ปกติเคยได้ยินแต่ "ดาวเคียงเดือน" แล้ว "ดาวเคียงดาว" คืออะไร ? Thai PBS Sci & Tech ขอพาไปรู้จักความหมายของคำนี้กัน เนื่องจากวันนี้ (27 ม.ค. 67) จะมีการเกิดปรากฏการณ์ “ดาวพุธเคียงดาวอังคาร” นั่นเอง
ปรากฏการณ์ “ดาวเคียงดาว” หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า “ดาวเคราะห์ชุมนุม” เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นให้เห็นบ่อย ๆ ซึ่งเป็นการโคจรระหว่างดาวเคราะห์ตั้งแต่ 2 ดวงขึ้นไป มาปรากฏอยู่ใกล้กันบนท้องฟ้า ที่มีระยะห่างเชิงมุม 1-5 องศา (การวัดระยะเชิงมุมบนท้องฟ้า ชูนิ้วก้อยเหยียดแขนให้สุดขึ้นบนท้องฟ้า ระยะ 1 องศา จะห่างกันประมาณ 1 นิ้วก้อย)
ปรากฏการณ์ “ดาวเคียงดาว” เกิดขึ้นให้เห็นเป็นประจำ เนื่องจากดวงจันทร์และดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งบนท้องฟ้าไปเรื่อย ๆ ตามแนวสุริยะวิถี ดังนั้น การที่ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าในทิศเดียวกัน หรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกัน จึงถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถอธิบายได้ ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
ซึ่งเคยมีปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุมเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ส่วนใหญ่จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษก็ต่อเมื่อ ดาวเคราะห์ทั้ง 5 ดวง มาปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้า และสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (5 ดาวเคราะห์ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากโลก ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์)
ดาวเคราะห์ชุมนุมที่จะเกิดขึ้น
- 27 มกราคม 2567 : ดาวพุธเคียงดาวอังคาร
- 23 กุมภาพันธ์ 2567 : ดาวศุกร์เคียงดาวอังคาร
- 22 มีนาคม 2567 : ดาวศุกร์เคียงดาวเสาร์
- 11 เมษายน 2567 : ดาวอังคารเคียงดาวเสาร์
- 14 สิงหาคม 2567 : ดาวอังคารเคียงดาวพฤหัสบดี
27 มกราคม 67 สามารถดูดาวพุธเคียงดาวอังคาร (23:28 น.) ที่ระยะ 0.24° (สังเกตได้ในเช้ามืด วันที่ 28 มกราคม ห่างกัน 0.3°)
เกร็ดความรู้: ดาวเคราะห์ชุมนุมกับดาวเคราะห์เรียงอยู่ในแนวเดียวกัน
ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจะมีวงโคจรเป็นของตัวเอง และมีระนาบวงโคจรอยู่คนละระนาบ ตามสภาพความเป็นจริงโอกาสที่ดาวเคราะห์ทั้ง 3 ดวง จะมาเรียงอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันแบบพอดี โดยไม่เบี่ยงเบนออกไปจากแนวเส้นตรงที่เชื่อมกันเลยนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้หรือเกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง ยิ่งรวมดาวเคราะห์ทุกดวงเข้าไปก็ยิ่งไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลย
จากการให้ข้อมูลของสมาคมดาราศาสตร์ไทย พบว่า โดยทั่วไป ผู้คนอาจเรียกปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ชุมนุมว่า เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ดาวเคราะห์มาเรียงอยู่ในแนวเดียวกัน (Planetary Alignment) นอกจากนี้ คำว่า “ดาวเคราะห์เรียงตัว” ก็อาจใช้กับกรณีที่ดาวเคราะห์หลายดวงปรากฏบนท้องฟ้าในเวลาเดียวกัน ไม่คำนึงว่ามันทำมุมห่างกันกี่องศา เพียงแต่สามารถมองเห็นมันได้พร้อมกันบนท้องฟ้าก็เป็นอันใช้ได้
📌อ่าน “10 ประเด็น ! “ดาราศาสตร์” น่าติดตามปี 2567”
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สมาคมดาราศาสตร์ไทย, สมาคมดาราศาสตร์ไทย