ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

การปรับเปลี่ยน "ยีน" ฟื้นฟูการได้ยิน ช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาคนหูหนวก


แชร์

การปรับเปลี่ยน "ยีน" ฟื้นฟูการได้ยิน ช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาคนหูหนวก

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1426

การปรับเปลี่ยน "ยีน" ฟื้นฟูการได้ยิน ช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาคนหูหนวก

นักวิจัยจากสถาบันวิจัยด้านการได้ยินของ Michigan Medicine พบว่าการปรับเปลี่ยนของโปรตีนชนิดหนึ่งเพื่อเพิ่มจำนวนไซแนปส์จะทำให้การประมวลผลการได้ยินดีขึ้น

เว็บไซต์ Michigan Medicine  (The University of Michigan Medicine) เปิดเผยบันทึกของนักวิจัยที่ทดสอบการปรับเปลี่ยนยีนเพื่อฟื้นฟูการได้ยินได้รับผลตอบรับดีขึ้นในหนู ซึ่งสนับสนุนสมมติฐานเกี่ยวกับสาเหตุของการสูญเสียการได้ยินในมนุษย์ด้วย โดยก่อนหน้านี้นักวิจัยเคยใช้วิธีการที่คล้ายคลึงกัน คือ การเพิ่มปริมาณของนิวโรโทรฟิน-3 (NTF3) ซึ่งเป็นแฟกเตอร์บำรุงประสาทในหูชั้นใน เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวของการตอบสนองต่อการได้ยินในหนูที่ได้รับบาดเจ็บทางเสียง และเพื่อปรับปรุงการได้ยินในหนูวัยผู้ใหญ่

นักวิจัยได้ปรับเปลี่ยนปริมาณของนิวโรโทรฟิน-3 ในหนูเพื่อสร้างกลุ่มเซลล์สองกลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งมีไซแนปส์มากขึ้นและอีกกลุ่มหนึ่งมีไซแนปส์น้อยลง (ไซแนปส์ หรือ จุดประสานประสาท มีหน้าที่ในการสื่อสารและถ่ายทอดข้อมูลในการทำงานของระบบประสาท) ซึ่งการทดสอบครั้งนี้หนูทดลองจะถูกวางไว้ในห้องที่มีเสียงดังเบื้องหลัง จากนั้นจะมีเสียงดังที่ทำให้หนูตกใจ หรืออาจมีช่วงที่เสียงเงียบ ๆ ส่งเสียงแบบสั้น ๆ เมื่อหนูตรวจพบช่องว่างดังกล่าว จะทำให้การตอบสนองต่อการตกใจลดลง จากนั้นนักวิจัยจะพิจารณาว่าช่องว่างดังกล่าวต้องใช้เวลานานเท่าไรจึงจะตรวจพบได้

หนูที่มีไซแนปส์น้อยกว่าจะต้องการช่องว่างไร้เสียงที่ยาวนานกว่ามาก ผลลัพธ์ดังกล่าวสนับสนุนสมมติฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความหนาแน่นของไซแนปส์และการสูญเสียการได้ยินที่ซ่อนอยู่ในมนุษย์ โดยการสูญเสียการได้ยินที่ซ่อนอยู่หมายถึงความยากลำบากในการได้ยินที่ไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยการทดสอบมาตรฐาน ซึ่งผู้ที่สูญเสียการได้ยินโดยไม่ทราบสาเหตุอาจประสบปัญหาในการเข้าใจคำพูดหรือแยกแยะเสียงเมื่อมีเสียงรบกวนในพื้นหลัง และก่อนหน้านี้พบว่าผลการทดสอบ Gap-Prepulse Inhibition มีความสัมพันธ์กับการประมวลผลการได้ยินในมนุษย์ด้วย

กลับกันในหนูที่มีการเพิ่มจำนวนไซแนปส์ สมองทำการประมวลข้อมูลการได้ยินเพิ่มขึ้นได้ และหนูทดลองกลุ่มนี้มีผลการทดสอบพฤติกรรมที่ดีกว่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโมเลกุลนี้มีศักยภาพในการปรับปรุงการได้ยินของมนุษย์ในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน โดยผลลัพธ์ใหม่บ่งชี้ว่าไซแนปส์ที่สร้างใหม่หรือการเพิ่มจำนวนจะปรับปรุงการประมวลผลการได้ยินของหนูทดลอง

จากผลการทดลองนักวิจัยเห็นว่าการค้นพบดังกล่าวอาจนำไปสู่การรักษาโรคการได้ยินบางประเภทและอาการอื่น ๆ ได้ด้วย เนื่องจากโรคระบบประสาทเสื่อมบางชนิดเริ่มต้นจากการสูญเสียไซแนปส์ในสมอง ดังนั้น บทเรียนจากการศึกษาในหูชั้นในอาจช่วยในการค้นพบวิธีการรักษาใหม่ ๆ สำหรับโรคอื่น ๆ เพิ่มเติมได้

ที่มาข้อมูล: newatlas, michiganmedicine
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBS Sci & Tech Thai PBS Sci And Tech Scienceคนหูหนวก
Thai PBS Sci & Tech

ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด