"หัวใจของโลก” กำลังละลาย ...ไม่ใช่ประโยคเก๋ไก๋เปรียบเปรย แต่นี่คือข้อเท็จจริงที่โลกต้องเผชิญ และมันไม่ใช่เพียงการทำนายอนาคต แต่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นแล้วในขณะนี้
Arctic Drift: A Year in The Ice เป็นสารคดีที่พาเราออกเดินทางไปพร้อมโครงการสำรวจ MOSAiC (Multidisciplinary drifting Observatory for the Study of Arctic Climate) ซึ่งถือเป็นการสำรวจวิจัยสภาพอากาศขั้วโลกเหนือที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง และสิ่งที่หนังฝ่าฟันไปบันทึกมาให้เราได้เห็นก็ทั้งน่าตื่นตา น่าตระหนก และกระแทกความรู้สึกให้เราต้องยอมรับว่านี่
คือความจริงร้ายแรงอันเร่งด่วน องค์ประกอบทั้งหมดนี้สอดประสานเข้าด้วยกันและทำหน้าที่ของมันได้อย่างยอดเยี่ยมจนตัวสารคดีคว้ารางวัล Grierson 2022 British Documentary Award ในสาขา Best Science Documentary มาได้สำเร็จ

โครงการสำรวจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพบว่า ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา น้ำแข็งขั้วโลกเหนือหายไปถึงร้อยละ 70 ตัวเลขที่น่าตกใจนี้บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬารของระบบสภาพอากาศของโลก เมื่อมหาสมุทรขั้วโลกเหนือที่เคยแข็งตัวเสมอ-และทำหน้าที่ช่วยลดอุณหภูมิของโลกเรา-กำลังละลาย ย่อมหมายความว่ากลไกควบคุมความร้อนอันสำคัญของโลกกำลังเสื่อมสลายลงเสียแล้ว
การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ในพื้นที่ห่างไกล แต่ส่งผลโดยตรงต่อภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นทุกพื้นที่ เราจึงได้เห็นข่าวไม่เว้นแต่ละวันว่าเกิดภัยแล้งที่นั่น น้ำท่วมฉับพลันที่นี่ เกิดพายุรุนแรงหรือไฟป่าขนาดใหญ่ในหลายประเทศ ซึ่งสะท้อนชัดเจนว่าระบบสภาพอากาศของโลกตกอยู่ในภาวะไม่มั่นคงอีกต่อไป

นี่เองคือเหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์กว่า 500 คนจาก 20 ประเทศ 70 สถาบัน ต้องตัดสินใจออกเดินทางไปยังหนึ่งในพื้นที่ที่โหดร้ายที่สุดบนโลกเพื่อลงมือเก็บข้อมูลในอาร์กติกตลอดทั้งปีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โครงการสำรวจ MOSAiC ใช้เวลาเตรียมการนานถึง 10 ปี ด้วยงบประมาณ 150 ล้านดอลลาร์ เรือตัดน้ำแข็งขนาดยักษ์ของสถาบัน Alfred Wegener ประเทศเยอรมนี ถูกส่งเข้าไปในเขตอาร์กติกเพื่อปล่อยให้ลอยไปตามกระแสน้ำแข็ง โดยเหล่านักวิทยาศาสตร์ไม่เพียงทำการศึกษาบนเรือเท่านั้น แต่ยังสร้างสถานีวิจัยบนแผ่นน้ำแข็งที่ห่างไกลมากจากเรือเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำที่สุดโดยไม่มีอิทธิพลจากเรือมารบกวน
เท่านั้นไม่พอ พวกเขายังต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่ต่ำถึง -45 องศา ความมืดที่ยาวนานเกือบครึ่งปี แถมด้วยอันตรายจากหมีขั้วโลก ความเสี่ยงจากการเดินบนแผ่นน้ำแข็งที่บางเพียงไม่กี่เซนติเมตรเหนือมหาสมุทรลึก 4,000 เมตร และที่หนักหนาที่สุดก็คือ การทำงานทั้งหมดนี้เป็นไปในสภาวะสุดแสนโดดเดี่ยว พวกเขามีโอกาสได้ติดต่อกับโลกภายนอกแค่ด้วยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความละเอียดต่ำที่ไม่เสถียร แถมกว่าเรือเสบียงจะมาเยือนก็ต้องรอคราวละไม่ต่ำกว่า 3 เดือน!


การบันทึกภาพในสภาพแวดล้อมเช่นนี้เรียกได้ว่าเป็นความท้าทายระดับสุดยอด ทีมงานต้องเตรียมอุปกรณ์พิเศษเพื่อรับมือกับสภาพอากาศสุดโหด ไม่ว่าจะเป็นกล้อง 4K Arri Alexa, โดรน, กล้องใต้น้ำและยานสำรวจใต้น้ำควบคุมระยะไกล, GoPros และกล้องถ่ายแบบไทม์แลปส์ แถมยังต้องเตรียมทุกชิ้นส่วนอย่างน้อย 2 ชุดอีกต่างหาก เพราะการจะไปหาร้านขายอุปกรณ์หรือร้านซ่อมแซมแถวนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้
แน่นอนว่าเมื่อลงทุนลงแรงกันถึงเพียงนี้ สิ่งที่ทีมงานได้กลับมาฝากผู้ชมอย่างเราจึงคืองานภาพสุดงดงามของสภาพแวดล้อมที่หาดูได้ยากมากถึงยากที่สุด นอกจากนั้น พวกเขายังให้ความสำคัญกับการบันทึกเสียงและการออกแบบเสียงเป็นพิเศษด้วย ขณะที่ดนตรีประกอบก็ประณีตบรรจงด้วยการผสมผสานเครื่องดนตรีคลาสสิก เสียงร้อง และดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เข้าด้วยกัน ภายใต้การประพันธ์ของ บิกกี ฮิลมาร์ส คอมโพสเซอร์ชาวไอซ์แลนด์ที่ช่วยสื่อทั้งความรู้สึกหนาวเย็น ทรงพลัง กว้างใหญ่ และเปราะบางของอาร์กติกได้เป็นอย่างดี
ประเด็นสำคัญที่สุดที่เราเรียนรู้จาก Arctic Drift: A Year in the Ice ก็คือ แม้คำว่าอาร์กติกจะฟังดูห่างไกลมาก แต่แท้จริงแล้วมนุษย์ทุกคนล้วนเชื่อมโยงและได้รับผลกระทบโดยตรงจากมัน การสำรวจทั้งหมดที่เราได้เห็นในหนังเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราตระหนักว่า แม้จะอยู่ร่วมกับโลกมาหลายพันล้านปี แต่เรายังคงรู้จักมันน้อยเกินไป

▶ ติดตามสารคดี Arctic Drift: A Year in The Ice ล่องอาร์กติก หนึ่งปีในดินแดนเยือกแข็ง ทีมนักวิทยาศาสตร์ผู้กล้าหาญจำนวน 300 คน ออกสำรวจวิจัยในสภาวะสุดขั้วของอาร์กติกเป็นเวลา 1 ปีเต็ม ด้วยเรือตัดน้ำแข็งโพลาร์ชเติร์น ภารกิจครั้งนี้ถือเป็นการสำรวจบุกเบิกครั้งสำคัญ เพื่อช่วยให้เรารับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รับชมได้ทาง www.VIPA.me หรือ VIPA Application