Human Immunodeficiency Virus หรือที่รู้จักกันในชื่อไวรัส HIV เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Acquired Immunodeficiency Syndrome) หรือที่รู้จักกันในชื่อเอดส์ (AIDS) ในปัจจุบัน อ้างอิงจากข้อมูลปี 2023 ของโครงการร่วมของสหประชาชาติว่าด้วยเอชไอวี/เอดส์ (UNAIDS) ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ HIV ราว 500,000 - 660,000 คน ซึ่งลดลงอย่างต่อในหลายปีที่ผ่านมา
การติดเชื้อ HIV นั้นมีลักษณะเป็นการติดเชื้อเรื้อรังโดยที่ไม่สามารถหายขาดได้ และจะค่อย ๆ สร้างความเสียหายกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วยการทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวสูญเสียระบบภูมิคุ้มกันในที่สุด นำไปสู่ระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ HIV ซึ่งเรียกว่า AIDS
เชื้อ HIV เป็นเรโทรไวรัส (Retrovirus) ซึ่งเป็นกลุ่มของไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเป็นโมเลกุลอาร์เอ็นเอ (RNA) ไม่ใช่ดีเอ็นเอ (DNA) ของสิ่งมีชีวิตทั่วไป เมื่อเชื้อเข้าสู่เซลล์เจ้าบ้าน (Host) แล้วมันจะเปลี่ยนอาร์เอ็นเอให้กลายเป็นดีเอ็นเอ จากนั้นจึงแทรกดีเอ็นเอของมันเข้าไปในดีเอ็นเอของเจ้าบ้าน เพื่อบังคับ (Hijack) ให้เซลล์ดังกล่าวผลิตชิ้นส่วนของตัวไวรัสในปริมาณมาก ในที่สุดเซลล์เจ้าบ้านจะตายและปลดปล่อยไวรัส HIV ออกมาเพื่อไปแพร่เชื้อให้เซลล์อื่น ๆ ต่อได้
เป้าหมายของเซลล์ที่เชื้อ HIV หลักจะเข้าโจมตีคือเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า Helper T Cell หรือเรียกได้อีกอย่างว่า CD4+ T Cell ซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับระบบภูมิคุ้มกับแบบจำเพาะ (Adaptive Immune System) นับเป็นส่วนที่แข็งแกร่งที่สุดของระบบภูมิคุ้มกัน และใช้ในการป้องกันการติดเชื้อทุกชนิด เมื่อได้รับเชื้อ HIV เข้ามา ผู้ป่วยมักจะเกิดอาการติดเชื้อ HIV เฉียบพลัน ซึ่งบ่งชี้โดยปริมาณของเชื้อไวรัส HIV ในเลือดที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามมาด้วยการตอบสนองจากระบบภูมิคุ้มกันด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มากขึ้น แต่ปริมาณ Helper T Cell กลับลดลงอย่างฉับพลัน
ระหว่างที่ติดเชื้อระยะฉับพลัน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งแข็งแรงพอมักจะสามารถควบคุมการติดเชื้อได้ในที่สุด แต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อ HIV ได้ทั้งหมด การที่ HIV สามารถแทรกพันธุกรรมของตนเองเข้าไปที่เจ้าบ้านได้ จะทำให้มันหลบหลีกจากระบบภูมิคุ้มกัน เนื่องจากเซลล์ไม่สามารถตรวจสอบตนเองได้ว่ารหัสพันธุกรรมของตนถูกดัดแปลงหรือไม่ รหัสพันธุกรรมของ HIV จึงซ่อนอยู่ได้ในเซลล์ได้เป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าบริเวณที่รหัสพันธุกรรม HIV ถูกแทรกเข้าไปอยู่ เป็นรหัสพันธุกรรมที่ไม่ค่อยมีการใช้งาน (Downregulation) เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันมักจะตรวจสอบรหัสพันธุกรรมที่ถูกใช้งานอยู่ (Upregulation) ความสามารถนี้ทำให้เซลล์ที่ติดเชื้อบางส่วนไม่ถูกตรวจจับโดยระบบภูมิคุ้มกัน และบางส่วนยังคอยผลิตไวรัสใหม่ออกมาเพื่อแพร่เชื้ออยู่
ในระยะเวลาหลายปีของการติดเชื้อ ร่างกายผู้ที่ได้รับเชื้อ HIV จะมีเซลล์บางส่วนที่ภายในมีเชื้อแต่ยังไม่แพร่เชื้อไปสู่เซลล์อื่น ๆ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บไวรัส (Reservoir) และสามารถกลับมาแพร่เชื้อในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังมีเซลล์ติดเชื้อบางส่วนผลิตไวรัสอนุภาคใหม่ออกมาอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณของ Helper T Cell ลดลงเรื่อย ๆ จนท้ายที่สุด แทบจะไม่เหลือ Helper T Cell อยู่เลยในร่างกาย ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะล้มเหลวโดยสมบูรณ์ ซึ่งระยะนี้เองคือการติดเชื้อในระยะ AIDS
หลังจากที่ระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะล้มเหลว HIV จะสามารถแพร่เชื้อโดยปราศจากการควบคุม ปริมาณเชื้อจึงถีบตัวกลับมาสูงอีกครั้ง และเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันล้มเหลว เชื้อโรคอื่น ๆ ที่ปกติไม่สามารถทำอันตรายต่อร่างกายคนปกติได้ ก็จะทำให้ผู้ป่วยในระยะ AIDS ติดเชื้ออย่างรุนแรง เรียกว่า โรคฉวยโอกาส (Opportunistic Diseases) และนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด
HIV ถือเป็นไวรัสที่มีศักยภาพก่อโรค (Virulence) สูง กล่าวคือ ผู้ที่มีเชื้อสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ทั้งในแนวดิ่ง (Vertical Transmission) และแนวราบ (Horizontal Transmission)
การติดเชื้อในแนวดิ่ง คือ การติดเชื้อจากแม่สู่ลูก (Perinatal Transmission) ซึ่งเกิดขึ้นได้ในหลายขั้นของการมีลูก ไม่ว่าจะเป็นการตั้งท้อง การคลอด หรือการให้นม โดยหากไม่ได้รับการรักษา จะมีโอกาสราว 1 ใน 3 ที่การติดเชื้อจะแพร่จากแม่สู่ลูก
การติดเชื้อในแนวราบ คือ การติดเชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์ (Human-to-human Transmission) ซึ่งเกิดได้จากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ HIV โดยไม่ใช้การป้องกันที่เหมาะสม การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือได้รับเลือดหรือของเหลว
อย่างไรก็ตาม เราโชคดีที่ HIV เป็นหนึ่งในโรคที่มีการวิจัยและการพัฒนาวิธีในการรักษาที่มากที่สุด ในการแพทย์ปัจจุบัน ถึงแม้เราจะยังไม่มีวิธีในการรักษาโรค HIV ให้หายขาด แต่เรามียารักษาที่สามารถควบคุมการติดเชื้อ HIV จนทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติเสมือนไม่ติดเชื้อได้ นอกจากนี้ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์หลายประการทำให้การป้องกัน HIV นั้นสามารถทำได้ในหลายขั้นตอน ตั้งแต่การใช้ถุงยางอนามัย การใช้ยา PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) สำหรับรับประทานเตรียมก่อนมีความเสี่ยง และ PEP (Post-Exposure Prophylaxis) สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับเชื้อมาแล้ว
การรักษาการติดเชื้อ HIV ทำได้โดยการใช้ยาต้านเรโทรไวรัส หรือที่เรียกว่า ART (Antiretroviral Therapy) ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้ยาหลายตัวผสมกัน หรือที่เรียกว่า Combined ART ซึ่งประกอบไปด้วยยา เช่น
กลุ่มยายับยั้งการเข้าสู่เซลล์ (Entry Inhibitors) ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสสามารถเข้าไปในเซลล์เป้าหมายได้ จึงไม่สามารถแพร่เชื้อได้ และถูกทำลายโดยเซลล์ภูมิคุ้มกันในที่สุด
กลุ่มยาต้านไวรัสที่ยับยั้งกระบวนการแปลงสารพันธุกรรมจากอาร์เอ็นเอไปเป็นดีเอ็นเอ ประเภท NRTI/NtRTI ( (Nucleoside Reverse-Transcriptase Inhibitors/Nucleotide Reverse-Transcriptase Inhibitors) ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันการรถอดรหัสพันธุกรรมย้อนกลับ (Reverse Transcription) ซึ่งเป็นกลไกที่ HIVใช้ในการแปลงสารพันธุกรรมของตนจากอาร์เอ็นเอเป็นดีเอ็นเอ เพื่อแทรกเข้าไปในสารพันธุกรรมของเซลล์เจ้าบ้าน
กลุ่มยาต้านไวรัสที่ยับยั้งกระบวนการแปลงสารพันธุกรรมจากอาร์เอ็นเอไปเป็นดีเอ็นเอ ประเภท NNRTI (Non-nucleoside Reverse-Transcriptase Inhibitors) ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับ NRTI/NtRTI ในกลไกที่แตกต่างกันเล็กน้อย
กลุ่มยายับยั้งเอนไซม์อินทีเกรส (Integrase Inhibitors) ซึ่งทำหน้าที่ขัดขวางการทำงานของเอนไซม์อินทีเกรส ซึ่งทำหน้าที่แทรกสารพันธุกรรมเข้าไปในเซลล์เจ้าบ้าน
กลุ่มยายับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส (Protease Inhibitors) ซึ่งขัดขวางการตัดแต่งโปรตีน ทำให้โปรตีนที่ถูกผลิตขึ้นมาสำหรับการสร้างไวรัสนั้นเสียหายและไม่สามารถสร้างไวรัสใหม่ได้
เหตุผลที่ต้องใช้ยาหลายตัวร่วมกันเนื่องจาก HIV มีวงจรการแพร่พันธุ์เพียง 1-2 วัน และตัวไวรัสเองไม่มีเอนไซม์ตรงสิ่งที่เรียกว่าเอนไซม์ตรวจทานความถูกต้อง (Proofreading Enzymes) ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบรหัสพันธุกรรมดีเอ็นเอที่แปลงมาจากอาร์เอ็นเอ ในขั้นตอนของการถอดรหัสย้อนกลับ ด้วยปัจจัยทั้งสองนี้ HIV จึงสามารถกลายพันธุ์ได้ค่อนข้างเร็ว การใช้ยาเพียงตัวใดตัวหนึ่ง ท้ายที่สุดแล้วจะมี HIV ที่กลายพันธุ์จนสามารถหลบหลีกการทำงานของยาต้านเชื้อได้ จึงต้องใช้ยาหลายตัวเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดเชื้อกลายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาต้านเชื้อได้
นอกจากนี้ ผู้ป่วย HIV จะต้องกินยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอเท่าที่จะเป็นไปได้ หากหยุดยา เชื้อ HIV จะมีโอกาสพัฒนาความสามารถในการดื้อยาและทำให้ยา ART บางตัวสูญเสียประสิทธิภาพ ในปัจจุบันยาแบบ Combined ART จากหลายเม็ดรวมกันถูกผสมรวมกันเป็นยาเม็ดเดียว
การใช้ยา ART อย่างสม่ำเสมอมักจะทำให้ปริมาณ HIV ในผู้ป่วย HIV ลดลงจนไม่สามารถตรวจจับได้ด้วยการตรวจเลือด (Undetectable) ถึงแม้จะไม่สามารถตรวจจับได้ แต่ร่างกายยังมีเชื้อไวรัสอยู่ และหากหยุดยา เชื้อไวรัสก็จะกลับมามากอีก ผู้ป่วย HIV จึงต้องกินยา ART ไปตลอดชีวิต
ที่สำคัญไปกว่านี้ การที่ผู้ป่วยอยู่ในสถานะ Undetectable นั้น ผู้ป่วยจะไม่สามารถแพร่เชื้อได้ (Untransmittable) หรือที่เรียกว่าหลักการ U=U (Undetectable = Untransmissible) ซึ่งจากหลักฐานการวิจัย พบว่าผู้ป่วยที่แม้จะติดเชื้อ HIV แต่กินยาจนไม่พบเชื้อ ก็จะไม่สามารถแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ และสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม รวมถึงมีอายุขัยเฉลี่ยไม่ต่างจากคนปกติ
เรียบเรียงโดย
โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์
Department of Biomedical Sciences
College of Biomedicine
City University of Hong Kong
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech