเบียนโสเภณีในประเทศไทยจึงถูกยกเลิกไป
และแล้วในปี 2503 พระราชบัญญัติป้องกันโรคสัญจร ร.ศ. 127 ก็ถูกยกเลิกไป โสเภณีกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เมื่อรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ออกพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 โดยได้มีการตัดประเด็นของการป้องกันโรคออกไป และมีการกำหนดความผิดทางอาญาทั้งตัวผู้ให้บริการเอง เจ้าของกิจการสำนักนางโรมรวมถึงนายหน้า
โสเภณี กามโรคและเด็กกำพร้าที่เกิดจากแม่ที่เป็นโสเภณี กลายเป็นปัญหาสังคม พวกเขาต้องการความช่วยเหลือ แต่กลับถูกรังเกียจ เหล่านี้เองของฉากหลังของเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่หลายคนอาจไม่รู้มาก่อน
กามโรคใหม่ “HIV” และอคติการตีตราที่เริ่มเกิดขึ้น
กามโรคในอดีตที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แล้วคือซิฟิลิส สถานการณ์เริ่มทุเลาลงแม้จะยังคงอยู่ ทว่ากลับกามโรคที่เข้ามาใหม่ที่ดูจะน่ากลัวกว่าเดิม นั่นคือโรคเอดส์ โดยพบผู้ป่วยรายแรกที่จัดอยู่กลุ่มชายรักชายในปี 2527 จากนั้นเกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด เพียงใน 1 ปี พบว่าผู้ใช้ยาเสพติดเกือบครึ่งนึงติดเชื้อ HIV แล้วโรคก็ระบาดสู่กลุ่มพนักงานบริการ มีการสำรวจพบว่า พนักงานบริการในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือติดเชื้อ HIV ถึงร้อยละ 44
ช่วงปี 2528-2530 มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โรคนี้พึ่งเป็นที่รู้จักทำให้การรับมือยังทำได้ยาก และเนื่องจากสถานการณ์มีความรุนแรง ทำให้โรคเอดส์หรือการติดเชื้อ HIV กลายประเด็นร้อนที่สังคมพูดถึง จากปากคำของนพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร แพทย์ผู้รับผิดชอบงานควบคุมโรคเอดส์ในช่วงเวลาดังกล่าว เผยว่า เริ่มมีการติดเชื้อจากการรับบริจาคเลือดเกิดขึ้น
ณ ช่วงเวลาดังกล่าว การค้าบริการทางเพศถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายที่รัฐทำเป็นมองไม่เห็น แต่รัฐในส่วนที่ต้องดูแลด้านสาธารณสุขต้องมองเห็นพนักงานบริการอย่างเข้าใจ การทำงานท่ามกลางการมองเห็นแต่ไม่เห็นนั่นเอง จึงมีความยากเพราะถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้านศีลธรรม และในทางปฏิบัติแล้วในสมัยนั้นการใช้ถุงยางอนามัยยังไม่เป็นที่ยอมรับ เกิดเป็นคำถามว่า แล้วลูกค้าที่ไหนจะยอมใช้ถุงยางขณะใช้บริการทางเพศ ?
แต่เมื่อหน่วยงานในพื้นที่ให้การสนับสนุนจากระดับท้องที่ มีการตรวจสอบการใช้ถุงยางอนามัยอย่างจริงจัง และขยายสู่พื้นที่อื่น ๆ จนกลายเป็นวาระระดับประเทศกับนโยบายถุงยางอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเวลานั้นถุงยางมีอีกชื่อเล่นว่าถุงมีชัย ตามชื่อของ มีชัย วีระไวทยะ ผู้บุกเบิกการใช้ถุงยางในไทยจนได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติในฐานะ “มิสเตอร์คอนดอม” หรือ “ราชาแห่งถุงยาง”
เพียงไม่นาน จำนวนผู้ติดเชื้อ HIV ในปี 2531 ก็ลดลงอย่างรวดเร็ว หลังแนวโน้มของผู้ป่วยแม้จะคงที่ แต่ก็ยังไม่หมดไป โรคที่รักษาไม่หายนี้ทำให้มีผู้ป่วยสะสมมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ความเข้าใจที่ผิดพลาดเกี่ยวกับโรคเริ่มนำพาไปสู่อคติและการตีตรา เพราะพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีทำให้ป่วย นี่จึงนำไปสู่การตีตรา
เยียวยาการตีตราด้วยความเข้าใจ
โสเภณีกลายเป็นอาชญากรรมหลังการมาถึงของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ทว่าการค้าประเวณีไม่ได้หายไปหรือถูกปราบปราม หากแต่กลายเป็นช่องทางของการหาผลประโยชน์ในรูปแบบของ “ส่วย”
การเปลี่ยนแปลงของสังคมในด้านของเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำ มีการวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่พนักงานบริการเลือกประกอบอาชีพนี้มาจากความจำเป็นที่ต้องเข้ามาหาเงินในเมือง รายได้ที่สูงเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นบีบให้ต้องเลือกทางเดินนี้
ทว่าการไม่มีสถานะเป็นอาชีพทำให้คุณภาพชีวิตของพนักงานบริการแย่ลง เนื่องจากไม่ได้สิทธิเหมือนอย่างแรงงานทั่วไป ทั้งวันลาหยุด ลาป่วย และสวัสดิการประกันสังคม ทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกล่อซื้อ เหล่านี้บีบให้พนักงานบริการกลายเป็นคนชายขอบของสังคมที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่ธรรม และแน่นอนว่ายังคงถูกดูแคลนในฐานะอาชีพที่ผิดศีลธรรม
กระนั้นก็ตาม อาชีพนี้ยังคงเป็นอาชีพที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรคทางเพศสัมพันธ์ ถึงตอนนี้กามโรมผันเปลี่ยนจากซิฟิลิสมาสู่โรคเอดส์ การรักษาในอดีตเปลี่ยนเป็นการป้องกัน ถุงยางอนามัยถูกนำมาใช้ควบคู่ไปกับการมาถึงของยา PEP และ PrEP ที่ใช้ป้องกันทั้งหลังสัมผัสเชื้อและก่อนสัมผัสเชื้อในกลุ่มเสี่ยง สังคมเข้าสู่ช่วงเวลาที่ก่อร่างสร้างความเข้าใจใหม่
การตีตราในอดีตส่งผลให้ตามสถานบริการสุขภาพเกิดการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ สิ่งที่ตามมาคือเกิดการขาดหายไปของผู้ป่วยที่จะเข้ามารับยาเพื่อคุมปริมาณเชื้อไวรัส ซึ่งหากไม่ได้รับการแพร่เชื้ออาจเกิดขึ้นได้
การทำงานของภาคประชาสังคมสร้างความเข้าใจใหม่ให้สังคมมากขึ้น ทั้งในเรื่องของพนักงานบริการให้มีฐานะเป็นอาชีพหนึ่ง และเรียกร้องให้มีกฎหมายเกี่ยวกับ Sex worker ขึ้นแทน ขณะที่ปัญหาการค้ามนุษย์นั้นก็มีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 อยู่แล้ว ขณะที่ในด้านของผู้ติดเชื้อ HIV ก็มีเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยงที่ช่วยให้การเข้าถึงยามีมากขึ้น พร้อมกันกับที่ประเด็นผู้ติดเชื้อรับยาคุมระดับไวรัสได้สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติได้กลายเป็นเรื่องที่ผู้คนหันมาเข้าใจกันมากขึ้น
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือกามโรค ถึงตอนนี้มีโรคอื่น ๆ ทั้งเก่าใหม่ผลัดกันกลับมาระบาด มีซิฟิลิสกลับมาระบาดในช่วงปีก่อนในกลุ่มวัยรุ่น ขณะที่โรคใหม่อย่าง Mpox หรือที่รู้จักในชื่อฝีดาษลิง เราพาทุกคนไปสำรวจความเป็นมาของอคติเพื่อเข้าใจบทเรียนจากกามโรคที่ผ่านมา หัวใจของการจัดการกับโรคเหล่านี้ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ใช่การตีตราผู้คนที่ติดเชื้อหรือหวาดกลัวต่อโรคร้าย แต่คือความเข้าใจที่เราทุกคนมีต่อทั้งตัวโรคที่ต้องระมัดระวัง และผู้คนที่เผชิญกับโรคนั้น ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ
อ้างอิงข้อมูล
บทความวิชาการจากรายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการระดับชาติ SMARTS ครั้งที่ 9 : การเปลี่ยนแปลงความหมายของกามโรคในสังคมไทยทศวรรษ 2400-2440 โดย ชาติชาย มุกส่ง
เล่าเรื่องกรุงสยาม โดย ฌัง-บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์
โสเภณีกับนโยบายของรัฐไทย พ.ศ. 2411-2503 โดย ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์
กามโรค : จากอดีตที่ลือลั่น...สู่ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลง โดย นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร
วิทยานิพนธ์ รัฐไทยกับสุขภาพพลเมือง พ.ศ.2475-2500 โดย ธันวา วงศ์เสงี่ยม
วิทยานิพนธ์ มาตรการทางกฎหมายในการแก้ไขปัญหาการค้าประเวณีในประเทศไทย โดย ณัฐปภัสร์ ณรงค์กิจพาณิช
เอกสารรายงาน การติดตามสถานการณ์ทางสังคมของประเทศไทย : การแก้ปัญหาเอดส์ของไทย สานต่อความสำเร็จมุ่งสู่อนาคต จัดทำโดย ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย
decriminalize sex work : ภาคประชาชนเสนอ ยกเลิกกฎหมายปราบปรามการค้าประเวณี
ไทยมุ่งยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573
“PrEP” – “PEP” ยาป้องกันก่อนและหลังสัมผัสเชื้อ HIV เหมาะกับใคร? แจกฟรีที่ไหนบ้าง?