ในเครื่องบินสมัยใหม่นั้น หนึ่งในระบบแสดงผลที่สำคัญที่สุดระบบแสดงผลข้อมูลเครื่องยนต์ ซึ่งผู้ผลิตเครื่องบินแต่ละรายจะใช้ชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ในเครื่องบิน Boeing ระบบดังกล่าวมีชื่อว่า EICAS (Engine-Indicating and Crew-Alerting System) ในขณะที่ระบบที่ทำหน้าที่เหมือนกันของ Airbus มีชื่อว่า ECAM (Electronic Centralised Aircraft Monitoring) เป็นต้น
หน้าที่หลักของทั้ง EICAS และ ECAM คือการแสดงผลข้อมูลเครื่องยนต์ ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่า EICAS และ ECAM แสดงผลข้อมูลอะไรบ้าง และมีความสำคัญอย่างไร
ในภาพนี้คือระบบ EICAS ของเครื่องบิน Boeing 777 จะเห็นได้ว่ามีข้อมูลแสดงผลในระบบ EICAS จำนวนมาก ไล่จากข้างบน และซ้ายไปขวา ดังนี้:
TAT (Total Air Temperature) หรือ อุณหภูมิอากาศภายนอกโดยไม่คำนึงถึงแรงลมที่เกิดขึ้นจากความเร็วของเครื่องบิน
HYD PRESS SYS L+C+R ซึ่งเป็นหนึ่งในคำเตือนบนระบบ EICAS บ่งบอกให้ลูกเรือตรวจสอบความดันของระบบไฮดรอลิก ซ้าย กลาง และขวา ของเครื่องบิน
EPR (Engine Pressure Ratio) หรือความแตกต่างของความดันระหว่าง Intake และ Exhaust ของเครื่องยนต์ มักไว้ใช้บ่งบอกกำลังขับของเครื่องยนต์ในขณะนั้น
N1 คือ อัตราความเร็วในการหมุนของใบพัดความเร็วต่ำภายในเครื่องยนต์ ทำหน้าที่ช่วยในการบ่งบอกกำลังขับของเครื่องยนต์ เช่นเดียวกับ EPR
EGT (Exhaust Gas Temperature) บ่งบอกอุณหภูมิของอากาศที่ถูกปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ หากสูงเกินไปมักจะบ่งบอกว่าภายในเครื่องยนต์เกิดไฟไหม้
N2 และ N3 คล้ายกับ N1 แต่เป็นความเร็วใบพัดคนละชุดภายในเครื่องยนต์ ใช้บ่งบอกสถานะการทำงานของเครื่องยนต์
FF (Fuel Flow) บ่งบอกอัตราการไหลของเชื้อเพลิงภายในเครื่องยนต์
OIL PRESS บ่งบอกความดันของเชื้อเพลิงภายในเครื่องยนต์
OIL TEMP บ่งบอกอุณหภูมิของเชื้อเพลิง
OIL QTY บ่งบอกปริมาณของเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์
VIB (Vibration) บ่งบอกการสั่นของเครื่องยนต์
นอกจากข้อมูลในส่วนของเครื่องยนต์แล้ว EICAS ยังบอกข้อมูลอื่น ๆ เช่น สถานะของล้อลงจอดของเครื่องบิน ในภาพนี้จะเห็นได้ว่าล้อลงจอดนั้นถูกกางอยู่ หรือข้อมูลอย่างปริมาณเชื้อเพลิงทั้งหมดบนเครื่องบิน (TOT FUEL)
ในระบบ ECAM ของ Airbus นั้น ข้อมูลที่แสดงส่วนใหญ่ใกล้เคียงกับระบบ EICAS เช่น EPR, EGT, N1, N2 และอื่น ๆ จะเห็นได้ว่านอกจากข้อมูลเครื่องยนต์แล้ว ระบบ ECAM ยังแสดงข้อมูลสถานะอื่น ๆ เช่น สถานะไฟคาดเข็มขัดนิรภัย สถานะปีกชะลอความเร็ว สถานะเบรก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ECAM ของเครื่องบินขนาดใหญ่ของ Airbus อย่าง รุ่น A350 และ Airbus A380 นั้นพิเศษกว่า ECAM ของเครื่องบิน Airbus อื่น ๆ ตรงที่ ECAM ของ A350 และ A380 นั้นมีระบบ Checklist ภายใน ECAM ทำให้นักบินสามารถทำตาม Checklist ในแต่ละสถานะการบินได้ตามจอ ECAM โดยที่ไม่ต้องใช้ Checklist ที่เป็นหนังสือ
ระบบ ECAM พร้อม Checklist ทำให้นักบินสามารถตั้งค่าระบบต่าง ๆ ของเครื่องบินได้โดยตรง และหากเกิดปัญหาใด ๆ ขึ้นกับเครื่องบิน ระบบของเครื่องบินก็สามารถตรวจจับความผิดปกติและแสดง Checklist ที่นักบินต้องทำได้ทันที
ในภาพนี้จะเห็นว่า ECAM เตือนนักบินว่าระบบเบรกนั้นมีความร้อนสูง ระบบนำทางด้วย Autopilot ระบบเบรก และระบบควบคุมเครื่องยนต์สำหรับ Soft Go-Around (GA SOFT) นั้นเกิดข้อบกพร่องขึ้น
เรียบเรียงโดย : โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech