คนอายุ 60 ปีขึ้นไป “ความดันโลหิตสูง” เสี่ยงเป็น “โรคสมองเสื่อม” เพิ่มขึ้นถึง 42%


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

14 ก.ย. 66

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
คนอายุ 60 ปีขึ้นไป “ความดันโลหิตสูง” เสี่ยงเป็น “โรคสมองเสื่อม” เพิ่มขึ้นถึง 42%

“ความดันโลหิตสูง” ภัยเงียบสำหรับผู้สูงอายุ เมื่อมีงานวิจัยรายงานว่า คนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษา มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 42% ที่จะเป็น “โรคสมองเสื่อม” เมื่อเทียบกับผู้ที่กินยารักษาความดันโลหิต นอกจากนี้ผลการวิจัยยังทำให้ทราบว่า การรักษาความดันโลหิตสูงไปตลอดชีวิตสามารถช่วยการป้องกัน “ภาวะสมองเสื่อม” ได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับวัยกลางคน เป็นที่รู้กันมาหลายปีแล้วว่า พบความเชื่อมโยงระหว่างความดันโลหิตสูงกับภาวะสมองเสื่อม แต่ในผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) ผลการศึกษายังไม่สอดคล้อง ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยนิว เซาธ์เวลส์ (University of New South Wales), มหาวิทยาลัยลาโทรบ (La Trobe University), สถาบันจอร์จเพื่อสุขภาพสากล (the George Institute for Global Health) และมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (the Australian National University) จึงได้ร่วมมือกันทำการวิจัย เพื่อยืนยันว่า “ความดันโลหิต” ในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีความเกี่ยวข้องกับภาวะสมองเสื่อมหรือไม่

โดยมีผู้สูงอายุที่ไม่มี “ภาวะสมองเสื่อม” จาก 16 ประเทศ เข้าร่วมทั้งหมด 34,519 คน มีอายุเฉลี่ย 72.5 ปี และเป็นเพศหญิง 58.4% ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมจะถูกจัดกลุ่มออกเป็น 3 ประเภทตามการวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูง และการใช้ยาลดความดันโลหิต ได้แก่ การควบคุมสุขภาพที่ดี ความดันโลหิตสูงที่ได้รับการรักษา และความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษา เพื่อวิเคราะห์หา “ภาวะสมองเสื่อม” จากทุกสาเหตุ โดยศึกษาควบคู่ไปกับตัวแปรร่วม เช่น อายุ เพศ ระดับการศึกษา เชื้อชาติ ค่าดัชนีมวลกาย สถานะโรคเบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง และสถานะการสูบบุหรี่

จากวิเคราะห์ข้อมูลการศึกษา นักวิจัยพบว่าผู้เข้าร่วมที่มีความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษามีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นถึง 42% เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมความดันที่มีสุขภาพดี และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบผู้ที่รักษาความดันโลหิตสูงกับกลุ่มควบคุมที่มีสุขภาพดี โดยผู้ที่รักษาความดันโลหิตสูงไม่มีความเสี่ยงเป็น “โรคสมองเสื่อม” เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ถึงแม้ว่าการวิจัยนี้จะมีข้อจำกัด เช่น การเกิดความดันโลหิตสูงในเวลาและสถานที่ที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจนำไปสู่ความแตกต่างในการวินิจฉัย แต่ถึงอย่างนั้นคณะผู้วิจัยการมองว่าค้นพบนี้มีความสำคัญและควรนำมาประกอบการตัดสินใจในการรักษา “โรคสมองเสื่อม”

--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : newatlas

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ความดันโลหิตสูงโรคสมองเสื่อมภาวะสมองเสื่อมThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Scienceความดันสูงความดันสูงคุมได้
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (jiraphob.thawisoonsong@gmail.com)