ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คุมเข้ม AI นวัตกรรมไม่เกิด ย้ำ "จริยธรรม" ผู้ใช้งานสำคัญที่สุด


แชร์

คุมเข้ม AI นวัตกรรมไม่เกิด ย้ำ "จริยธรรม" ผู้ใช้งานสำคัญที่สุด

https://www.thaipbs.or.th/now/content/553

คุมเข้ม AI นวัตกรรมไม่เกิด ย้ำ "จริยธรรม" ผู้ใช้งานสำคัญที่สุด

ผู้ประกาศ AI หรือโปรแกรมที่ช่วยรวบรวมข้อมูล เป็นตัวอย่างที่ฉายภาพให้เห็นถึงเทคโนโลยี AI กับงานข่าว กำลังเชื่อมการทำงานเข้าด้วยกัน และคนทำงานเริ่มเปิดรับกับการเข้ามาของ AI มากขึ้น แต่ว่าถ้ามีการใช้งานแบบไม่มีการควบคุมหรือดูแลก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน จากสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ไปดูว่าคนทำงานสื่อในแต่ละประเทศ หลังจาก AI มาอยู่ในการทำงานของพวกเขา จะเกิดความกังวลว่าจะมาแย่งงานหรือไม่ ซึ่งมีมุมหนึ่งที่พยายามสื่อสารว่าถึงเวลาที่ต้องอยู่ร่วมกัน

AI แทนที่งาน แต่มีงานใหม่ เกิดขึ้นพร้อมกับ AI

นาโอกิ นากาทานิ วิศวกรศูนย์นวัตกรรมสื่อ NHK กล่าวว่า AI มี 2 ประเภท อย่างแรกคือ AI ที่สร้างสิ่งต่าง ๆ เช่น การสร้างโปรแกรม หรือสรุปสิ่งต่าง ๆ อีกประเภทคือ AI ที่ช่วยชี้ให้เห็นว่า บทความที่เขียนมีคำผิดตรงไหนบ้าง และมองว่า AI จะไม่แย่งงานของสื่อมวลชน แต่จะทำให้สื่อมวลชนมีสิ่งดี ๆ มากยิ่งขึ้น อย่างกรณีที่ AI เข้ามาช่วยในการผลิตเพื่อสร้างบางสิ่งบางอย่าง ลองคิดดูว่า AI ที่สามารถสร้างงานได้อัตโนมัติ หรือ สร้างโปรแกรมอัตโนมัติอาจเป็นเรื่องที่ดี

ขณะที่ หยาง เฉิงซี ผู้สื่อข่าวอาวุโส สถานีโทรทัศน์ CGTN กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ล้วนประจักษ์ให้เห็นแล้วว่า AI ทำให้งานทุกประเภทเป็นแบบอัตโนมัติได้อย่างไร และเชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต

"่ท้ายที่สุดแล้ว ผมเป็นคนมองโลกในแง่ดี เมื่อ AI เข้ามาแทนที่งานบางงาน งานใหม่บางงานก็จะถูกสร้างขึ้น เป็นเพียงเรื่องของการปรับตัวเข้ากับอนาคต" หยาง เฉิงซี กล่าว

หยาง เฉิงซี ผู้สื่อข่าวอาวุโส สถานีโทรทัศน์ CGTN

มนุษย์ต้องปรับตัว เพื่อรับมือกับ AI

ด้าน วสุพล ธารกกาญจน์ Azure Business Group Director, Microsoft Thailand ตัวแทนจากบริษัทไมโครซอฟต์ ระบุว่า ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน AI (Artificial Intelligence) ยังไม่มีความสามารถถึงขั้นที่คิดเองได้ เนื่องจากยังมีข้อจำกัดในเรื่องทรัพยากร Computing Power จึงมองว่ามนุษย์ยังมีเวลาปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

ขณะที่ ข้อเสนอแนะถึงการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยี AI มองว่าหากปล่อยให้เกินขอบเขตอาจสร้างช่องว่างระหว่างกลุ่มที่มีความองค์ความรู้กับกลุ่มที่ยังไม่เท่าทันเทคโนโลยี

“ต้องฝากไปยังหน่วยงานกำกับดูแล ถ้า AI ตกอยู่ในมือของคนที่ไม่ดี เอาไปใช้งาน อย่างเช่น แฮกเกอร์ แฮกวันละหลักร้อยเครื่องเมื่อใช้ AI เข้ามาช่วยก็อาจจะแฮกได้เป็นแสนเป็นล้านเครื่อง ดังนั้น ผมมองว่า ปัจจุบันแต่ละองค์กรควรจะกลับมามองว่า อะไรคือสิ่งที่เราจะสามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้ เพื่อที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนเรื่องความน่ากลัวต้องฝากหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุม เราไม่ต้องกลัว AI แต่เรากลัวคนที่ใช้ AI เป็น องค์กรที่ใช้ AI เป็น กับองค์กรที่ใช้ AI ไม่เป็น จะมีความแตกต่างกันอย่างสูง"

แต่แม้คนทำงานจะเริ่มเปิดรับกับการเข้ามาของ AI มากขึ้น แต่ว่าถ้ามีการใช้งานแบบไม่มีการควบคุมหรือดูแลก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เป็นประเด็นกังวลกันมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ที่เทคโนโลยีเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ การควบคุมเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องมองบริบทของแต่ละประเทศด้วย

AI คือ Global Trends ที่คนทั่วโลกต้องเรียนรู้ 

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า AI สามารถนำไปใช้ได้กับหลายเรื่อง ซึ่งก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ปกติโดยทั่วไปถ้าใช้ในมุมที่ดีก็เป็นผลบวก แต่ถ้าใช้ในทางที่ไม่ดีก็เป็นผลลบได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่สร้างและไม่เรียนรู้เครื่องมือนี้ เพราะเครื่องมือนี้เป็น Global Trends ที่ทั่วโลกและบริษัทขนาดใหญ่ใช้

ส่วนในด้านการทำสื่อจะเห็นได้ว่า AI เข้ามามีส่วนอย่างมากในเรื่องข้อจำกัดด้านภาษาและข้อมูล แต่ขณะนี้มีสตาร์ตอัปที่กำลังศึกษาเรื่องภาษา เพื่อให้การใช้ AI ในการสร้างภาพขึ้นมาต่าง ๆ สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน ภาครัฐ และภาคเอกชน ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เพื่อศึกษาและพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้ เพื่อนำไปใช้ในด้านสาธารณสุข ภาคเกษตร โปรแกรมซอร์ฟแวร์ ดังนั้น AI จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่อยากให้ทุกคนมองว่า เป็นเครื่องมือที่ดีที่มนุษย์ต้องเรียนรู้ แต่ต้องมีวิธีในการกำกับดูแล 

“AI สามารถนำไปใช้ได้ในหลายเรื่อง เป็นเครื่องมือที่ดีที่ต้องเรียนรู้ แต่ต้องมีวิธีในการกำกับดูแล ซึ่งอีกนานมากกว่าจะถึงจุดที่ AI ควบคุมมนุษย์ ขณะนี้ มนุษย์เป็นฝ่ายที่ควบคุม AI แต่จะควบคุมได้อีกนานเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี” ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าว

 

ภาครัฐ "คุม AI เท่าที่จำเป็น" ไม่ปิดกั้นพัฒนานวัตกรรม 

นอกจากนี้ ดร.กริชผกา อธิบายต่อว่า เมื่อก่อนมีโลกอยู่ 2 โลก คือ โลกแห่งความเป็นจริง และโลกที่เทคโนโลยีสร้างให้เกิดขึ้น ฉะนั้น ในโลกใบนั้นต้องพยายามสื่อสารกับการใช้เครื่องมือต่อไปในอนาคต ฉะนั้น คิดว่า AI เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และเราจะเรียนรู้อยู่ด้วยกันอย่างไร นวัตกรรมใหม่ ๆ จึงจะเกิดขึ้น

ส่วนเรื่องกฎหมายข้อบังคับ ในเรื่องของเทคโนโลยีต้องควบคุม จำกัดเท่าที่จำเป็น อย่างเช่นในประเทศที่มีการพัฒนานวัตกรรมมากมาย รัฐจะควบคุมการใช้ AI เท่าที่จำเป็นจริง ๆ ฉะนั้น ต้องดูว่ารูปแบบของเมืองไทยจะเป็นแบบไหน จะพัฒนานวัตกรรมไปอย่างไร แต่ที่ย้ำเสมอ สำคัญที่สุดอยู่ที่ 'จริยธรรม' ของผู้ใช้งาน"

ETDA มองถ้ามิจฉาชีพใช้ AI ได้ ภาครัฐก็ใช้ได้ !

ขณะเดียวกัน ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA ให้ความเห็นว่า การกำกับ AI จะทำให้กระบวนการนวัตกรรมสะดุด แต่ก็ต้องพึงระวังถ้าตกอยู่ในมือมิจฉาชีพ ดังนั้นมองว่า ในเมื่อมิจฉาชีพใช้ AI ได้ ภาครัฐต้องใช้ AI เข้ามาช่วยด้วย

ยกตัวอย่างเช่นให้ AI ช่วยกรองให้ว่าคนที่โทรศัพท์เข้ามาเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ ทางภาครัฐไม่อยากที่จะออกกฎหมายแล้วไปควบคุมคนดี ๆ ดังนั้น ต้องดูระหว่างข้อดี และข้อจำกัดของการใช้งาน AI

สอดคล้องกับมุมมองในเชิงนโยบาย ของกรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ที่ระบุว่าการกำหนดกรอบแนวทางการใช้ AI อย่างรอบด้านจะสามารถลดช่องทางความเหลื่อมล้ำ และดึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ได้อย่างคุ้มค่า

อีก 5 ปี เหลื่อมล้ำแน่ ! หากไทยยังไร้กรอบคุมการใช้ AI

ศ.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า อีก 5 ปี ถ้าไม่มีกรอบการทำงานในแง่นโยบาย และการกำกับดูแลที่ไม่ใช่เพียงแค่การออกกฎหมายเท่านั้น แต่รวมไปถึงการกำกับดูแลจากทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการดูแล AI ที่พัฒนาไปโดยที่ไม่มีการควบคุม ก็จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้นในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม หรือมองในภาพระดับภูมิภาค ระดับโลก ในเชิงภูมิศาสตร์การเมือง ประเทศไหนที่ใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้มากกว่า

"ตัวอย่างที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้เราตื่นเต้นกับเทคโนโลยี พร้อม ๆ กันก็ช่วยให้ฉุกคิดเพื่อให้เราตื่นตัวและเท่าทัน AI ด้วย ก็ต้องปรับตัวและใช้ AI ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และจะเป็นการติดอาวุธและทำให้ผู้สื่อข่าว ผู้ประกาศทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย" กรรมการ กสทช. ระบุ

ศ.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์

 

ชมย้อนหลัง Thai PBS World Forum
“AI and the Future of Newsroom” AI และอนาคตของห้องข่าว

อ่านต่อ :

ส่องสื่อใหญ่ในเอเชีย กับบทบาท AI ในวงการข่าว

ว้าวุ่นกันทั้งโลก ! มนุษย์ หรือ AI ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ?

งานศิลปะจาก AI ลิขสิทธิ์เป็นของใคร ศิลปินปรับตัวอย่างไรเมื่อ AI ครองโลก

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ #ThaiPBSSciAndTech

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBS Sci & Tech Thai PBS Sci And Tech Thai PBS World ForumAI
Thai PBS Sci & Tech

ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด