เหตุทะเลาะวิวาทบนถนนทั่วโลกได้สร้างความสูญเสียต่อชีวิตมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน และ Chris Pelkey (คริส เพลคีย์) ก็เป็นเหยื่อคนหนึ่งจากเหตุเหล่านี้ แต่ Pelkey ก็ได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้งด้วย AI เพื่อมาพูดกับผู้ที่เหนี่ยวไกปืนปลิดชีวิตเขา
เพลคีย์เป็นทหารผ่านศึกที่อาศัยอยู่ในเมืองแชนด์เลอร์ รัฐแอริโซนา (Chandler, Arizona) ในช่วงบ่ายอันสดใสของวันที่ 19 พ.ย. 64 หลังจากดูการแข่งขันซอฟต์บอลที่โบสถ์ละแวกบ้านจบ Pelkey ก็ตั้งใจขับรถไปแช่น้ำร้อนที่ฟิตเนส แต่ขับไปได้เพียง 2 กม. นิด ๆ เขาก็ถูกรถอีกคันขับปาดหน้าและบีบแตรใส่ เกิดความไม่พอใจกัน จังหวะที่ติดไฟแดง Pelkey ลงมาจากรถ อีกฝ่ายก็ท้าทายว่า “นายมีปัญหาเหรอ” และก่อนที่เพลคีย์จะกลับไปที่รถ เขาก็ถูกยิงทะลุหัวใจและเสียชีวิต ณ ที่เกิดเหตุ

ความโศกเศร้าเสียใจย่อมเกิดขึ้นตามมา และกระบวนการไต่สวนในชั้นศาลที่เล่นฉากความสูญเสียซ้ำ ๆ ก็อาจกระทบจิตใจของครอบครัวผู้เสียชีวิตได้ แต่ Stacey Wales (สเตซี เวลส์) พี่สาวของเพลคีย์ ก็เกิดความคิดที่จะพาน้องชายของเธอมากล่าวคำให้การในศาลผ่าน AI เนื่องจากสามีและเพื่อนของเธอทำงานด้านนี้มาหลายปีและมีประสบการณ์ “ใช้ AI ฟื้นคืนชีพคนตาย” มาแล้ว “มีอยู่คืนหนึ่ง ฉันหันไปถามสามีว่า ‘ทิม คุณอยากจะช่วยฉันสร้างคริสขึ้นมา เพื่อให้เขาได้กล่าวคำให้การด้วยตัวเขาเองในสัปดาห์หน้าได้ไหม’ แล้วเขาก็บอกว่า ‘สเตซี นี่คุณถามอะไรกัน เขาเป็นเพื่อนรักของผมนะ’” เวลส์กล่าว


เวลส์และครอบครัวจึงสร้างเพลคีย์เวอร์ชัน AI ขึ้นมา โดยผ่านการตัดต่อทั้งหมด 3 ครั้ง และพวกเขาก็ได้รับอนุญาตให้นำเพลคีย์เวอร์ชัน AI ขึ้นศาลได้เนื่องจากเขาไม่ใช่หลักฐาน นับเป็นครั้งแรก ๆ ที่มีการใช้ AI ในลักษณะนี้ในศาลสหรัฐฯ เวลส์กล่าวเสริมว่า “จุดประสงค์ก็เพื่อแสดงความเป็นมนุษย์ของคริสในศาล และให้ศาลได้เห็นว่า เขามีอิทธิพลบนโลกใบนี้และเคยมีตัวตนอยู่จริง”

เมื่อถึงวันปรากฏตัว เพลคีย์เวอร์ชัน AI ก็ออกตัวว่าเขาเป็นมนุษย์ดิจิทัลที่สร้างขึ้นมาใหม่จากเสียงและรูปภาพตอนมีชีวิตอยู่ และคำให้การท่อนที่สำคัญที่สุดท่อนหนึ่งในชั้นศาล คือ:
ถึง Gabriel Horcasitas (เกเบรียล ฮอร์กาซิตัส) คนที่ยิงผม น่าเสียดายนะครับที่วันนั้น เราได้พบกันในสถานการณ์แบบนั้น ในชาติภพอื่น พวกเราคงจะเป็นเพื่อนกัน ผมเชื่อในการให้อภัยและพระเจ้าผู้ทรงให้อภัย ผมเชื่ออย่างนั้นมาตลอด และตอนนี้ก็ยังเชื่ออยู่ครับ
ระหว่างการตัดสินคดี Todd Lang (ทอดด์ แลงก์) ผู้พิพากษาประจำศาล Maricopa County Superior Court ก็เห็นถึงประโยชน์ของการใช้ AI ในคดีนี้ และกล่าวว่า “ผมรู้สึกได้ถึงความจริงใจ และการให้อภัยของคุณเพลคีย์ต่อคุณฮอร์กาซิตาสนั้นสะท้อนให้เห็นถึงตัวตนของเขาที่ผมได้ฟังในวันนี้” ส่วนทางฝั่งจำเลยเองก็ขอบคุณเพลคีย์ที่แสดงถึงความเมตตาในศาล สุดท้ายแล้ว ฮอร์กาซิตัส จำเลย ก็ถูกศาลตัดสินจำคุก 10 ปีครึ่งในข้อหาฆ่าคนฆ่าโดยไม่เจตนา เมื่อต้นเดือน พ.ค. 68
อีกด้านหนึ่ง ก็เกิดความกังวลว่า ในอนาคตอาจมีการใช้ AI ในทางที่ผิดในชั้นศาลได้ “ครอบครัวของเหยื่อพยายามแสดงความเมตตาต่อจำเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้และแสดงถึงความเห็นใจของพวกเขา แต่ผมคิดว่าการใช้ AI แบบนี้ก็เปิดทางให้การใช้ AI อย่างมีจริยธรรมน้อยลงในอนาคตด้วย” Harry Surden (แฮร์รี เซอร์เดน) อาจารย์กฎหมายประจำ University of Colorado ให้ความเห็นไว้ เซอร์เดนยังกล่าวอีกว่า ความรู้เกี่ยวกับ AI ในระดับสาธารณะยังคงมีจำกัด และปัญญาประดิษฐ์นั้นไม่อาจสะท้อนถึงสิ่งที่เหยื่อคงจะพูดได้เสมอไป

ส่วนเวลส์ พี่สาวของเหยื่อนั้น ก็ตระหนักถึงความเสี่ยงของ AI เช่นกัน “AI เป็นแค่เครื่องมืออย่างหนึ่งค่ะ แน่นอนว่า AI อาจถูกใช้ในทางที่ชั่วร้ายหรือตกอยู่ในมือของคนไม่ดีได้ แต่ถ้าคุณใช้มันด้วยจรรยาบรรณและจริยธรรม ก็สามารถใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในทางที่ดีได้ และนำพาผู้คนให้มาเจอกันและส่งต่อความรักแก่กัน” ดังนั้น ยังคงต้องถกเถียงถึงประโยชน์และโทษของ AI ในแง่จริยธรรมกับกฎหมายกันต่อไป
อย่างไรก็ดี เพลคีย์เวอร์ชัน AI อาจเป็นข้อพิสูจน์ข้อหนึ่งว่า ปัญญาประดิษฐ์ก็ช่วยส่งต่อความรักและเยียวยาความเจ็บปวดทางใจได้ แม้ตัวจะจากไปแล้วก็ตาม
เอาละ เดี๋ยวผมจะไปตกปลาแล้ว รักพวกคุณทุกคนนะครับ ไว้เจอกันอีกด้าน

เข้าใจ ‘AI’ ในหลากหลายแง่มุมจากเนื้อหาในเครือ Thai PBS
- คน งาน AI | Big Story เรื่องใหญ่ Thai PBS
- นายจ้างไทย ต้องการคนเอไอ แบบไหน | คิดยกกำลัง 2
- ทุจริตทางวิชาการ? ใช้ AI เขียนแทนผู้เรียน กับจริยธรรมการศึกษาในมหาวิทยาลัย | Thai PBS Sci & Tech
ภาพและวิดีโอของเพลคีย์: Stacey Wales (via Reuters)
บทสัมภาษณ์จาก: Liliana Salgado, Andrew Goudsward/Reuters
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech: www.thaipbs.or.th/SciandTech