ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์บนยานฉางเอ๋อพบ “อนุภาคประจุลบ” บนพื้นผิวของดวงจันทร์เป็นครั้งแรก


Logo Thai PBS
แชร์

อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์บนยานฉางเอ๋อพบ “อนุภาคประจุลบ” บนพื้นผิวของดวงจันทร์เป็นครั้งแรก

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1280

อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์บนยานฉางเอ๋อพบ “อนุภาคประจุลบ” บนพื้นผิวของดวงจันทร์เป็นครั้งแรก
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ของยุโรปที่เดินทางไปพร้อมกับยานฉางเอ๋อ 6 ได้ตรวจพบ “อนุภาคประจุลบ” บนพื้นผิวของดวงจันทร์ นับเป็นครั้งแรกของมนุษยชาติ ซึ่งจะช่วยคลายปมปริศนาวัฏจักรอนุภาคมีประจุบนดวงจันทร์

เรื่องน่าประหลาดของดินบนดวงจันทร์คือมีประจุ แตกต่างจากโลกที่ดินไม่มีประจุ เนื่องจากบนดวงจันทร์ไม่มีชั้นบรรยากาศและสนามแม่เหล็ก อนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์จึงสามารถพุ่งชนดินและพื้นผิวของดวงจันทร์ได้โดยตรง ทำให้ดินกลายสภาพจากสถานะที่เป็นกลางกลายเป็นสภาวะที่มีประจุ

เราตรวจพบอนุภาคที่มีประจุบวกที่เกิดขึ้นจากดวงจันทร์ได้ง่าย พวกมันลอยจากพื้นผิวขึ้นไปจนถึงระดับวงโคจรของดวงจันทร์ได้เลย ต่างจากอนุภาคประจุลบที่พวกมันมีอายุสั้นและพบได้เฉพาะบริเวณพื้นผิวของดวงจันทร์เท่านั้น ดังนั้นเพื่อที่จะตรวจวัดอนุภาคประจุลบที่เกิดขึ้นบนดวงจันทร์จึงจำเป็นต้องส่งยานอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์เท่านั้น

เครื่องมือ Negative Ions at the Lunar Surface (NILS) ใช้เพื่อการตรวจจับอนุภาคประจุลบบนพื้นผิวของดวงจันทร์โดยเฉพาะ เป็นอุปกรณ์จากทีมวิจัย Swedish National Space Agency จากสวีเดน ได้ถูกส่งไปพร้อมกับยานฉางเอ๋อ 6 ของจีนเพื่อไปลงจอดที่บริเวณขั้วใต้ทางฝั่งไกลของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นการร่วมมือในการสำรวจดวงจันทร์ระหว่างยุโรปกับจีนเป็นครั้งแรก และเป็นครั้งแรกด้วยเช่นกันที่อุปกรณ์จากเครือข่ายของยุโรปได้ไปลงจอดบนดวงจันทร์

ภาพถ่ายยานฉางเอ๋อ 6 บนพื้นผิวของดวงจันทร์ ถ่ายโดยหุ่นยนต์ขนาดเล็กที่ถูกดีดออกจากตัวยานลงจอดหลัก

ภายหลังจากการลงจอดของยานฉางเอ๋อ 6 ที่บริเวณ Aitken Basin เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา ภายหลังจากการลงจอดได้ประมาณ 4 ชั่วโมงทางวิศวกรจากทีม NILS ได้ขออนุญาตเปิดใช้งานอุปกรณ์ NILS ที่ถูกติดตั้งอยู่บนฉางเอ๋อ 6 เพื่อเริ่มต้นการตรวจวัดปริมาณของอนุภาคประจุลบบนพื้นผิวของดวงจันทร์

ภาพถ่ายการลงจอดของยานฉางเอ๋อ 6 บนพื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์

อุปกรณ์เริ่มต้นทำงานก่อนที่สักพักหนึ่งกำลังไฟฟ้าของอุปกรณ์จะตกลงเนื่องมาจากปัญหาความร้อนที่สูงขึ้นจากตำแหน่งที่ตัวยานฉางเอ๋อลงจอดอยู่ในซีกฟ้ากลางวันของดวงจันทร์ ซึ่งอุปกรณ์ต่าง ๆ บนยานต้องเปิด-ปิดสลับกันไปเนื่องจากปัญหาความร้อน แต่ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องพิสูจน์ศักยภาพการทำงานของอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ส่งขึ้นไปว่าสามารถทำงานที่อุณหภูมิสูงสุดได้ตามที่กำหนดไว้

การทำงานของอุปกรณ์สลับกันระหว่างเปิดและปิดซึ่งรวมระยะเวลาที่อุปกรณ์สามารถเก็บข้อมูลได้อยู่ที่ 3 ชั่วโมง ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้รับข้อมูลมากกว่าที่คาดคิดไว้แต่แรกถึงสามเท่า

ภาพถ่ายพื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์จากมุมมองเหนือพื้นผิวของยานฉางเอ๋อ 6

ยานฉางเอ๋อ 6 ของจีนเดินทางไปลงจอดบนฝั่งไกลของดวงจันทร์ในบริเวณขั้วใต้ ในหลุมแอ่งที่มีชื่อว่า “อะพอลโล” ในภารกิจฉางเอ๋อ 6 นี้ตัวยานมีภารกิจหลักคือการเก็บตัวอย่างดินบนพื้นผิวกลับมายังห้องทดลองบนโลก (Sample Return) ฉางเอ๋อ 6 เดินทางออกจากโลกตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2024

ภารกิจนี้เป็นภารกิจที่มีส่วนร่วมจากนานาชาติ เนื่องมาจากตัวอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ถูกติดตั้งบนยาน ได้รับความร่วมมือจาก CNES องค์การอวกาศฝรั่งเศส, Italian Space Agency หรือ ISA, และ Swedish National Space Agency จากสวีเดนร่วมด้วย สำหรับการนำส่งตัวอย่างหินกลับโลกในภารกิจ ฉางเอ๋อ 6 นั้น คาดว่าจะนำส่งกลับมาถึงโลกในวันที่ 25 มิถุนายน 2024


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : ESA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ฉางเอ๋อ-6ยานอวกาศฉางเอ๋อ-6ยานอวกาศสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-6สำรวจดวงจันทร์ดวงจันทร์ยานอวกาศอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด