ไทม์ไลน์ "ผู้นำจีน" นับตั้งแต่ปี 1949 เมื่อ "พรรคคอมมิวนิสต์จีน" เถลิงอำนาจ


ประวัติศาสตร์

23 ต.ค. 65

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
ไทม์ไลน์ "ผู้นำจีน" นับตั้งแต่ปี 1949 เมื่อ "พรรคคอมมิวนิสต์จีน" เถลิงอำนาจ

การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 เปิดฉากขึ้นนับตั้งแต่ 16 ต.ค. 65 และเสร็จสิ้นลงแล้วเมื่อ 22 ต.ค. 65 แน่นอนว่า ย่อมเป็นที่จับจ้องไม่เพียงแต่ระดับ "ผู้นำโลก" เท่านั้น โดยหนึ่งในประเด็นที่คนให้ความสนใจ คือ การสืบทอดอำนาจของ "สี จิ้นผิง" ในการดำรงตำแหน่ง "ผู้นำจีน สมัยที่ 3" หลัง 23 ต.ค. 65 "สี จิ้นผิง" ได้รับเลือกให้นั่งเก้าอี้ "เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน สมัยที่ 3"
 

#ThaiPBSInsight พาย้อนไปดูกันว่า ตั้งแต่ "พรรคคอมมิวนิสต์จีน" กุมอำนาจ ปี 1949 จนถึงปัจจุบัน มี "ผู้นำคนสำคัญ" เป็นใครบ้าง ?

 


 

ปี 1949-1976 : "เหมา เจ๋อตง" ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน

บุคคลอันเป็นที่เคารพและยกย่องทั้งในแง่ความเป็น "ผู้นำ" และ "อุดมการณ์" ซึ่งได้ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังตกอยู่ในวังวนสงครามกลางเมืองมากกว่า 20 ปี ซึ่งเขานั้นเป็นที่จดจำอย่างมากกับการเปิดตัวนโยบายก้าวกระโดดครั้งใหญ่ ที่เรียกว่า "Great Leap Forward" ในช่วงทศวรรษ 1950 รวมถึงการ "ปฏิวัติวัฒนธรรม" (Cultural Revolution) ในช่วงทศวรรษ 1960
 

ปี 1949-1976 : "โจว เอินไหล" นายกรัฐมนตรี

สมาชิกพรรคฯ และ "ผู้นำ" ที่คนไทยคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดี ซึ่งเขาถูกยกย่องว่าเป็น "นักเจรจา" ที่มีความเป็นเลิศในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และยังได้รับเครดิตในการจัดการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ "ริชาร์ด นิกสัน" และ "เหมา เจ๋อตง" ที่ปักกิ่ง เมื่อปี 1972
 

ปี 1976-1981 : "ฮว๋า กั๋วเฟิง" ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน

"ผู้สืบทอด" ที่ถูกเลือกโดย "เหมา เจ๋อตง" อันเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะ "ผู้นำ" ที่อ้าแขนรับนโยบาย "สองอะไรก็ตาม" (two whatevers) กล่าวได้คือ เขาคนนี้ยินดีที่จะปฏิบัติตามไม่ว่า "ประธานเหมา" จะตัดสินใจอย่างไรหรือให้คำแนะนำแบบไหน
 

ปี 1978-1989 : "เติ้ง เสี่ยวผิง" ผู้นำยุคปฏิรูป

อีกหนึ่ง "ผู้นำ" ที่คนไทยรู้จักมักคุ้นกับชื่อเสียงเรียงนามเป็นอย่างดี โดยหนึ่งในนโยบายที่ถูกพูดถึง คือ การริเริ่มและความก้าวหน้าของการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ขยายกว้างมากขึ้นของจีนตลอดช่วงทศวรรษ 1980

ซึ่งหากจะให้นึกถึงวาทะเด็ดของเขา คงหนีไม่พ้น "แมวจะสีขาวหรือสีดำไม่สำคัญ, แค่จับหนูได้ก็พอ"

นอกจากนั้นแล้ว เขายังเป็น "ผู้นำ" ที่มีอำนาจมากที่สุดในปี 1989 ถึงแม้ในห้วงเวลานั้น...กองทัพจะเปิดฉากนองเลือดกับผู้ประท้วงในจัตุรัสเทียนอันเหมินก็ตาม
 

ปี 1981-1987 : "หู เหยาปัง" ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ก่อนหน้านั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน)

ผู้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก "เติ้ง เสี่ยวผิง" ในฐานะ "นักปฏิบัตินิยม" ที่สามารถช่วยนำพาประเทศให้หลุดพ้นจาก "ลัทธิเหมา" ได้ แต่กระนั้น... เขาก็ถูกบีบบังคับให้ลาออกในปี 1987 เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังการประท้วงของนักศึกษา ก่อนที่จะเสียชีวิตในปี 1989 นั่นจึงทำให้มีผู้ประท้วงที่สนับสนุน "หู เหยาปัง" ออกมารวมตัวกันที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เพื่อเรียกร้องกู้คืนชื่อเสียงทางการเมืองให้กับเขา
 

ปี 1987-1989 : "จ้าว จื่อหยาง" เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน

"นักปฏิรูป" ที่เน้นการปฏิบัติอย่างแท้จริง และสนับสนุนให้มีการผ่อนปรนการควบคุมของรัฐบาล ไม่เพียงเท่านั้นยังสนับสนุนให้มีการโต้ตอบผู้ประท้วงในปี 1989 อย่างสมเหตุสมผล ก่อนจะถูกขับออกจากตำแหน่งหลังปฏิเสธสนับสนุนการปราบปรามอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 1989 และถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ภายในบ้านจนกระทั่งเสียชีวิต
 

ปี 1989-2002 : "เจียง เจ๋อหมิน" เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน

นอกจากบทบาทการนำทางจีนให้เข้าสู่บทบาทการเป็น "สมาชิก" ขององค์การการค้าโลก (WTO) แล้ว เขาคนนี้ยังเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การรับมอบ "ฮ่องกง" กลับคืนสู่จีน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับ "ปักกิ่ง" ในการรับเป็นเจ้าภาพ "โอลิมปิก เกมส์ 2008" อีกด้วย

โดย "เจียง" ได้นำแนวคิดของ "เติ้ง" มาสานต่อเพื่อ "เปิดเสรีทางเศรษฐกิจ" แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้สนับสนุนฝ่ายขวา
 

ปี 2002-2012 : "หู จิ่นเทา" เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ผู้คงไว้ซึ่งระบบการเมืองที่เด็ดเดี่ยวและไม่ประนีประนอม โดยประวัติศาสตร์อันน่าจดจำภายในช่วงระยะเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งนั้น หนึ่งเลยก็คือ การไล่แซง "ญี่ปุ่น" ขึ้นแท่นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก และเป็นประเทศที่ 3 ของโลก ที่สามารถส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ

รวมถึงการทำหน้าที่ "เจ้าภาพ" ในการจัดมหกรรมกีฬาครั้งยิ่งใหญ่ "โอลิมปิก เกมส์ 2008" ซึ่งนักกีฬาจีนก็สามารถคว้าเหรียญทองมาได้มากที่สุดอีกด้วย
 

ปี 2012 - ปัจจุบัน : "สี จิ้นผิง" เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน

หากเอ่ยถึงนโยบายสำคัญที่มีการประกาศให้ทราบโดยทั่วกันของ "สี จิ้นผิง" หลังเถลิงอำนาจ คงหนีไม่พ้น "การผลักดันการต่อต้านคอร์รัปชัน" รวมถึงการชูนโยบายเส้นทางการค้า "สายไหมยุคใหม่" ขณะเดียวกัน ก็มีการกำกับและกวดขันการควบคุมสื่อ รวมถึงการถูกวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหาว่ามีการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ เวลานี้ เขาถูกมองว่าเป็น "ผู้มีอิทธิพลสูงสุด" ที่มากด้วยอำนาจบารมีและสร้างอิทธิพลทางความคิดให้เติบโตในระดับโลก

ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ