กาแฟข้นชีวิตเข้มบนดอยมณีพฤกษ์
กว่า 40 ปีแล้วที่ครอบครัวจอร์แดนได้ยืนหยัดอยู่บนแผ่นดินไทย และช่วยเหลือพี่น้องชาวปรัยในจังหวัดน่าน ถึงตอนนี้ความเป็นนักพัฒนาจากรุ่นพ่อได้ส่งต่อมาทางสายเลือดสู่ เคเลบ จอร์แดน ลูกชายคนเล็กที่นำความรู้จากด้านกาแฟต่างประเทศเข้ามาพัฒนาชุมชน และที่ไม่ได้แค่ทำให้ผู้คนในหมู่บ้านมณีพฤกษ์ค่อย ๆ พบกับความเปลี่ยนแปลงในการเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับป่าเมืองน่านเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้ชาวบ้านมีรายได้ที่มั่นคง ได้พบกับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และทำให้หมู่บ้านเล็ก ๆ บนยอดดอยอย่าง มณีพฤกษ์ กลายเป็นที่สนใจของคอกาแฟไทยและทั่วโลก
นักบุญผู้พัฒนาชุมชน
ชวนเดินทางไปยังอำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน ไปพบกับคุณเดวิด จอร์แดน นักบุญผู้พัฒนาภาษาปรัย มิชชันนารีอีกหนึ่งคน ที่เข้ามาประเทศไทยพร้อม ๆ กับคุณบุญยืน สุขเสน่ห์ ก่อนเดินทางขึ้นดอยไปรู้จักกับคุณเคเลบ ลูกชายคนเล็กของครอบครัว กับบทบาทการทำงานกับชาวปรัยและการเจริญรอยตามผู้เป็นพ่อ ในหมู่บ้านมณีพฤกษ์ ที่เขารักเสมือนบ้านหลังที่สอง
เราทุกคนต่างมีแสงสว่างในตัวเอง
ร่วมเดินทางไปกับความฝันของเด็กทั้ง 3 คน ซึ่งไม่ได้ฝันเพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ฝันของพวกเขายังเอื้อเฟื้อไปยังคนรอบข้างรวมถึงคนที่ไม่รู้จัก และพบกับครูนิด อรพินทุ์ กุศลรุ่งรัตน์ ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ทำให้เธอจากบ้านที่กรุงเทพฯ ไปสร้างศูนย์การเรียนแห่งใหม่ที่สบลาน โดยหวังว่าจะได้มีโอกาสเพิ่มทางเลือกให้แก่ชีวิตของเด็กบนที่สูง
นักสู้รุ่นเล็กในป่าใหญ่
เก่ง ชาติ และเก๊ะเซอ คือเด็กมัธยมปลาย 3 คน แห่งศูนย์การเรียนรู้โจ๊ะมาโลลือหล่า พวกเขาลงมาเรียนหนังสือในเมือง ซึ่งห่างจากหมู่บ้านไป 2 ชั่วโมง ครั้งนี้ถึงเวลาที่พวกเขาจะกลับไปเยี่ยมบ้าน ชุมชนสบลาน ต.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ชุมชนชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอ พวกเขาอาสาที่จะพาเราไปทำความรู้จักกับหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่พวกเขาเติบโตมา และสนุกไปกับการเดินป่าหลังบ้านเพื่อดูธรรมชาติ และการดูแลธรรมชาติของคนต้นน้ำ
นมัสเต ชาวไทยเชื้อสายเนปาล
“ตรีนาถเทวาลัย” (Trinath Devalaya) ศาสนสถานแห่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่เกิดจากแรงศรัทธาของพี่น้องชาวเนปาลที่ร่วมลงขันก่อสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1993 ถึงแม้ว่าวัดแห่งนี้จะมีพิธีกรรมไม่เข้มข้นเทียบเท่าแผ่นดินแม่ แต่ก็ได้รักษาศรัทธาของชาวเนปาลไม่ให้จางหาย และยังถ่ายทอดวัฒนธรรมต่าง ๆ แก่คนรุ่นใหม่ให้สืบทอดเรื่องราวของชาติพันธุ์สืบไป
อวาเล สกุลช่างปั้นดินแห่งหิมาลัย
อัสสชิตะ อวาเล (Assajita Awale) หรือ “ธันวา” ชาวเนปาลที่ย้ายถิ่นฐานมาทำกินอยู่ในประเทศไทย จะทำให้คนไทยรู้จัก “เนปาล” มากกว่ารู้ว่าเป็นที่ประสูติของพระพุทธเจ้า เขาจะเล่าเรื่องบ้านเกิดผ่านมุมมองของการเปรียบเทียบเนปาลกับความเป็นไทย และเปิดความรู้ใหม่ ๆ ของวิถีชีวิต เช่นเรื่องนามสกุลของชาวเนปาลที่บ่งบอกถึงการทำอาชีพ โดยนามสกุล “อวาเล” ก็คือตระกูลนักปั้นดิน ธันวาจึงอยากไปลองเปิดประสบการณ์การปั้นดินกับครอบครัวคนไทยที่เกาะเกร็ดอีกด้วย
พ่อใหญ่มาร์ตินแห่งบ้านคำปลาหลาย
นี่คือเรื่องราวของชาวอังกฤษผู้หลงใหลวิถีชาวอีสาน ใช้ชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่บ้านคำปลาหลาย ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และมุมมองทางความคิดในวันที่ "มาร์ติน วีลเลอร์" กำลังย่างเข้าสู่วัยเกษียณ และถูกเรียกขานจากชาวบ้านว่า “พ่อใหญ่” วันนี้ความพอเพียงมาถึงจุดที่เขาปล่อยวางมากขึ้น จึงมีบางคำตอบที่เราอาจไม่เคยได้ยินจากปากของมาร์ติน
สังคมยิวสมัยใหม่ นอกดินแดนพันธสัญญา
กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังจากประเทศอิสราเอลก่อตั้งมักเรียกตนเองว่า ชาวอิสราเอล มากกว่าที่จะเรียกตัวเองว่า ชาวยิว แต่ไม่ว่าพวกเขาจะเรียกตนเองว่าชาวยิวหรือชาวอิสราเอล พวกเขายังคงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมีจุดร่วมเดียวกันที่พร้อมจะสืบสานความเป็นลูกหลานของอับราฮัมต่อไป