หนึ่งเดือนกว่า ๆ แล้ว ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประกาศจะใช้มาตรการภาษีนำเข้ากับหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ที่คล้ายกับการจุดไฟลามไปทั่วเวทีการค้าโลก
หลายประเทศไม่รอช้า รีบขยับตัวเจรจา และหาทางออกเพื่อลดแรงกระแทกจากสงครามภาษีของสหรัฐฯ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เราจึงเริ่มเห็น “ผลลัพธ์” บางอย่างเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ลองไปดูกันว่าแต่ละประเทศมีท่าทีและความคืบหน้าอย่างไรในเวทีเจรจากับสหรัฐฯ บ้าง
จีน : ถอยกันคนละก้าว

การเจรจาระหว่างสองยักษ์ใหญ่ จีนและสหรัฐฯ จบลงด้วยแถลงการณ์ร่วมจากกรุงเจนีวาเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 68 เป็นครั้งแรกที่ทั้งสองฝ่ายยอมถอย “กำแพงภาษี” ซึ่งเคยพุ่งสูงถึง 145% จากฝั่งอเมริกา และ 125% จากฝั่งจีน
ภายใต้ข้อตกลงชั่วคราวนี้ สหรัฐฯ จะลดภาษีจีนเหลือ 30% ขณะที่จีนจะลดลงเหลือเพียง 10% โดยจะมีผล 90 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. เป็นต้นไป
นอกจากนี้ จีนยังยอม ปลดล็อกมาตรการตอบโต้บางอย่าง โดยเลิกจำกัดการส่งออกแร่หายาก ยกเลิกการขึ้นบัญชีบริษัทอเมริกันหลายแห่งไว้ใน "บัญชีหน่วยงานที่ไม่น่าเชื่อถือ" (Unreliable Entity List) และหยุดการสอบสวนด้านการผูกขาดต่อบริษัทดูปองต์ (DuPont) บริษัทเคมีภัณฑ์รายใหญ่ของสหรัฐฯ
สก็อตต์ เบสเซนต์ (Scott Bessent) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เปรียบเทียบเหตุการณ์นี้ว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นจากการตั้งกำแพงภาษีในระดับสูงมากนั้น เทียบได้กับการคว่ำบาตรทางการค้า ซึ่งไม่มีฝ่ายใดต้องการให้เกิดขึ้น เราต้องการค้าขาย ไม่ใช่การปิดกั้น”
ซาอุดีอาระเบีย : ดีลครั้งประวัติศาสตร์

การเยือนซาอุดีอาระเบียของประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 68 ทำให้ได้ข้อตกลงมูลค่ากว่า 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งข้อตกลงนี้ครอบคลุมไปยังหลายภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศ ทั้งด้านพลังงาน เทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และความมั่นคง
- บริษัทด้านข้อมูลของซาอุดีอาระเบีย DataVolt เตรียมลงทุนในศูนย์ข้อมูลในอเมริกาถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกา เช่น Google, Oracle, Salesforce, AMD และ Uber ขนเม็ดเงิน 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาลงทุนร่วมกันในทั้งสองประเทศ
- บริษัทเอกชนในสหรัฐฯ จะได้สิทธิในการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์ของซาอุฯ เช่น สนามบินนานาชาติใหม่ และเมืองใหม่อีกหลายโครงการ มูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ซาอุดีอาระเบียเซ็นข้อตกลงการซื้ออาวุธที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ มูลค่า เกือบ 142,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- NASA จะจับมือกับหน่วยงานอวกาศของซาอุฯ เพื่อทำภารกิจร่วมกันในอนาคต
สหราชอาณาจักร : ชัยชนะแรกของทรัมป์

สหราชอาณาจักร หนึ่งในพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯ กลายเป็นประเทศแรกที่ปิดดีลกับรัฐบาลทรัมป์ โดยข้อตกลงที่ประกาศเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 68 ได้ ข้อตกลงดังกล่าว สหรัฐฯ ยังคงอัตราภาษีนำเข้าไว้ที่ 10% โดยรวม แต่ได้ผ่อนปรนภาษีในรายการสำคัญ เช่น
- สหรัฐฯ ลดภาษีนำเข้ารถยนต์จาก 27.5% เหลือ 10% (เฉพาะ 100,000 คันแรก)
- ยกเลิกแผนขึ้นภาษีเหล็ก-อะลูมิเนียมที่เคยตั้งเป้าไว้ที่ 25%
- สหราชอาณาจักรเปิดโควตานำเข้าเนื้อวัว ปลอดภาษีจากสหรัฐฯที่ 13,000 ตันต่อปี จากเดิมที่มีการจำกัดไว้ที่ 1,000 ตัน และยกเลิกภาษีนำเข้าเอทานอลกว่า 1.4 พันล้านลิตร
- สหรัฐฯ ยังคงอัตราภาษีนำเข้าไว้ที่ 10% สำหรับสินค้าส่วนใหญ่จากสหราชอาณาจักร โดยมีการผ่อนปรนภาษีในบางรายการ เช่น ชิ้นส่วนอากาศยานและผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งจะได้รับการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ อย่างมีสิทธิพิเศษ
ดังแคน เอดเวิดส์ (Duncan Edwards) CEO สมาคมธุรกิจสหราชอาณาจักร-สหรัฐฯ พูดถึงการตกลงในครั้งนี้ว่า “ข้อตกลงนี้ดีกว่าเมื่อวาน แต่ไม่ได้ดีกว่าเมื่อ 5 อาทิตย์ก่อน” ด้านเคมี บาเดนอค (Kemi Badenoch) หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม วิจารณ์ถึงข้อตกลงนี้ว่า ภาษีที่ได้สหราชอาณาจักรได้ลดให้สหรัฐฯ นั้นสวนทางกับสหรัฐฯ ที่ยังขึ้นภาษีกับประเทศตนอยู่
เวียดนาม : ชาติแรก ๆ ที่เข้าไปเจรจา

เวียดนามประเทศแรก ๆ ที่วิ่งเข้าไปเจรจากับสหรัฐฯ ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 68 เหงียน ฮง เดียน (Nguyễn Hồng Diên) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของเวียดนาม ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ว่า “ไม่สมเหตุสมผล”แต่ในขณะเดียวกัน เวียดนามก็พยายามทำให้การเจรจากับทรัมป์ราบรื่นขึ้น
Reuters ได้รายงานประเด็นหลักของการเจรจาอยู่ที่:
- การลดดุลการค้าของเวียดนามที่เกินดุลกับสหรัฐฯ
- การต่อต้านการทุจริตทางการค้า เช่น การสวมสิทธิ์เป็นสินค้าเวียดนามจากจีน
- การลดอุปสรรคทางภาษีและการเปิดตลาดให้กับธุรกิจสหรัฐฯ
เมื่อ 23 เม.ย. 68 นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ (Pham Minh Chinh) ของเวียดนาม ยังสั่งเข้มเรื่อง ถิ่นกำเนิดสินค้าและการละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อให้สหรัฐฯ เห็นถึงความจริงจัง และหวังว่าจะเลี่ยงการโดนขึ้นภาษีได้ ซึ่งอาจสร้างความไม่พอใจให้กับจีน ซึ่งเป็นประเทศต้นทางสำคัญของสินค้านำเข้าจากเวียดนาม
นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังเรียกร้องให้บริษัทในประเทศเร่งนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ และจัดเตรียมเอกสารหลักฐานแสดงว่าเป็นสินค้าผลิตในประเทศจริง รวมถึงแนะนำให้หาตลาดส่งออกอื่นไว้รองรับ หากเกิดแรงสั่นสะเทือนจากมาตรการของอเมริกา
บราซิล : ยังไม่เลือกข้างจีนหรืออเมริกา
บราซิลได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อมาตรการทางภาษีของทรัมป์โดยประธานาธิบดีบราซิล ลูอิส อีนาซียู ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inácio Lula da Silva) ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการสร้างความสัมพันธ์กับจีนที่ “ไม่อาจทำลายได้” เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 68 ต่อหน้าผู้นำภาคธุรกิจจีนและบราซิลหลายร้อยคนในกรุงปักกิ่งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ยังได้วิจารณ์นโยบายภาษีของทรัมป์อย่างรุนแรง โดยระบุว่า “ไม่อาจยอมรับมาตรการที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พยายามจะบังคับใช้กับทั้งโลกในชั่วข้ามคืนได้”
ผู้นำบราซิลยังกล่าวชื่นชมรัฐบาลจีน หลังที่ได้รับการลงทุนจากจีนมูลค่า 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ “จีนมักถูกมองว่าเป็นศัตรูของการค้าโลก ทั้งที่ในความเป็นจริง จีนแสดงออกถึงการเป็นประเทศที่ต้องการทำธุรกิจกับชาติที่ถูกหลงลืมจากประเทศอื่น ๆ ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา” ประธานาธิบดีลูลากล่าว
อย่างไรก็ดี เฟร์นันโด ฮัดดัด (Fernando Haddad) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของบราซิล กล่าวถึงแนวทางของประธานาธิบดีลูลา ว่าจะไม่เลือกข้างระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเชื่อว่าบราซิลควรที่จะเข้าได้กับทุกฝ่าย ฮัดดัดยังย้ำอีกว่า จีนได้เป็นคู่ค้าอันดับต้น ๆ ของประเทศ ในขณะเดียวกันสหรัฐฯ ยังเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีแนวหน้าของโลก บราซิลไม่สามารถเมินเฉยกับทั้งคู่ได้
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 68 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังบราซิลได้เข้าไปเจรจากับเบสเซนต์ ซึ่งได้ออกมาพูดถึงผลการพูดคุยว่า “ผมเชื่อว่าทัศนคติของเบสเซนต์นั้นมีผลมาก และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเจราจา”

ไทย : อเมริกาแย้มมีทิศทางที่ดี

เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวถึงข้อเสนอที่ไทยในทิศทางที่ดี “ตอนนี้ผมให้ความสำคัญกับการเจรจาในเอเชีย เราได้พูดคุยอย่างสร้างสรรค์กับญี่ปุ่นมาโดยตลอด เกาหลีใต้กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้นำ แต่ก่อนจะเข้าสู่การเลือกตั้ง พวกเขาได้ยื่นข้อเสนอที่น่าสนใจเข้ามา อินโดนีเซียซึ่งเป็นพันธมิตรทางการค้ารายใหญ่ เราก็มีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิด ส่วนไต้หวันได้เสนอแนวคิดที่ยอดเยี่ยมหลายประการ รวมถึงประเทศไทยด้วย”
นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร บอกว่า รัฐบาลยื่นข้อเสนอไปแล้ว และมีการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการในหลายระดับ สำหรับแนวทางการเจรจาแก้ปัญหามาตรการภาษีสหรัฐฯ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงไปเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 68 โดยมี 5 แนวทาง คือ
สำหรับแนวทางการเจรจาแก้ปัญหามาตรการภาษีสหรัฐฯ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงไปเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 68 โดยมี 5 แนวทางคือ
- ต้องเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของสหรัฐฯ และได้เปรียบดุลการค้า
- ผ่อนคลาย มาตรการจัดเก็บภาษี เพื่อส่งเสริมการนำเข้า
- ลดขั้นตอนที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ
- เพิ่มมาตรการคุมเข้มสินค้าที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน
- หาโอกาสลงทุนในสหรัฐฯ โดยเฉพาะเรื่องก๊าซธรรมชาติ
ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง ประเมินว่า นโยบายของสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อการค้าโลก ดังนี้
- บริษัทข้ามชาติจำนวนมากอาจชะลอการลงทุนเพื่อตีความท่าทีของสหรัฐฯ และประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจใหม่
- ความเชื่อมั่นใน Global Supply Chain ลดลงอย่างมีนัยสาคัญ โดยเฉพาะในภาคการผลิต ส่งผลต่อคำสั่งซื้อใหม่ (New Orders) และแผนการขยายกำลังการผลิต
- แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้านำเข้าที่สูงขึ้น บั่นทอนความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศผู้นำเข้า
- ความเสี่ยงของการเกิด “Fragmentation of Trade” หรือการแบ่งขั้วการค้าระหว่างกลุ่มประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยฉุดการเติบโตของการค้าโลก
แม้การใช้มาตรการภาษีของทรัมป์จะถูกเลื่อนออกไป 90 วัน และจะสิ้นสุดในวันที่ 9 ก.ค. 68 แต่เริ่มเห็นผลกระทบกันแล้ว ต่อจากนี้สถานการณ์การเจรจาของแต่ละประเทศจะเป็นอย่างไร ยังต้องติดตามกันต่อไป
ติดตามเนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจากเครือ Thai PBS
- "3 อยู่” เพื่อรับมือสงครามการค้า | Thai PBS News
- เศรษฐกิจโลก “ป่วน” ชนวนสงครามโลก ครั้งใหม่ ? | Back To Basics
- อ่านใจ "ทรัมป์-สี จิ้นผิง" เดิมพัน "สงครามการค้าโลก" | คุยนอกกรอบ
อ้างอิง
- The White House, Fact Sheet: U.S.-UK Reach Historic Trade Deal (May 8, 2025)
- BBC, US and UK agree deal slashing Trump tariffs on cars and metals
- Bloomberg, Vietnam Calls Trump Tariff ‘Unreasonable’ as Trade Talks Start
- The Guardian, Brazil’s president seeks ‘indestructible’ links with China amid Trump trade war
- The White House, Fact Sheet: President Donald J. Trump Secures Historic $600 Billion Investment Commitment in Saudi Arabia (May 13, 2025)
- Reuters, Exclusive: Vietnam cranks up fight on imported counterfeits amid US tariff talks
- Reuters, The US should take more generous view of Latin America, Brazil finance minister says
- Reuters, Brazil and US are negotiating terms of understanding on tariffs, says Brazilian Finance Minister
ติดตามบทความและเรื่องราวทันทุกกระแสที่ Thai PBS NOW: www.thaipbs.or.th/now