ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“การแข่งขันทางอวกาศ” สู่โอกาส “ไทย” เรียนรู้จากจีน


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

จิราภพ ทวีสูงส่ง

แชร์

“การแข่งขันทางอวกาศ” สู่โอกาส “ไทย” เรียนรู้จากจีน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1451

“การแข่งขันทางอวกาศ” สู่โอกาส “ไทย” เรียนรู้จากจีน

“อวกาศ” ดินแดนเวิ้งว้างอันไกลโพ้นที่กำลังกลายเป็นสมรภูมิที่หลายประเทศแข่งขันเพื่อช่วงชิงความเป็นมหาอำนาจนอกโลก หรือที่เรียกว่า “การแข่งขันทางอวกาศ” (Space Race) สะท้อนได้จากการเร่งพัฒนาโครงการด้านอวกาศมากมายของมหาอำนาจโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน และอินเดีย

ที่น่าจับตามองมากที่สุด ณ เวลานี้ คงหนีไม่พ้น “จีน” ที่แม้ว่าจะเป็นน้องใหม่ในวงการอวกาศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีการบินและอวกาศของ “จีน” มาแรง โดยเฉพาะช่วง 10 ปีมานี้ ถือเป็น “ทศวรรษแห่งเทคโนโลยีการบินและอวกาศของจีน” ที่วงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างยอมรับและจับตามอง

จีนโชว์ความสำเร็จในห้วงอวกาศสู่สายตาชาวโลกอย่างต่อเนื่องช่วง 10 ปีมานี้ จีนปล่อยจรวดขึ้นสู่ห้วงอวกาศมากกว่า 200 ลำ ส่งดาวเทียมจำนวนมากขึ้นสู่วงโคจรทั้งดาวเทียมสื่อสาร ดาวเทียมสำรวจโลก และดาวเทียมสำรวจระยะไกล สร้าง “สถานีอวกาศเทียนกง” และส่งนักบินอวกาศไปปฏิบัติภารกิจนอกโลกเป็นชาติที่ 3 ของโลก สร้างประวัติศาสตร์ส่งยานลงจอดดาวอังคารได้สำเร็จเป็นชาติที่ 2 ของโลก

ล่าสุด ภารกิจ “พิชิตจันทร์” ของจีนในการส่งยานสำรวจฉางเอ๋อ-6 (Chang’e 6/嫦娥六号) ไปเก็บตัวอย่างวัตถุ “ด้านไกลของดวงจันทร์” (Far Side) น้ำหนัก 1.935 กิโลกรัมกลับมายังโลกได้สำเร็จเป็นชาติแรกของโลกเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ซึ่งนับเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ

อันที่จริง ประเทศจีนโดยองค์การอวกาศแห่งชาติจีน หรือ CNSA (China National Space Administration/国家航天局) ประสบความสำเร็จตั้งแต่ปี 2563 โดยยานฉางเอ๋อ-5 (Chang’e 5/嫦娥五号) ได้เก็บตัวอย่างวัตถุหนัก 1.731 กิโลกรัม จากพื้นที่ที่เรียกว่า “มหาสมุทรแห่งพายุ” (Oceanus Procellarum) ซึ่งอยู่บนด้านใกล้ของดวงจันทร์และเดินทางกลับถึงโลกเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563

องค์การอวกาศแห่งชาติจีน โดยศูนย์สำรวจดวงจันทร์และวิศวกรรมอวกาศ (Lunar Exploration and Space Engineering Center/探月与航天工程中心) ได้ส่งมอบ “ตัวอย่างวัตถุ” ที่นำกลับมาจากดวงจันทร์ไปไว้ที่ห้องปฏิบัติการตัวอย่างวัตถุจากดวงจันทร์ (月球样品实验室) ในความดูแลของหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติจีนซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดสภาบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (National Astronomical Observatories, Chinese Academy of Sciences/中国科学院国家天文台) เป็นหลัก โดยนักวิทยาศาสตร์ในจีนจะได้รับโอกาสเป็นกลุ่มแรกที่ได้วิเคราะห์ตัวอย่างวัตถุจากดวงจันทร์

พระจันทร์เต็มดวง

โดยภายในห้องปฏิบัติการตัวอย่างวัตถุจากดวงจันทร์แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นห้องเปิดผนึกแคปซูลที่เก็บตัวอย่างวัตถุจากดวงจันทร์ โดยนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์จะทำการเปิดผนึกตัวอย่างล้ำค่าที่เก็บกลับมาจากดวงจันทร์ผ่านถุงมือยางภายในตู้ปฏิบัติการเปิดผนึกมีสภาวะพิเศษที่มีก๊าซไนโตรเจน และมีความดันสูงกว่าด้านนอกเล็กน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้อากาศภายนอกเข้าไปในตู้ปฏิบัติการ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนของตัวอย่างในตู้ปฏิบัติการ

ส่วนที่สองเป็นห้องคัดแยกตัวอย่าง เจ้าหน้าที่จำแนกและจัดเก็บตัวอย่างที่มีอยู่โดยพิจารณาจาก “ตัวอย่างได้สัมผัสกับอากาศหรือไม่” โดยตัวอย่างที่สัมผัสกับอากาศแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นตัวอย่างเศษหินบางส่วนที่คัดออกมาจากตัวอย่างดินบนดวงจันทร์ เพื่อชั่งน้ำหนักและถ่ายภาพ อนุภาคเศษหินเหล่านี้จึงถูกสัมผัสกับอากาศ (มีหมายเลขกำกับ และแยกเก็บต่างหาก) อีกส่วนหนึ่งเป็นตัวอย่างที่ใช้แถลงข่าว ขณะที่ตัวอย่างที่ไม่ได้สัมผัสกับอากาศถูกเก็บไว้ในตู้ปฏิบัติการไนโตรเจน และส่วนที่สามเป็นห้องปฏิบัติการที่เตรียมไว้สำหรับตัวอย่างวัตถุดวงจันทร์ที่กลับมาจากยานสำรวจฉางเอ๋อ 6

นับตั้งแต่ได้เริ่มแจกจ่าย “ตัวอย่างวัตถุชุดแรก” จากยานสำรวจฉางเอ๋อ 5 ไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 จนถึงปัจจุบันเป็นจำนวน 7 ชุดแล้ว รวมน้ำหนัก 85.48 กรัม โดยองค์กร/สถาบันวิจัยที่มีความประสงค์จะขอยืม “ตัวอย่างวัตถุ” จากดวงจันทร์จะต้องยื่นข้อเสนอโครงการวิจัยตามกรอบเวลาที่กำหนด เมื่อโครงการผ่านการประเมินจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านตัวอย่างวัตถุดวงจันทร์แล้ว ศูนย์สำรวจดวงจันทร์และวิศวกรรมอวกาศจะดำเนินการตรวจสอบและยื่นขออนุมัติไปยังองค์การอวกาศแห่งชาติจีน

สำหรับตัวอย่างชุดที่ 7 มีคำขอ 32 ชุดจาก 13 สถาบันวิจัยผ่านการอนุมัติ แจกจ่ายตัวอย่างรวม 8,293.5 มิลลิกรัม และเป็นครั้งแรกที่เปิดให้นักวิจัยทั่วโลกสามารถยื่นข้อเสนอโครงการวิจัยได้ด้วย (ตัวอย่าง 6 ชุดก่อนหน้านี้ ให้เฉพาะองค์กร/สถาบันวิจัยในจีนเท่านั้น) โดยทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีกุ้ยหลิน หรือ Guilin University of Technology (桂林理工大学) ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับอนุมัติ “ตัวอย่างวัตถุดวงจันทร์” ชุดที่ 7 นี้ด้วย

โดยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ดร.เซี่ย จื้อเผิง (Xia Zhipeng/夏志鹏) อาจารย์ประจำศูนย์วิจัยอุกกาบาตและวัตถุดาวเคราะห์ (Institute of Meteorites and Planetary Materials Research/陨石与行星物质研究中心) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีกุ้ยหลิน ได้เดินทางไปที่หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติจีนในสังกัดสภาบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน เพื่อรับตัวอย่างวัตถุดวงจันทร์ 2 ชิ้น (Polished Sections) น้ำหนักรวม 31.2 มิลลิกรัม เพื่อนำไปวิจัยหินแพลจิโอเคลส (Plagioclase) ซึ่งเป็นแร่ประกอบหินสำคัญของดวงจันทร์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีกุ้ยหลิน เดิมเป็นโรงเรียนธรณีวิทยากุ้ยหลิน มีความเชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา โดยเฉพาะอุกกาบาต และเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา ภายในพิพิธภัณฑ์มีอุกกาบาตดวงจันทร์ 10 กว่าก้อน และเก็บสะสมตัวอย่างหินประเภทต่าง ๆ รวมถึงหินอุกกาบาตที่ถูกค้นพบมากกว่าร้อยละ 80 จากทั่วโลก และเป็นองค์กรเพียงแห่งเดียวของจีนที่ไปดำเนินการวิจัยแบ่งประเภทหินอุกกาบาตที่ขั้วโลกใต้

Astronaut Buzz Aldrin set up several scientific experiments while on the surface of the Moon during the historic Apollo 11 mission. You can see the lunar module, “Eagle,” in the background. ภาพจาก NASA

มีการคาดกาณ์ว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า ตลาดอุตสาหกรรมอวกาศทั้งโลกจะมีมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คำว่า “เทคโนโลยีอวกาศ” ที่ฟังดูเหมือนไกลตัวแต่แท้จริงแล้วอวกาศเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด อาทิ การสื่อสารและโทรคมนาคม การตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ การค้นหาและแสดงพิกัด สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์เพียงส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีอวกาศที่อยู่รอบตัวเรา

ในบริบทที่ไทย-จีนได้ลงนามความร่วมมือด้านการสำรวจอวกาศและสถานีวิจัยดวงจันทร์เมื่อเดือนเมษายน 2567 และจะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมและคณะทำงานร่วมในด้านการสำรวจอวกาศการประยุกต์ใช้อวกาศ การพัฒนากำลังคนด้านอวกาศ และสาขาอื่น ๆ เพื่อวางแผนและดำเนินโครงการร่วมด้านอวกาศ โครงการแลกเปลี่ยนและการฝึกอบรมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการร่วมจัดการประชุมทางวิชาการและการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์และการเสริมสร้างความร่วมมือในรูปแบบอื่น ๆ เป็นโอกาสอันดีที่ “ไทย” จะได้เรียนรู้เทคโนโลยีอวกาศจากจีน

ทั้งนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเป็นอีกหนึ่งสาขาที่ควรได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในรูปแบบการบูรณาการความร่วมมือ สถาบันการศึกษาไทยสามารถแสวงหาความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยในสาขาที่สถาบันการศึกษาจีนมีความเชี่ยวชาญอย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีกุ้ยหลินเพื่อบ่มเพาะผู้เชี่ยวชาญ ต่อยอดองค์ความรู้และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศให้ได้ผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมเพราะ ผู้ชนะคือประเทศที่ทันขบวนเทคโนโลยี


แหล่งข้อมูลอ้างอิง : นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

การแข่งขันทางอวกาศSpace RaceอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
จิราภพ ทวีสูงส่ง

ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

"เซบา บาสตี้" เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส คนทำงานด้านการเขียน : Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphobT@thaipbs.or.th)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด