นักดาราศาสตร์ตรวจพบ “แสงออโรรา” (Aurora) บนดาวพฤหัสบดีมีความแปรปรวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีความส่องสว่างกว่าแสงออโรราที่เกิดขึ้นบนโลกหลายร้อยเท่า การศึกษาครั้งนี้นำทีมโดย Jonathan Nichols จากมหาวิทยาลัย Leicester และถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร The Journal Nature Communications
ภาพการสังเกตการณ์ดาวพฤหัสบดีช่วงคลื่นอินฟราเรด ที่ช่วงความยาวคลื่น 3.36 ไมครอน จากกล้องอินฟราเรดใกล้ (NIRCam) ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ (James Webb Space Telescope : JWST) ถูกบันทึกไว้เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2023 ซึ่งนักดาราศาสตร์ได้ใช้ข้อมูลนี้ในการศึกษาปรากฏการณ์แสงออโรราที่เกิดขึ้นบนดาวพฤหัสบดี
แสงออโรราเกิดจากอนุภาคที่มีประจุและพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ เดินทางสู่ชั้นบรรยากาศผ่านขั้วสนามแม่เหล็กของดาวเคราะห์ เมื่ออนุภาคเหล่านี้ชนกับอะตอมหรือโมเลกุลของแก๊สในชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้เกิดแสงสว่างวาบและเรืองแสงในเฉดสีต่าง ๆ เช่น สีแดง สีเขียว และสีม่วง
จากการศึกษาแสงออโรราบนดาวพฤหัสบดี โดยใช้ข้อมูลของกล้อง JWST พบว่า แสงออโรราที่เกิดขึ้นกระจายตัวเป็นวงกว้าง และมีพลังงานสูงกว่าที่เกิดขึ้นบนโลกหลายร้อยเท่า รวมถึงพบการปลดปล่อย “ไตรไฮโดรเจน แคทไออน (trihydrogen cation)” หรือ H3+ เป็นโมเลกุลของแก๊สไฮโดรเจนที่แตกตัวเป็นประจุบวก ซึ่งเกิดจากผลกระทบของอิเล็กตรอนพลังงานสูง โดยพบว่า H3+ นั้นมีความแปรปรวนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าอย่างมาก และสามารถสังเกตการณ์ได้ในช่วงคลื่นอินฟราเรด นักดาราศาสตร์จึงใช้โอกาสนี้สำหรับการศึกษาอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปในชั้นบรรยายกาศของดาวพฤหัสบดี โดยเฉพาะชั้นสนามแม่เหล็ก (magnetosphere)
โดยเบื้องต้นทีมนักดาราศาสตร์ได้เปรียบข้อมูลของกล้อง JWST กับภาพถ่ายในช่วงอัลตราไวโอเลตจากกล้องฮับเบิลพบว่า ส่วนที่สว่างที่สุดในภาพจากกล้อง JWST กลับไม่ปรากฏในภาพของกล้องฯ ฮับเบิล เลยแม้แต่น้อย ทำให้ทีมนักดาราศาสตร์วางแผนที่จะศึกษาความแตกต่างจากข้อมูลของกล้องโทรทรรศน์อวกาศทั้งสองอย่างละเอียด รวมถึงข้อมูลจากยานจูโน (Juno spacecraft) เพื่อไขปริศนาเกี่ยวกับสาเหตุของการแผ่รังสีที่สว่างจ้านี้ และศึกษาสภาพแวดล้อมในชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีต่อไป
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : NASA, กฤษดา รุจิรานุกูล เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech