4 เหตุการณ์ราคาทองพุ่งของโลก


Insight

20 มี.ค. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
4 เหตุการณ์ราคาทองพุ่งของโลก

ราคาทองพุ่งขึ้นจนทำราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ชวนให้หลายคนสงสัย เหตุใดทองจึงพุ่งขึ้นอย่างน่าสนใจ Thai PBS รวบรวมเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ทองราคาขึ้น มาบอกกัน

ทองราคาพุ่งสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

1. ตลาดหุ้นล่มสลาย วิกฤตฟองสบู่ ทองยุคแรกที่เริ่มมีราคามากขึ้น

ในช่วงปี 2000 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ผู้คนเรียกว่า “วิกฤตฟองสบู่” ผลที่ตามมาคือระบบการเงินล่มสลายทั่วโลก ตลาดหุ้น NASDAQ พังทลาย ค่าเงินสหรัฐฯ ตกต่ำ ราคาสินค้าต่าง ๆ ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันและทองคำ ทว่าราคาทองยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก แต่ราคาในช่วงปี 2001 – 2006 ทองทำราคาเพิ่มขึ้นจากราวบาทละ 6,000 – 7,000 บาท พุ่งไปถึง 12,000 บาท นี่เป็นเพียงเค้าลางแรก ๆ ของการลงทุนในทองคำที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา

2. วิกฤตซับไพร์ม ทองกลายเป็นหลุมหลบภัยทางการเงินของนักลงทุน

ในช่วงปี 2008 ราคาทองมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจที่เรียกกันว่า “วิกฤตซับไพร์ม” หรือ “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” สหรัฐอเมริกาออกมาตรการในการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเข้าสู่ระบบ จึงเกิดภาวะเงินเฟ้อ และเมื่อเงินมีมูลค่าลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้นักลงทุนหันมาสนใจทอง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสินทรัพย์ที่ราคาไม่ลดลง ตลอดช่วงปี 2008 – 2011 จึงเป็นครั้งแรก ๆ ที่ราคาพุ่งขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จากราว 15,000 บาทสู่ราคาสูงสุดที่ราวบาทละ 27,000 บาท

3. สงครามการค้าถึงโรคระบาดโควิด-19 ซ้ำเติมด้วยสงครามรัสเซีย - ยูเครน

หลังจากทองมีราคาพุ่งไปถึง 27,000 บาท นักเก็งกำไรหลายคนมองราคาไปถึง 30,000 บาท แต่ราคาทองก็ถึงช่วงเวลาที่ลดความร้อนแรงลง และมีช่วงที่ราคาลงมาอยู่ที่ 17,000 บาท ถือเป็นความเสี่ยงในการลงทุนที่เกิดขึ้น และกินเวลายาวนานเกือบ 10 ปี จนกระทั่งปี 2019 สงครามการค้าจีน - สหรัฐฯ ความเสี่ยงด้านการลงทุนจากความขัดแย้งของมหาอำนาจโลก ต่อเนื่องด้วยวิกฤตโควิด-19 และสงครามรัสเซีย - ยูเครน ทำให้ราคาทองพุ่งขึ้นมา ทำราคาสูงสุดใหม่ที่บาทละ 32,000 บาท

4. เค้าลางความไม่แน่นอนหลายชั้น “ความขัดแย้งระหว่างประเทศ – ปัญหาเศรษฐกิจจีน - ฟองสบู่ที่ยังไม่แตก”

ราคาทองกลับมาทำ new high (สูงสุดใหม่) อีกครั้งในช่วงเดือนมีนาคม 2567 และพุ่งขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่บาทละ 36,000 บาท นักวิเคราะห์มองว่า มาจากความกังวลของนักลงทุนในหลายประเด็นด้วยกัน แม้วิกฤตจะยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม โดยมีเหตุผลอยู่ 3 ข้อที่สืบเนื่องกัน ได้แก่ ความตึงเครียดจากสถานการณ์ระหว่างประเทศ ทั้งรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ซ้ำร้ายด้วยสงครามอิสราเอล – ฮามาส ต่อเนื่องด้วยการโจมตีของกลุ่มฮูตีในแถบตะวันออกกลาง ทั้งหมดสะท้อนถึงความตึงเครียดในด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีผลสืบเนื่องจากการฟุบตัวของเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่จบสิ้น รวมถึงความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี และนักลงทุนบางส่วนกังวลเกี่ยวกับตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่อีกด้วย

ภาวะดังกล่าวเหล่านี้เอื้อให้นักลงทุนรวมถึงธนาคารกลางในหลายประเทศ หันมาเลือกถือทองคำเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยมีการเก็งกำไรจากความคาดหวังที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเสริมเข้ามา ซึ่งจะยิ่งมีผลทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น และการถือทองยังทำกำไรให้กับนักลงทุนได้นั่นเอง

อ้างอิง
Gold Climbs to Record on Mix of Fed Pivot and Geopolitical Risks
สงครามอิสราเอล-ฮามาส ทำราคาทองคำสูงสุดในประวัติศาสตร์ไทย
ส่องภูมิทัศน์โลก ก่อนลงทุนทองคำ | เศรษฐกิจติดบ้าน
ย้อนอดีตราคาทองคำ สินทรัพย์ลงทุนยอดนิยม | เศรษฐกิจติดบ้าน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ทองคำทองรูปพรรณลงทุนทองทองแพง
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ